โครงการหลวง เป็นโครงการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ดำเนินการก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2512 จนปัจจุบันโครงการหลวงนี้ช่วยให้ชาวเขามีชีวิตที่ดีขึ้น และมีหลายๆ โครงการหลวงได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรดึงดูดให้นักท่องเที่ยวไปสัมผัส ดังเช่นวันนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปเที่ยวกับเส้นทางของโครงการหลวงกัน

1.สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จ.เชียงใหม่

สถานีเกษตรหลวงอ่างขางเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง โดยเฉพาะงานวิจัยไม้ผลเขตหนาวและงานวิจัยป่าไม้ และงานเกษตรที่สูง จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ให้ช่วยเขา ช่วยตัวเอง” มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่พักอาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ ทางภาคเหนือเลิกปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้ และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย จากเดิมที่เป็นดอยหัวโล้นแปรสภาพเป็นขุนเขาแห่งความอุดมสมบูรณ์ด้วยการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ไม้กว่า 12 ชนิด ผักเมืองหนาวกว่า 60 ชนิด และดอกไม้เมืองหนาวกว่า 20 ชนิด ปลูกหมุนเวียนตลอดทั้งปี

ซึ่งภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีจุดท่องเที่ยวมากมายไม่ว่าจะเป็น ลานต้นซากุระญี่ปุ่นจะบานช่วงเดือน ธันวาคม-มกราคมของทุกปี สวนหอม เป็นสวนที่รวบรวมพันธุ์ไม้ที่มีกลิ่นหอมทั้งในและต่างประเทศ เช่น ต้นหอมหมื่นลี้ มะลิเนปาลและลาเวนเดอร์ รวมไปถึงแปลงบ๊วยและแปลงไม้ผลตามฤดูกาล ภายในสถานีฯ อ่างขางมีแปลงไม้ผลเมืองหนาวหลายอย่างให้ได้ชมตลอดทั้งปี

2.สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์เป็นสถานีวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงอีกแห่งหนึ่ง ดำเนินงานวิจัยด้านไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผัก และไม้ผล รวมทั้งถ่ายทอดผลงานวิจัยไปสู่การส่งเสริมให้เป็นรายได้ของครอบครัวเกษตรกรทั้งชาวกะเหรี่ยง และ ม้งในหมู่บ้านรอบๆ สถานีฯ พร้อมกับการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน พัฒนาด้านสังคมและการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร

ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสถานีฯ ให้มีความสวยงามเพิ่มขึ้น และเพื่อให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมได้ศึกษาเรียนรู้พรรณไม้ต่างถิ่นหลากหลายชนิด ที่ทางสถานีได้ศึกษาวิจัยและทดลองปลูกขึ้นมา โดยได้จัดแบ่งเป็นโซนต่าง ๆ ได้แก่

-สวน 80 พรรษา ซึ่งจัดในปี พ.ศ.2550 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมพรรษา ครบ 80 พรรษา และเป็นสถานที่จัดแสดงเกี่ยวกับพรรณไม้ดอกเมืองหนาวนานาชนิด

-สวนหลวงสิริภูมิ เป็นสวนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์เฟิร์น ภายในมีน้ำตกขนาดเล็กซึ่งเป็นน้ำตกชั้นล่างของน้ำตกสิริภูมิ มีลำธารไหลไปตามบริเวณสวนตลอดปี เป็นแหล่งเก็บรวมรวมเฟิร์นทั้งของไทยและต่างประเทศ

-โรงเรือนจัดแสดงพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ จัดแสดงดอกไม้ ไม้ประดับชนิดต่างๆ ที่หมุนเวียนไปตามฤดูกาล อาทิเช่น กุหลาบหิน รองเท้านารี ซิมบิเดี้ยม เป็นต้น

-สวนกุหลาบพันปี เป็นสวนที่เกิดจากการศึกษาและขยายพันธุ์กุหลาบพันปีพืชในสกุล Rhododendron จากแหล่งต่างๆ ที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ตามพื้นที่สูง ทั้งในและต่างประเทศเช่น พม่า มาเลเซีย ทิเบต

- โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงพืชกินสัตว์ รวบรวมพืชกินสัตว์หรือพืชกินแมลง เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง, พิงกุย ชนิดต่าง ๆ ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศบนพื้นที่สูง

- โรงเรือนผักไฮโดรโพนิกส์ (Hydroponics) รวบรวมผักเมืองหนาวประเภทสลัด ปลูกโดยวิธีไร้ดิน เน้นผักสลัด 5 ชนิด ของโครงการหลวง อาทิ ผักกาดหวาน กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค บัตเตอร์เฮด ฟิลเล่ย์ไอส์เบริ์ก

- หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง เป็นหน่วยย่อยของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ได้ดำเนินงานวิจัยพัฒนาและพัฒนาพันธุ์พืชเมืองหนาว

3.โครงการชั่งหัวมัน จ.เพชรบุรี

โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ เป็นโครงการพระราชดำริล่าสุดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ปลูกแปลงทดลองมันเทศ และพืชท้องถิ่นของเพชรบุรี ในที่ดินส่วนพระองค์ประมาณ 250 ไร่เศษ อีกทั้งยังทรงให้ปรับปรุงระบบระบายน้ำที่อ่างเก็บน้ำหนองเสือ เพื่อใช้ในโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ

โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริจึงเป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรยั่งยืน รวมถึงเรื่องราวพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่านที่มีต่อชาวไทยทุกคน

4.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย จ.เชียงใหม่

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย เป็นโครงการที่ก่อตั้งมาเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งการพัฒนาอาชีพ สังคม และสภาพความเป็นอยู่ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในพื้นที่ ซึ่งแต่เดิมนั้นทำไร่แบบหมุนเวียนไม่มีเกษตรถาวร สภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างยากจน และขาดปัจจัยพื้นฐานในด้านต่างๆ

สำหรับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมแปลงสาธิตภายในศูนย์ฯ เช่น พืชสมุนไพร กาแฟพันธุ์อาราบิก้า อะโวคาโดพันธุ์แฮส (Hass) สวนพลับของเกษตรกร ซึ่งเก็บผลผลิตได้ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม การทำนาขั้นบันไดของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง รวมไปถึงชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง เครื่องดนตรีเต๊ะนา การตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง พิธีกรรมต่างๆ

5.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก จ.เชียงใหม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 300,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์ในการก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตกให้เป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ดและกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ให้แก่ราษฎรนอกเหนือจากการปลูกเมี่ยง ทำให้ชาวบ้านก้าวสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ

ที่นี่เป็นแหล่งผลิตกาแฟอาราบิก้าคุณภาพดีของโครงการหลวง ล้อมรอบด้วยธรรมชาติป่าไม้ และลำน้ำจากน้ำตก มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการหลวงแห่งแรก และชุมชนคนเมืองมีชื่อเสียงในด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน “บ้านแม่กำปอง” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากว่าบริการที่พักแบบ Home Stay ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศไทย

6.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ จ.เชียงใหม่

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ ก่อตั้งขึ้นตามแนวนโยบายส่งเสริมอาชีพการเกษตรแผนใหม่ เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่นและการลดใช้สารเคมีในกะหล่ำปลี เนื่องจากแต่เดิมพื้นที่บ้านแม่โถมีชาวเขาเผ่าม้งและกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ ยึดอาชีพปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย ขาดความรู้และความเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อม ต้องต่อสู้กับความลำบากยากจนเรื่อยมา

สำหรับการท่องเที่ยวที่นี่สามารถเดินป่าศึกษาธรรมชาติ พืชพรรณและน้ำตก ชมแปลงสาธิตผักศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ชาวเขา ประเพณีของชาวกะเหรี่ยง ประเพณีมัดมือ การละเล่น และการแต่งกายด้วยชุดชมเผ่าที่สวยงาม บ้านแม่โถ ชาวบ้านมีการทอผ้าปกาเกญอที่มีลวดลายสวยงาม

7.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก จ.เชียงใหม่

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2526 เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของชาวไทยภูเขาด้านการเกษตร ซึ่งแต่เดิมชาวเขาเหล่านี้ทำไร่เลื่อนลอย มีการบุกรุกทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนหาของป่าเพื่อยังชีพ ทำให้ที่นี่เป็นศูนย์ฯพัฒนาขนาดกลางมีสภาพอากาศเย็นในช่วงฤดูหนาว และเย็นสบายในช่วงฤดูร้อน มีความร่มรื่นทางธรรมชาติ

เนื่องจากที่นี่มีสภาพอากาศที่เย็นสบาย สามารถมาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ชมวิถีชีวิตชาวปะกาเกอญอที่หมู่บ้านแม่สะป๊อกใต้ แม่สะป๊อกเหนือ บ้านขุนป๋วย ชมงานหัตถกรรมผ้าทอกะเหรี่ยงสีสันสวยงาม และมีการนำมาแปรรูปผ้าทอเป็นย่าม กระเป๋า พวงกุญแจ เดินเท้า 200 เมตรจากศูนย์ไปสัมผัสน้ำตกแม่สะป๊อก พร้อมเดินชมแปลงผลผลิตตามฤดูกาล เช่น เสาวรสหวาน ซูกินี่ ผักกาดหวานและโอ๊คลีฟเขียว

8.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2523 โดยใช้พื้นที่บ้านดงเป็นที่ทำการ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยทอดพระเนตรเห็นพื้นที่แล้ว ประกอบกับเป็นที่ตั้งของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งเป็นศูนย์กลางพัฒนาการศึกษาแก่เยาวชนในท้องถิ่น ซึ่งมีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่าลั๊วะอาศัยอยู่

ที่นี่จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร อาทิ ชมแปลงกาแฟอาราบิก้า ชมวิวความสวยงามของนาข้าวแบบขั้นบันได ชมการทอผ้าขนแกะของกลุ่มแม่บ้านห้วยห้อม

9.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม จ.ลำพูน

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม เมื่อปี 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรที่บ้านพระบาทห้วยต้ม ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่ของชาวไทยภูเขายากจนและขาดแคลนที่ทำกิน พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ รับหมู่บ้านพระบาทห้วยต้มอยู่ในความดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง มีพื้นที่รับผิดชอบ 24,631 ไร่ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง พื้นที่แห่งนี้นอกจากเป็นแปลงสาธิตในศูนย์ฯแล้ว ยังมีเรื่องราววัฒนธรรมประเพณีของชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงกับวิถีชีวิตที่น่าสนใจมากมาย

ภายในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ แปลงสาธิตพืชผักที่แปลกใหม่, แปลงสาธิตการปลูกไม้ผลเมืองร้อน ได้แก่ มะม่วงพันธุ์จากต่างประเทศ มะเฟือง มะปรางและภายในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม มีบ้านพักและเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย

10.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ

การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ เริ่มต้นในรูปของงานอาสาพัฒนาชาวเขา ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แต่เนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวก ทำให้ในปี พ.ศ.2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ และทรงมีพระราชดำรัสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลช่วยเหลือชาวบ้านดอยสะโง๊ะให้มากขึ้นและก่อตั้ง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ ณ บ้านดอยสะโง๊ มีพื้นที่รับผิดชอบ 7 หมู่บ้าน ประกอบด้วยชาวเขาเผ่าอาข่า ไทลื้อ และคนพื้นเมือง

หลังจากนั้นที่นี่จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมและชิมผลไม้ตามฤดูกาล เช่น องุ่น ส้มโอ ลองกอง มังคุด เงาะ ฯลฯ พร้อมทั้งเรียนรู้ระบบการเกษตรแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวง พร้อมชมจุดชมวิวบนดอยสะโง๊ะ สามารถมองเห็นวิวสามเหลี่ยมทองคำและแม่น้ำโขง

เรียกได้ว่าแต่ละโครงการหลวงมีสิ่งน่าสนใจภายในโครงการมากมาย นอกจากจะได้เที่ยวแล้วยังได้ความรู้กลับบ้านอีกด้วย ที่สำคัญยังมีอีกหลายโครงการที่รอให้นักท่องเที่ยวอย่างเราไปสัมผัสค่ะ

ขอบคุณภาพประกอบจาก : angkhangstation,สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์,thairoyalprojecttour,ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก,ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก,ท่องเที่ยวโครงการหลวง,edtguide ขอบคุณข้อมูลจาก ตามรอยพ่อหลวงกับเส้นทางท่องเที่ยวโครงการหลวง ต้องไปสัมผัสสักครั้ง