ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน ฟื้นตัวต่อเนื่องในเดือนพ.ย. 2558
  • ความเชื่อมั่นของครัวเรือนฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) เดือนพ.ย. 2558 ขยับขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 มาที่ระดับ 45.0 ขณะที่ ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ของครัวเรือนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ขยับขึ้นมาที่ระดับ 47.0 ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 เดือน
  • หลายสัญญาณจากผลสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนในเดือนพ.ย. 2558 อาทิ มุมมองที่คลายความกังวลต่อทิศทางราคาสินค้าและภาระรายจ่าย อาจเป็นนัยว่า บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชนน่าจะสามารถประคองภาพการขยายตัวไว้ได้ตลอดช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ และน่าจะต่อเนื่องไปถึงช่วงต้นปีหน้า ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการผลักดันแผนการตลาด/แคมเปญกระตุ้นยอดขายของภาคธุรกิจในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตลอดจนความคาดหวังต่ออานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
  • แม้ภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนในปี 2558 น่าจะสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงร้อยละ 2.1 ตามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนสามารถปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่องในปี 2559 คือ การทำให้กำลังซื้อและรายได้ของครัวเรือนในทุกระดับฟื้นตัวขึ้นอย่างมั่นคง เช่นเดียวกับการแก้โจทย์เศรษฐกิจในภาพใหญ่ที่จะต้องกระตุ้นให้สัญญาณบวกกระจายตัวออกไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน

ถึงแม้สภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจไทย ณ ขณะนี้ จะยังคงรายล้อมไปด้วยปัจจัยบวกและปัจจัยลบปะปนกันในช่วงนับถอยหลังสู่สิ้นปี 2558 อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะรายจ่ายในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นและการใช้จ่ายในหมวดบริการ ยังคงมีสัญญาณการขยายตัว ซึ่งก็เป็นภาพที่สอดคล้องกับมุมมองของภาคครัวเรือนที่ลดความกังวลต่อภาวะการครองชีพลงอย่างต่อเนื่องในผลสำรวจล่าสุดเดือนพ.ย. 2558

  • ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาที่ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ 45.0 ในเดือนพ.ย. 2558 จากระดับ 44.3 ในเดือนต.ค. 2558 ท่ามกลางความคาดหวังของภาคครัวเรือนต่อผลในเชิงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยประกาศออกมาจากอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การปรับตัวลงของราคาพลังงานในประเทศ (ทั้งในส่วนน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าไฟฟ้า) ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ก็มีส่วนช่วยลดแรงกดดันต่อต้นทุนของผู้ประกอบการและราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งผลในส่วนหนึ่งก็สะท้อนผ่านมาที่มุมมองของครัวเรือนที่มีภาพในเชิงลบลดลงต่อสถานการณ์ราคาสินค้า และภาระค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ที่ไม่รวมหนี้สิน

  • ครัวเรือนส่วนใหญ่ในผลสำรวจฯ เดือน พ.ย. 2558 ยังคงมีความคาดหวังต่อภาวะการครองชีพที่ดีขึ้นในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ 47.0 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน จากระดับ 46.7 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่ดีสำหรับการฟื้นตัวของการบริโภคในช่วงปลายปีนี้-ต้นปีหน้า สอดรับกับช่วงเวลาการปล่อยแคมเปญเพิ่มสีสันและกระตุ้นยอดขายของภาคเอกชนในช่วงเทศกาล

เป็นที่คาดหวังว่า เม็ดเงินของภาครัฐทั้งจากงบประมาณและมาตรการกระตุ้นหลากหลายรูปแบบน่าจะเริ่มทยอยเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงหลายเดือนนับจากนี้ ขณะที่ ความคาดหวังด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากค่าตอบแทนในการทำงานที่อาจจะได้รับในช่วงสิ้นปี (และในช่วงต้นปีหน้า) ยังมีส่วนช่วยทำให้ดัชนีมุมมองต่อสถานการณ์รายได้ของภาคครัวเรือนในผลสำรวจฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น (ดัชนีมุมมองด้านรายได้คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ขยับขึ้นมาที่ 49.7 จาก 49.2 ในเดือนก่อนหน้า) และช่วยลดทอนความรู้สึกในเชิงลบต่อภาระหนี้สินและภาระค่าใช้จ่ายที่อาจจะเพิ่มขึ้นตามช่วงเทศกาลของครัวเรือนบางส่วนลง อย่างไรก็ดี สถานการณ์นี้อาจเป็นผลเพียงชั่วคราว ซึ่งยังคงต้องจับสัญญาณความต่อเนื่องต่อไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

โดยสรุป ความคาดหวังต่อผลในเชิงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ภาคประชาชนของรัฐบาล ยังคงช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะการครองชีพของครัวเรือน โดยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนพ.ย. 2558 ขยับขึ้นต่อเนื่องมาที่ระดับ 45.0 (สูงสุดในรอบ 7 เดือน) ขณะที่ ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวสูงขึ้นแตะ 47.0 (สูงสุดในรอบ 10 เดือน)

ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจจากผลสำรวจ ก็คือ ครัวเรือนหลายๆ ส่วนยังคงมีความกังวลต่อภาระค่าใช้จ่ายรายการพิเศษที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่สัญญาณที่ดีขึ้นจากมุมมองด้านรายได้ตามช่วงเวลาของการจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานของบางหน่วยงาน ก็เข้ามาช่วยบรรเทาความกังวลในส่วนนี้ลง ขณะที่ สัญญาณการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ก็มีส่วนช่วยหนุนให้ภาคครัวเรือนมีความคาดหวังต่อสถานการณ์การครองชีพที่ดีขึ้นในช่วงปีข้างหน้า

ท่ามกลางความผันผวนของตัวแปรทางเศรษฐกิจ ซึ่งย่อมจะมีผลต่อเนื่องไปยังสถานการณ์รายได้ของครัวเรือนหลายๆ ระดับ ทำให้โจทย์สำคัญที่รออยู่ในช่วงปี 2559 จึงอยู่ที่การประคองความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของภาคครัวเรือนให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเร่งผลักดันให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเกิดผลเชิงรูปธรรมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินในเบื้องต้นว่า แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในปี 2559 มีโอกาสที่จะเติบโตได้ใกล้เคียงหรือดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสถานการณ์การบริโภคในปี 2558 ซึ่งคาดว่า อาจสามารถขยายตัวที่ร้อยละ 2.1

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index หรือ KR-ECI) จัดทำขึ้นโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพื่อให้เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความรู้สึกของครัวเรือนที่มีต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบัน และในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยค่าดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 หมายถึง ครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่า ภาวะการครองชีพ “ดีขึ้น” ในทางตรงกันข้าม ค่าดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 50 หมายถึงภาวะการครองชีพ “แย่ลง”

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย