เดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้ว่างงานเกือบ 350,000 คน สูงสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่ปี 2559 นายจ้างจะไม่รับคนเพิ่มและปรับเงินเดือนไม่เกินร้อยละ 5 นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หรือ อีคอนไทย ระบุว่า แนวโน้มการจ้างงาน และค่าจ้างแรงงานปี 2559 นายจ้างกว่าร้อยละ 70 มีนโยบายไม่รับพนักงานเพิ่ม และไม่ปรับเพิ่มขึ้นอัตราค่าจ้าง โดยจะคงอัตราปัจจุบัน ไปจนถึงกลางปี 2559 เนื่องจาก อัตราการใช้กำลังผลิตปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 58 ทำให้ยังมีกำลังการผลิตเหลือที่จะขยับขึ้นได้อีก และลูกจ้าง ยังมีจำนวนเกินกว่าจำนวนงาน จากภาวะเศรษฐกิจปี 2558 ชะลอตัว และไม่มีการขยายกิจการ แต่นายจ้างยังพยายามรักษาพนักงานไว้ เพราะแรงงานส่วนใหญ่ จะเป็นแรงงานมีฝีมือ และรองรับหากเศรษฐกิจฟื้นตัว ส่วนอัตราเงินเดือนปี 2559 ส่วนใหญ่ นายจ้างระบุว่า ไม่มีการพิจารณาปรับขึ้น เพื่อรอให้มีการหารืออัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ที่กระทรวงแรงงาน จะมีการทบทวนกลางปี 2559 โดยมีปรับเงินเดือนเป็นส่วนน้อย ไม่เกินร้อยละ 5 จากเงินเดือนเดิม โดยทางสภาฯจะสรุปผลอย่างเป็นทางการ วันที่ 16 ธันวาคมนี้ ขณะที่ตัวเลขอัตราการว่างงาน จากกระทรวงแรงงาน เดือนตุลาคม 2558 อยู่ที่ 349,000 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงสุดในรอบ 5 ปี เทียบกับอดีตในช่วงที่ผ่านมาหลายปี เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7 และเป็นอัตราแรงงานที่ว่างงานใหม่ 180,000 คน ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดี ที่แรงงานใหม่ว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งยอดขอขึ้นทะเบียนว่างงาน กับสำนักงานประกันสังคม เพื่อขอเงินชดเชยเพิ่มถึง 126,000 คน สูงสุดในรอบ 6 ปี ด้านศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) เปิดเผย การสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ปี 2558/2559 ของ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จากสถานประกอบการ 110 แห่ง 11 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยอัตราการจ่ายค่าจ้างขั้นต้นจำนวนตามระดับการศึกษา วุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 10,120 บาท , วุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จ่ายเฉลี่ย 11,383 บาท , วุฒิปริญญาตรี จ่ายเฉลี่ย 15,491 บาท , วุฒิปริญญาโท จ่ายเฉลี่ย 21,047 บาท และวุฒิปริญญาเอก จ่ายเฉลี่ย 35,985 บาท

โดยวุฒิ ปวช. -สาขาคหกรรมศาสตร์ มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดที่ 11,000 บาท , สาขาออกแบบ มีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำสุดที่ 9,600 บาท

วุฒิ ปวส. -สาขาคหกรรมศาสตร์ มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดที่ 12,000 บาท , สาขาบัญชี มีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำสุดที่ 11,126 บาท

วุฒิปริญญาตรี- สาขาเภสัชศาสตร์ มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดที่ 26,825 บาท , สาขาคหกรรมศาสตร์ มีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำสุดที่ 14,398 บาท

วุฒิปริญญาโท -สาขาเภสัชศาสตร์ มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดที่ 30,000 บาท , สาขาศิลปกรรมศาสตร์ มีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำสุดที่ 17,078 บาท

วุฒิปริญญาเอก -สาขาเภสัชศาสตร์ มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดที่ 57,850 บาท , สาขานิเทศศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ สาขาศิลปกรรมศาสตร์ มีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำสุดที่ 26,250 บาท ขอขอบคุณข้อมูล จาก : voicetv.co.th รูปภาพหน้าปกจาก : http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=3403