CCP ส่องแนวโน้มอุตสาหกรรมก่อสร้าง 59 เห็นแววฟื้น รับอานิสงส์รัฐขับเคลื่อนโปรเจ็กต์ใหญ่ หนุนความมั่นใจภาคเอกชน ลงทุนเพิ่ม ตั้งเป้ารายได้แตะ 2.6 พันล้านบาท พร้อมทุ่มงบลงทุน 150 ล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รองรับออเดอร์ใหม่

นายอาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัทผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) (CCP) เปิดเผยว่า ทิศทางภาพรวมอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างปี 2559 จะค่อยๆฟื้นตัวกลับมาดีกว่าปี 2558 ที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากภาครัฐมีแผนกระตุ้นและขับเคลื่อนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่มีความล่าช้าเป็นอย่างมากในช่วงก่อนหน้านี้ การดำเนินนโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้รับเหมาก่อสร้างภาคเอกชนมีโอกาสในการรับงานมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เริ่มกลับมาลงทุนในโครงการใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ทั้งสองปัจจัยจะทำให้ภาคธุรกิจคอนกรีต วัสดุก่อสร้าง ได้รับผลดีด้วยเช่นกัน

“CCP มองว่าปี 59 บรรยากาศต่างๆจะค่อยๆกลับมาดีขึ้น และน่าจะเห็นการเดินหน้าลงทุนโครงการใหญ่ของภาครัฐเยอะขึ้น จากนโยบายที่ออกมาหลายอย่างและ การเดินหน้าโปรเจคที่รัฐบาลได้วางแผนไว้แล้ว”นายอาทิตย์ กล่าว

ทั้งนี้บริษัทมีความพร้อมในการผลิตสินค้าคอนกรีตทุกรูปแบบ และมีกำลังการผลิตที่เพียงพอเพื่อรองรับความต้องการคอนกรีตรูปแบบต่างๆในช่วงที่ความต้องการของตลาดมีมากขึ้น ซึ่งในปี 2559 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ที่ประมาณ 2.6 พันล้านบาท โดยการเติบโตจะเป็นไปตามการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชน

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2559 บริษัทยังคงเดินหน้ามองหาตลาดใหม่ๆเพิ่ม จาก B to B มาเป็น B to C ให้มากขึ้น เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าและกระจายความเสี่ยง ควบคู่ไปกับการเน้นขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูป เพื่อผลักดันให้เกิดการรับรู้รายได้อย่างสม่ำเสมอ

ขณะที่งบลงทุนในปี 2559 บริษัทวางงบไว้สำหรับลงทุน อยู่ที่ 150 ล้านบาท เพื่อลงทุนในการปรับปรุงเครื่องจักรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ออกสินค้าใหม่ โดยหลักๆจะเน้นให้เครื่องจักรสามารถผลิตแทนกันได้ สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น เพื่อรองรับออเดอร์และความต้องการใช้งานที่หลากหลายในอนาคต

สำหรับรายได้รวมในปี 58 บริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.4 พันล้านบาท โดยไตรมาส 4/58 ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/57 ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี และน่าจะส่งผลดีถึงไตรมาส 1/59 ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมี Backlog ประมาณ 2400 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลา 1.5 ปี ในการทยอยรับรู้รายได้ ซึ่งเฉพาะในปีนี้จะรับรู้รายได้ 60% ของ Backlog ทั้งหมด โดยบริษัทจะทยอยหางานเข้ามาเพิ่มอีกในอนาคต เพื่อรักษาระดับมูลค่างานในมือ (Backlog) ไว้ไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท