“จอห์น เนฟฟ์” ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “John Neff” นักลงทุนหุ้นคุณค่า (Value Investor : VI) ผู้โด่งดัง จากการประสบความสำเร็จจากการเป็นผู้จัดการกองทุนบริหารกองทุน Windsor ให้สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างงดงามตลอด 3 ทศวรรษ ตั้งแต่ยุค 60 – ยุค 90 สำหรับรูปแบบการลงทุนที่เป็นเอกลักษณ์ของ จอห์น เนฟฟ์ ในตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกา โดยมีสไตล์การลงทุนแบบคร่าวๆ ในรูปแบบของการคัดเลือกเฉพาะบริษัทที่ P/E ต่ำ มีการเติบโตของธุรกิจ (Growth) และสวนกระแสกับคนส่วนใหญ่ (Contrarian) ได้อ่านเพียงเท่านี้ก็เริ่มจะสนใจบุคคลคนนี้ขึ้นมาแล้วว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ในครั้งนี้ TerraBKK จะพาเราไปเรียนรู้จากบุคคลต้นแบบอย่าง “จอห์น เนฟฟ์” แบบละเอียดกันอีกรอบว่าเค้าจะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ติดตามชมกันได้ดังต่อไปนี้

ภาพจาก : Valuewalk.com

จอห์น เนฟฟ์ (John Neff) เกิดมาในครอบครัวที่หย่าร้างตั้งแต่อายุยังน้อย ก่อนที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดฯเขาต้องฟันฝ่าชีวิตด้วยการเป็นพนักงานขายเครื่องดนตรี แล้วลาออกไปเป็น พนักงานขายรถยนต์ในบริษัทของพ่อเขา จอห์น เนฟฟ์ สนใจวิชาการลงทุนตั้งแต่สมัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยซึ่งอาจารย์ที่สอน จอห์น เนฟฟ์ ในวิชานี้เป็นลูกศิษย์ของ เบนจามิน เกรแฮม ตำนานแม่แบบของวงการ Value Investor ที่นักลงทุนผู้โด่งดังหลายคนนำไปเป็นต้นแบบในการลงทุนไม่เว้นแต่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีวงการหุ้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก หลังจากเรียนจบเข้าได้เข้าไปทำงานในบริษัทที่เกี่ยวกับการลงทุนหลายแห่ง จนกระทั้งได้เข้ามาทำงานในกองทุน Windsor ซึ่งในขณะนั้นผลประกอบการของกองทุนดูตกต่ำไปมาก จอห์น เนฟฟ์ ได้เข้ามาทำงานในบริษัทนี้เขาพบว่ากองทุนนี้มีข้อบกพร่องในหลายๆด้านและได้พยายามปรับแนวทางการลงทุนกองทุนใหม่ โดย จอห์น เนฟฟ์ จะเลือกหุ้นที่มีผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ยและลงทุนในหุ้นที่มีส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจในระยาว โดยจะเน้นพิเศษที่หุ้นที่มีอนาคตมากกว่าจะลงทุนในหุ้นที่เคยทำผลงานได้ดีในอดีต จากแนวทางการบริหารดังกล่าวส่งผลให้ การดำเนินงานของกองทุน Windsor กลับมาเติบโตอีกครั้งหนึ่งและได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลอดด้วย

หลักการที่ จอห์น เนฟฟ์ (John Neff) ที่ยึดถือในการลงทุนมีด้วยกัน 4 ข้อหลักโดยสรุป ได้แก่ (รวบรวมจากหนังสือ “ลงทุนแบบจอห์น เนฟฟ์” เขียนโดย John Neff และ S.L.Mint)

1.ผลตอบแทนโดยรวมต้องสอดคล้องกับ P/E เป็นการรวมเอาปัจจัยสำคัญทุกๆอย่างรวมไว้ในกรอบแนวคิดเดียว คือ ผลตอบแทนรวมจะสูงได้ต้องทำให้ 1.อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิต้องโตอย่างสม่ำเสมอ (Growth) 2.อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลต้องจ่ายสม่ำเสมอ (Dividend Yield) และ 3.P/E ต้องต่ำ ถ้าเอาทุกปัจจัยมารวมกันจะทำให้ได้หุ้นดีราคาถูก สามารถเขียนเป็นสมการให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นดังนี้

ผลตอบแทนรวม = (อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ + อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล) / อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E Ratio)

หลายคนที่ยังไม่เคยรู้จัก P/E คงสงสัยเล็กน้อยว่าคืออะไร P/E Ratio ก็คือ ราคาหารด้วยอัตรากำไรต่อหุ้น เป็นเกณฑ์ที่ใช้วัดว่าหุ้นที่เราจะซื้อราคาถูกหรือแพงแต่ไม่ได้บอกว่าคุณมันดีหรือไม่ดี ถ้า P/E สูงแสดงว่าแพง เพราะราคาขึ้นไปสูงกว่าอัตรากำไรต่อหุ้นที่ทำได้ เพราะฉะนั้นในช่วงตลาดหุ้นขาขึ้นเราจะเห็น P/E สูงๆเยอะแยะมากมายในตลาด แต่ จอห์น เนฟฟ์ จะคนหา P/E ที่ต่ำๆ หรือหุ้นที่คนส่วนใหญ่มองข้ามนั่นเอง

ในส่วนของอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ ต้องเติบโตสม่ำเสมอโดยดูจากผลการดำเนินงานในอดีตย้อนหลัง 5 ปี ว่าแนวโน้มการเติบโตเป็นเช่นไร เพื่อใช้เป็นตัวสังเกตถึงความสามารถในอนาคต ถึงแม้ว่าผลประกอบการในอดีตจะไม่ได้สะท้อนถึงอนาคตมากก็ตาม แต่ระยะเวลาย้อนหลังถึง 5 ปี น่าจะช่วยพิสูจน์ได้แล้วว่าธุรกิจนี้แข็งแกร่งพอหรือไม่และจะสามารถสร้างผลกำไรได้เติบโตอย่างสม่ำเสมอมากน้อยขนาดไหน โดยกำไรที่โตควรอยู่ในช่วง 6-20% ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม

2.เลือกหุ้น P/E ต่ำ ในธุรกิจวัฐจักรขาลง ใน Porfolio ของ จอห์น เนฟฟ์จะติด “หุ้นวัฐจักร” เอาไว้ส่วนหนึ่งของพอร์ตประมาณ 30% เท่านั้น ทำไม จอห์น เนฟฟ์ ถึงมีหุ้นวัฐจักร? เนื่องจากขาลงจะลงแรง (หลังจากปีที่บริษัทมีกำไรสูงสุด) แต่ขาขึ้นจะขึ้นแรงเช่นกัน (หลังบริษัทกำไรลดลงต่ำสุดๆแล้ว) ดังนั้นจังหวะการเข้าซื้อของ จอห์น เนฟฟ์ จะอยู่ในช่วงปลายๆวัฐจักรขาลงและการที่เราเลือก P/E ต่ำๆจะทำให้หุ้นไม่ตกลงไปมากหรือขาดทุนไม่มากนั่นเอง ถ้าจังหวะซื้อเราเข้าในราคาที่สูงเกินไป

3.ธุรกิจต้องโตอย่างมั่นคงในกลุ่มอุตสาหกรรมขาขึ้น จะต้องเลือกบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมได้อย่างมั่นคง โดยดูจากกลยุทธ์ สภาวะการแข่งขัน คู่แข็ง ความเสี่ยง และสามารถสร้างการกีดกันการเข้าสู่ตลาดได้ดีหรือไม่ จอห์น เนฟฟ์ จะเลือกบริษัทใหญ่ที่อยู่ในอันดับต้นๆของประเทศและธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงเติบโต

4.ผลประกอบการต้องเข้มแข็ง เป็นการดูผลประกอบการพื้นฐานปกติก่อนตัดสินใจลงทุนไม่ว่าจะเป็น

  • ยอดขายต้องเติบโต (Sale Growth) ยอดขายเกิดจากสองปัจจัยคือ ราคา (Price) และปริมาณ (Quantity) โดยจะต้องเติบโตทั้งคู่ ไม่ใชjราคาเพิ่มปริมาณสินค้าที่ขายกลับลดลงหรือไม่ใช่ปริมาณเพิ่มเพราะลดราคา แต่ถ้าเพิ่มทั้งสองมันจะเป็นการบ่งบอกถึงศักยภาพว่าธุรกิจนี้สามารถเติบโตได้
  • กำไรจากการดำเนินงานก่อนจะถูกหักค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) กำไรตัวนี้จะเป็นการแสดงถึงกำไรที่แท้จริงของกิจการโดยไม่นำค่าเสื่อมลบออกไป ดังนั้นยิ่ง EBITDA สูงยิ่งดี ถ้าหากจะใช้ EBIT ก็จะไม่ชัดเท่าที่ควร
  • ผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) จะเป็นอัตราส่วนทางการเงินที่แสดงถึงความสามารถในการใช้เงินของกิจการในการสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น เพราะฉะนั้น ROE ยิ่งสูงจะบอกถึงโอกาสที่กิจการจะสามารถสร้างผลกำไรในอนาคตได้
  • เงินสดต้องใช้ให้ถูกประเภท (Cash) โดยดูจากงบกระแสเงินสดว่าเงินสดในกิจการที่ใช้ไปตรงกับวัตถุประสงค์ของธุรกิจหรือไม่ เพราะอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหรือออกนอกลู่นอกทางไปบ้าง
  • ส่งมอบสินค้าตรงเวลา อาจจะเป็นเรื่องที่หลายคนลืมนักถึง สินค้าที่ส่งมอบตรงเวลาจะสะท้อนออกมาในตัวของความสามารถในการเติบโตของยอดขาย ถ้าสินค้าส่งมอบไม่ตรงเวลาจะทำให้ยอดขายในไตรมาสนั้นๆพลาดเป้าได้ - เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK ข่าวอสังหาฯ TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก