รายได้ประเทศ มาจากไหนบ้าง แล้วถูกใช้ไปทางใดบ้าง อาจเป็นข้อสงสัยที่ใครหลายคนสนใจอยากจะรู้ นอกจากภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บจากประชาชนแล้ว ยังมีแหล่งรายได้ของภาครัฐเอง รวมทั้งเงินกู้เพิ่มเติ่ม เพื่อเป็นงบประมาณนำไปบริหารประเทศในช่องทางต่างๆ TerraBKK พบข้อมูลน่าสนใจจาก งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้รายละเอียดแผนการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน และแผนการบริหารการเงินประเทศไว้อย่างครอบคลุม รวมทั้งประมาณการรายรับรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในปี 2559 ที่จะถึงในไม่ช้า

แหล่งที่มารายได้ประเทศ

สำหรับแหล่งรายได้ ที่มาของ รายได้ประเทศ ของรัฐบาลในการบริหารประเทศนั้น จากข้อมูลอ้างอิงข้างต้น พบว่า ประมาณการรายรับประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ได้ประมาณการไว้ 2,720,000ล้านบาท เพิ่มขึ้น จำนวน145,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.6 จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 (2,575,000 ล้านบาท)
โดยรายรับจะมาจาก 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ รายได้ (85.7%) และเงินกู้ (14.3%) แหล่งที่มารายรับสำคัญมาจากการจัดเก็บภาษี รายละเอียดมีดังนี้ 1. รายได้ ร้อยละ 85.7 ( 2,330,000 ล้านบาท ) ประกอบด้วย
  • ภาษีอากร (สุทธิ) ร้อยละ 79.1 (2,150,167.9 ล้านบาท)
    • ภาษีทางตรง เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา,ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เป็นต้น
    • ภาษีทางอ้อม ได้แก่ ภาษีการขายทั่วไป เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม , ภาษีธุรกิจเฉพาะ, อากรแสตมป์ เป็นต้น และ ภาษีการขายเฉพาะ เช่น ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน , ภาษีสรรพสามิตจากการนำเข้า , ภาษีโภคภัณฑ์อื่น ,แร่ และก๊าซธรรมชาติอื่นๆ เป็นต้น รวมทั้ง ภาษีสินค้านำเข้า – ส่งออก ภาษีลักษณะอนุญาต
  • การขายสิ่งของและบริการ ร้อยละ 0.8 ( 22,215.3 ล้านบาท) เช่น ค่าเช่าทรัพย์สินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์, ค่าขายหนังสือราชการ เป็นต้น
  • รายได้จากรัฐพาณิชย์ ร้อยละ 4.4 ( 120,000 ล้านบาท) เช่น ผลกำไรจากองค์การของรัฐ ,รายได้จากการไฟฟ้า เป็นต้น
  • รายได้อื่น ร้อยละ 1.4 (37,616.8 ล้านบาท ) เช่น ค่าแสตมป์ ,ค่าปรับ เป็นต้น
2. เงินกู้ ร้อยละ 14.3 (390,000 ล้านบาท )

แหล่งค่าใช้จ่ายประเทศ

สำหรับการบริหารรายจ่ายหรือแหล่งใช้เงินจ่ายออกไปนั้น จากข้อมูลอ้างอิงข้างต้น จะพบว่า ประมาณการรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 2,720,000 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์เป้าหมายสำคัญด้านต่างๆของประเทศไทย โดยสัดส่วนหลัก 3 อันดับแรก ได้แก่ การเศรษฐกิจ ( ร้อยละ 21.2 ) ,การบริหารทั่วไปของรัฐ (ร้อยละ 20.9) และ การศึกษา ( ร้อยละ 20.3 ) รายละเอียดมีดังนี้
1.การบริหารทั่วไป ประกอบด้วย 3 ส่วนดังนี้
  • การบริหารทั่วไปของรัฐ ร้อยละ 20.9 ( 567,261.2 ล้านบาท ) เพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านองค์กรนิติบัญญัติ, การบริหารการเงิน, การคลัง,องค์กรรัฐต่างๆ การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ รวมทั้งการชำระหนี้เงินกู้และเงินโอน
  • การป้องกันประเทศ ร้อยละ 7.6 ( 206,648.5 ล้านบาท ) เพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกันประเทศ , การรักษาดินแดนโดยฝ่ายพลเรือน รวมทั้งอาสารักษาดินแดน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต่างๆ
  • การรักษาความสงบภายใน ร้อยละ 6.5 (176,339.2 ล้านบาท) เพื่อใช้ประโยชน์ในงานตุลาการ, อัยการ, ตำรวจ, การป้องกัน อัคคีภัย และงานราชทัณฑ์ รวมทั้งการวิจัยและการพัฒนาด้านการรักษาความสงบภายในประเทศ
2. การเศรษฐกิจ ร้อยละ 21.2(577,302.4 ล้านบาท ) เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดการที่ดิน, การจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกร ,การพยุงราคาผลผลิต, การส่งเสริมการเกษตร, การปศุสัตว์ ,การควบคุมศัตรูพืช การป่าไม้ การประมง เป็นต้น รวมทั้ง การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม,ภาคการท่องเที่ยว ,การบริหารและก่อสร้างระบบขนส่ง, การสื่อสาร และการวิจัยพัฒนาด้านการเศรษฐกิจ 3.การบริการชุมชนและสังคม ประกอบด้วย 6 ส่วนดังนี้
  • การศึกษา ร้อยละ 20.3 ( 552,911.6 ล้านบาท ) เพื่อใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการบริหารการศึกษา การจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา รวมทั้งการศึกษานอกโรงเรียน ,การจัดทุนการศึกษา และการวิจัยเพื่อพัฒนาการศึกษา เงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านการศึกษา
  • การสาธารณสุข ร้อยละ 10.2 (276,252.7 ล้านบาท) เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดบริการสาธารณสุข ทั้งการวางแผน การบริหารงานโรงพยาบาล สถานพยาบาลต่างๆ การวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านการสาธารณสุข และการให้ความรู้และบริการด้านสุขภาพอนามัย
  • การสังคมสงเคราะห์ ร้อยละ 9.7 ( 264,654.4 ล้านบาท) เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดการประกันสังคมให้แก่บุคคลผู้สูญเสียรายได้เนื่องจากเจ็บป่วย การให้ประโยชน์ทดแทนแก่บุคคลทั่วไป ลูกจ้างของรัฐกรณีเกษียณอายุ ,สังคมสงเคราะห์ด้านที่อยู่อาศัยและกรณีอื่นๆ เช่น กรณีประสบภัยพิบัติ เป็นต้น
  • การเคหะและชุมชน ร้อยละ 2.5 (69,311.4 ล้านบาท ) เพื่อใช้ประโยชน์งานจัดหาที่พักอาศัยและการกำหนดมาตรฐาน, การวางผังเมือง ,การพัฒนาชุมชน ตลอดจนการจัดหาน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และการวิจัยและการพัฒนาด้านการเคหะและชุมชน
  • การศาสนา วัฒนธรรม และนันทนาการ ร้อยละ 0.8 ( 22,064.8 ล้านบาท ) เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดการกีฬา, การดำเนินงานด้านวัฒนธรรม การศาสนา , ค่าใช้จ่ายในการกระจายเสียงและจัดระบบโทรทัศน์, การบริหารด้านสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมทั้ง การจัดสร้างสวนสาธารณะหรือสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และสวนพฤกษศาสตร์ การวิจัยและการพัฒนาด้านการศาสนา ฒนธรรม และนันทนาการ
  • การสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 0.3 ( 7,253.8 ล้านบาท ) เพื่อใช้ประโยชน์จัดการสิ่งปฏิกูลและท่อระบายน้ำ, ระบบการบำบัดน้ำเสีย, การป้องกันพื้นดินและผิวดิน,การป้องกันสิ่งแวดล้อมทางอากาศและภูมิอากาศ และการวิจัยและการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม --เทอร์ร่า บีเคเค
ที่มา : งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี