จากแผนการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอีก 2 สาย คือ "สายสีม่วงใต้และสายสีแดงเข้ม" เพื่อเชื่อมฝั่งธนบุรีสู่ศูนย์กลางธุรกิจ สีลม-สาทร โดยใช้สถานีวงเวียนใหญ่เป็นสถานีที่มีจุดเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า (Node)3 เส้นทาง ได้แก่

  • สายสีเขียวเข้มหรือสายสีลม (สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า) เป็นสายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่เชื่อมต่อกับย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD)
  • สายสีม่วงใต้ (เตาปูน– ราษฎร์บูรณะ) แล้วเสร็จ พ.ศ.2562
  • สายสีแดงเข้ม (หัวลำโพง – บางบอน) ที่จะแล้วเสร็จ พ.ศ.2562 แต่ปัจจุบันยังไม่มีการประมูล

ในอนาคตบริเวณวงเวียนใหญ่จะกลายเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า (Node) รองรับการเดินทางย่านชานเมืองเพื่อเชื่อมเข้าสู่ย่านใจกลางเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดการสัญจร (Traffic) เข้าสู่กรุงธนบุรีตากสิน สาทร สีลม เป็นจำนวนมากและเมื่อโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 3 โครงการแล้วเสร็จ ย่านฝั่งธนบุรีและฝั่งสาทรน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมใหม่อีกครั้งหนึ่ง

"ต้องยุบสถานีสะพานตากสิน"...เพราะจริงๆ แล้วสถานีสะพานตากสินถูกวางตัวให้เป็นสถานีชั่วคราวเท่านั้นมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากสถานีสะพานตากสินอยู่ห่างจากสถานีสุรศักดิ์เพียง 700 เมตร เมื่อเทียบกับสถานีอื่นๆที่ห่างถึง 1.2 กิโลเมตร และอีกสาเหตุหนึ่ง คือ สถานีคอขวด สะพานตากสินเป็นสถานีรถไฟฟ้า BTS เพียงสถานีเดียวที่ไม่สามารถใช้ระบบรางคู่เปิดให้รถ 2 ขบวนสวนกันไปมาได้ กลายเป็นคอขวดที่ต้องรอสับหลีกอย่างน้อย 4 นาที รถไฟฟ้าที่วิ่งสวนกันเพื่อจอดรับ-ส่งผู้โดยสารในสถานี หากเกิดเหตุขัดข้องกับระบบไฟฟ้า จะทำให้บางขบวนต้องเสียเวลาถึง10-20 นาทีคนฝั่งธนบุรีจึงต้องเผชิญกับเหตุการณ์เหล่านี้ ทุกๆ วัน และหากสถานีตากสินขัดข้อง ก็จะส่งผลเชื่อมต่อไปยังสถานีปลายทางอื่นๆ แบบโดมิโน นั่นเอง

และเมื่อกรมทางหลวงชนบทไม่เห็นด้วยกับ กทม. ในการก่อสร้างสะพานเพื่อทำการเบี่ยงแนวสะพานออกด้านข้าง ท้ายสุด กทม. หยุดให้บริการแต่ยังไม่ทุบสถานี แต่สร้างทางเลื่อนเชื่อมระหว่างสถานีสะพานตากสิน กับสถานีสุรศักด์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชานแทน ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการตั้งแต่ปี 2542 มาถึงปี 2557 มีปริมาณผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS เพิ่มขึ้นถึงปีละเกือบ 10% ทั้งๆ ที่ยังไม่มีส่วนต่อขยายใหม่ 2 เส้นทาง ซึ่งหากเปิดใช้บริการครบ ปัญหา "คอขวด" คงยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างแน่นอน

ด้วยสาเหตุสำคัญดังกล่าว จึงมีผลสรุปที่แน่ชัดแล้วว่า ทาง กทม.ต้องดำเนินการขยายรางรถไฟฟ้าบริเวณ BTS สถานีสะพานตากสินให้เป็นรางคู่โดยการยุบชานชาลาสถานีสะพานตากสินทิ้ง ปัญหาคอขวดก็จะหมดไปรถไฟฟ้าก็จะเดินรถเป็นระบบทางคู่ได้ตามมาตรฐานสากลทั่วไป

ขณะนี้ กทม. อยู่ในระหว่างเปิดประมูลจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้าง ทางเดินลอยฟ้าอัตโนมัติ (Walkalator) ด้วยงบประมาณ 600 ล้านบาท เชื่อม 2 จุดดังกล่าวขึ้นแทน (แผนระยะเวลาก่อสร้างประมาณ14 เดือน) เพื่อลำเลียงผู้คนจาก "สถานีสะพานตากสิน" ไปสู่ "สถานีสุรศักดิ์"

ภาพบรรยากาศบริเวณชานชาลารถไฟฟ้าสถานีสะพานตากสินในปัจจุบัน (ณ วันที่ 22 ก.ค. 2558)

ทางออกของสถานีสะพานตากสิน อะไรบ้าง?
การยุบสถานีสะพานตากสินแล้วเปลี่ยนชานชาลาสถานีให้เป็นรางคู่ นั้น "Walkalator" ดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด กทม.จึงต้องเตรียมสร้าง ทางเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) ให้แล้วเสร็จก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนที่ใช้บริการเดิมจากสถานีสะพานตากสิน ไปใช้บริการที่สถานีสุรศักดิ์แทนโดยมีรายละเอียดและความน่าสนใจของการก่อสร้าง สะพานทางเดินยกระดับหรือสกายวอล์ก (Skywalk) ดังนี้

รูปแบบการก่อสร้างสะพานทางเดินยกระดับหรือสกายวอล์ก (Skywalk)จะเป็นลักษณะ ทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) ซึ่งเป็นทางเดินเลื่อนคล้ายบันไดเลื่อน แต่เป็นแนวราบกับพื้น ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ตั้งแต่รถไฟฟ้า BTS สถานีสุรศักดิ์ ไปยัง สถานีสะพานตากสิน พร้อมจัดทำทางขึ้น-ลงตลอดระยะทางซึ่งแต่ละจุดห่างไม่เกิน 250 เมตร อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าโดยไม่ต้องเดินซึ่งไม่ต่างอะไรกับการมีรถไฟฟ้า เนื่องจากทางเดินลอยฟ้าและทางเลื่อนอัตโนมัตินี้จะสร้างยาวมาถึงบริเวณสถานีสะพานตากสินที่ยุบไป เพื่อคงความสะดวกรวดเร็วในการเดินไปสู่ชานชาลาได้เทียบเคียงของเดิม

ตัวอย่าง Walkalator ในต่างประเทศ รายล้อมด้วย ร้านค้าชั้นนำมากมาย จนกลายเป็นย่านช้อปปิ้งเลยทีเดียว

ส่วนการก่อสร้างทางรถไฟฟ้านั้น จะดำเนินการควบคู่ไปกับการเดินรถไฟฟ้าด้วย ดังนั้นคนฝั่งธนบุรี ก็คลายความกังวลไปได้เพราะยังคงสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าได้ตามปกติ สำหรับงานก่อสร้างจะสามารถดำเนินงานแค่เพียงวันละ 4 ชั่วโมง (01:00 – 05:00 น.) เพื่อให้รถไฟฟ้า BTS สามารถให้บริการเดินรถตามปกติ ไม่มีการหยุดการเดินทาง

4 ภาพจำลองทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) จากสถานีสุรศักดิ์ ถึง สถานีสะพานตากสิน

การยุบสถานีสะพานตากสินครั้งนี้มีใครได้ประโยชน์บ้าง?

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกครั้งที่มีการขยับตัวของโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงข่ายการคมนาคมรถไฟฟ้า ผู้ที่จะขยับตัวก่อนก็คือ “นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์” โดยเฉพาะกลุ่มผู้พัฒนาอาคารชุดเกาะแนวรถไฟฟ้า และถ้าหากว่าตลอดระยะเส้นทางเดินนั้นมีปริมาณผู้คนหนาแน่นมากเราก็อาจจะเห็นภาพ “การเปิดร้านค้าหรืออาจจะมีอสังหาฯเพื่อการพาณิชย์รูปแบบอื่นๆ”เพื่อรองรับผู้คนที่เข้ามาพื้นที่นี้มากขึ้น

ตารางแสดงจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS รายสถานีต่อวัน

อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงใหม่อีกครั้ง ณ บริเวณหัวมุมถนนตรงนี้ จากการยุบสถานีสะพานจากสินรวมกับสถานีสุรศักดิ์แล้วก่อสร้าง ทางเดินลอยฟ้า (Walkalator) ที่มีทางขึ้นลง 4 จุด ตลอดแนวทางเดินขึ้นแทน ทำให้ผู้โดยสารที่ใช้สถานีสะพานตากสินวันละ 27,600 คน มาใช้สถานีร่วมกัน ณ สถานีสุรศักดิ์ที่มีผู้โดยสารต่อวันประมาณ 20,899 คน ถ้ารวม 2 สถานีจะมีผู้ใช้บริการมากถึง 48,499 คน เป็นอันดับที่ 6 ของปริมาณผู้โดยสารทุกสถานี พอๆ กับสถานีศาลาแดงเลยที่เดียว การเดินทางไปขึ้นรถไฟฟ้าสถานีสุรศักดิ์ของผู้โดยสารจำนวนมากกว่า 48,500 คนจะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนสนใจที่จะมาลงทุนบนทำเลศักยภาพแห่งนี้ เนื่องจาก ทำเลในย่านนี้อยู่ในพื้นเพื่อการพาณิชย์สีแดง พ.5-6 จะสามารถรองรับการลงทุนของผู้ประกอบการภาคเอกชนในอนาคตได้อีกด้วย จากย่านการค้าเก่าบางรักนับได้ว่าเป็นย่านชุมชนดั้งเดิมที่ยังไม่ได้มีการพลิกหน้าดินแบบปรับโฉมเมื่อเทียบกับทำเลอื่นๆ แต่หากดูแปลงที่ดินที่ว่างเปล่าอยู่นี้ก็เป็นแปลงที่อยู่บน ผังเมืองพื้นที่สีแดงและสีน้ำตาลเข้ม ก็มีความเป็นไปได้ว่าหากการก่อสร้างแล้วเสร็จการถ่ายโอนผู้คนจากบริเวณสี่แยกนี้คงคึกคักขึ้น อาจมีสำนักงานขึ้นใหม่ เพราะสามารถเชื่อมต่อทางขึ้นลงรถไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นถึง 4 จุด นั่นเอง

แนวทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) จากสถานีสุรศักดิ์ ถึง สถานีสะพานตากสิน

แนวบันไดทางลง ของทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) จากสถานีสุรศักดิ์ ถึง สถานีสะพานตากสิน (จุดที่ 2)

แนวบันไดทางลง ของทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) จากสถานีสุรศักดิ์ ถึง สถานีสะพานตากสิน (จุดที่ 3)

โครงการทางเดินอัตโนมัติ หรือ Walkalator จะเป็นตัวสร้างโอกาสใหม่ให้กับผู้คนในชุมชนได้ประโยชน์จาก Traffic ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถทำมาค้าขายสร้างรายได้ให้กับผู้คนในย่านได้มากขึ้น และยังคอยสร้างสีสันให้สาทรฝั่งบางรักให้ดูน่าตื่นตาตื่นใจเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ไม่เพียงแค่ชุมชุนได้ประโยชน์เท่านั้น ที่อยู่อาศัยโดยรอบอย่างคอนโดมิเนียมอีก 2-3 โครงการ และอาคารสำนักงานอย่าง Chartered Square ก็สามารถใช้ Walkalator ได้เช่นกัน

อาคารที่ได้ประโยชน์ จากการมี Walkalator ได้แก่

อันดับ 1 "Rhythm The Slow Collection" จาก AP ปากซอยสาทร 21 จากบันไดทางลงที่จ่อหน้าทางเข้าโครงการ ก็รับอานิสงค์ช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกบ้าน ขยายฐานลูกค้าใช้ชีวิตติดรถไฟฟ้าไปแบบเต็มๆ กับ ราคาขายเริ่มต้นเพียง 130,000-140,000 บาทต่อตารางเมตร จากเดิมที่ทำเลที่ตั้งของโครงการนี้ ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มโครงการก้าวเดียวจากรถไฟฟ้า แต่เมื่อมีความชัดเจนแน่นอนว่า "ยุบแน่ และบันไดลงหน้าโครงการ" โครงการนี้ก็เตรียมปรับแผนโฆษณาต้อนรับลูกค้าใหม่ทันที เพิ่มเติม คลิก http://goo.gl/PMCzjR

อันดับ 2 Chartered Square เป็นอาคารสำนักงานให้เช่า อัตราค่าเช่าอยู่ที่ 570 บาทต่อตารางเมตร พร้อมพื้นที่พลาซ่า ซึ่งการมาของ Walkalator จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอาคารนี้ได้

อันดับ 3 "Noble Revo สีลม" จาก Noble เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จคาดการณ์ภายในปี 2559 คงเห็นตลาดรีเซล และอัตราค่าเช่าที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน "The Bangkok สาทร" จาก LH และด้วยกลยุทธ์การปรับขึ้นราคาตลอดระยะเวลาการก่อสร้างจนถึงส่งมอบห้องนั้น คงสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเนื่องได้อีกเช่นกัน "The Diplomat สาทร" จาก KPN สำหรับโครงการนี้ เป็นเจ้าใหม่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นหน้าเก่าในวงการธุรกิจ หากช่วงใกล้ตึกแล้วเสร็จ กลางปี 2560 คงเห็นความคึกคักของตลาดรีเซลอย่างแน่นอน

ท้ายสุด สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการยุบสถานีสะพานตากสินมากที่สุด คงเป็น กลุ่มผู้ประกอบการเดินเรือทั้งเรือด่วน เรือข้ามฝาก ที่คาดการณ์ว่าผู้โดยสารจะลดลง เพราะจากเดิมสามารถรับผู้โดยสารที่ ขึ้น-ลง โดยตรงบริเวณสถานีนี้เข้าสู่ใจกลางเมืองได้ทันที ก็อาจจะมีผู้โดยสารบางส่วนมองว่าไม่สะดวกที่ต้องเดินทาง รวมถึงบรรดาคอนโดมิเนียม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตามแนวถนนเจริญกรุง คงต้องปรับกลยุทธ์ เพื่อรองรับ รวมทั้งบรรดา ร้านค้า ศูนย์การค้าต่างๆ ที่นำเสนอจุดขายใกล้สถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสินก็ต้องปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ใหม่อีกครั้งเช่นกัน

หากมองระยะยาว เมื่อ Walkalator แล้วเสร็จด้วยความเร็วมาตรฐานของการเลื่อนอยู่ที่ 0.5 m/s. (ที่มา : http://www.vosup.com) กับระยะทาง 700 เมตร คงใช้เวลาจากสถานีสะพานตากสินเดิมไปสู่สถานีสุรศักดิ์ได้ภายในระยะเวลาประมาณ 10 นาที (หรือหากบางท่านจะเดินไปด้วยเมื่อยู่บน Walkalator ก็น่าจะใช้เวลา ไม่เกิน 5 นาที ในการเดินทาง) ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการรอรถที่สถานี 10-15 นาทีนั้น ในระยะยาวผู้โดยสารน่าจะมีความพึงพอใจมากกว่า และได้รับความปลอดภัยที่ดีกว่าการใช้งาน "คอขวด" ดังเดิม -เทอร์ร่า บีเคเค TerraBKK Research

Mega Project ศักยภาพทำเลวงเวียนใหญ่-กรุงธนบุรี ภาพของวงเวียนใหญ่-กรุงธนบุรี ในใจหลายๆคนยังคงติดภาพทำเลที่อยู่อาศัยดั้งเดิมซึ่งอาจจะดูไม่ค่อยมีอะไรหวือหวามากนัก แต่ถ้าเรามองภาพในอนาคตไปอีก 2-3 ปีข้างหน้านับจากปี 2558 เราน่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างน่าสนใจไม่ว่าจากการเริ่มต้นลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าที่จะเข้ามาเชื่อมต่อระหว่างกันในทำเลในย่านนี้ถึง 3 สาย และโครงการ Mega Project ของภาคเอกชนที่เข้ามาในย่านนี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผลักดันโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแก้ปัญหาคอขวดบริเวณสะพานตากสินและโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่พยายามผลักดันรถไฟฟ้าสายพิเศษนี้ให้เกิดขึ้น

บทความโดย TerraBKK.com คลังความรู้ ค้นหาบ้านดี บ้านคุ้มค่า ราคาถูก