โดย คุณวสันต์ กิจบำรุง (หมอที่ดิน) อดีตเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน 8

คนทั่วไปมักคิดว่าการทำพินัยกรรมเป็นแค่การกำหนดว่าใครจะได้ทรัพย์อะไรจาก เจ้ามรดกเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วการทำพินัยกรรมให้ประโยชน์มากกว่านั้น และการทำพินัยกรรมก็ไม่ยากเลย สามารถหาตัวอย่างดูได้ทางอินเทอร์เน็ต หรือถ้าจะให้ง่าย ๆ ก็ไปที่อำเภอหรือเขตให้เขาทำให้ เพราะเป็นหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องช่วยทำให้อยู่แล้ว เสียค่าธรรมเนียมเพียงไม่กี่สิบบาท แต่ที่ไม่ทำพินัยกรรมกันเพราะคิดว่ามีทรัพย์สินไม่มาก ซึ่งที่จริงแล้วไม่ต้องมีทรัพย์สินมากเลย แค่มีที่ดินแปลงเล็ก ๆ แปลงเดียวก็สมควรทำพินัยกรรมได้แล้ว เพราะทำให้การรับมรดกสะดวกสบายกว่าการไม่ทำพินัยกรรมมาก และหากมีการตั้งผู้จัดการมรดกไว้ด้วย ก็จะทำให้การขายที่ดินเพื่อชำระหนี้ของเจ้ามรดกหรือจัดการมรดกอื่น ๆ ทำได้สะดวก มาดูกันว่าการรับมรดกที่ดินที่มีการทำพินัยกรรมกับการไม่ทำพินัยกรรมมีความ สะดวกสบายต่างกันอย่างไร

1. ความสะดวกในวิธีการรับมรดก

กรณีเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรม

ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 24 ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับระเบียบ กรมที่ดินว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทา งมรดกพ.ศ. 2548 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2557) ถ้าทายาทผู้ขอรับโอนมรดกต้องการจะรับมรดกส่วนของเจ้ามรดกทั้งหมดไปในครั้ง เดียว(จะเป็นทั้งแปลงหรือเฉพาะส่วนที่เจ้ามรดกมีอยู่ก็ตาม) ผู้ขอจะมายื่นคำขอรับโอนมรดกคนเดียวหรือมาพร้อมกับทายาทคนอื่นเป็นบางคน แล้วให้ใส่ชื่อคนอื่นที่ต้องการรับมรดกแต่ไม่ได้มายื่นคำขอรับมรดกร่วมกันก็ ได้ หรือจะนัดหมายให้ทุกคนที่จะรับมรดกมายื่นคำขอรับมรดกพร้อมกันก็ได้ ซึ่งมากกว่าครึ่งของจำนวนที่มายื่นคำขอรับมรดกที่ดินมักจะมาดำเนินการพร้อม กันทุกคน ส่วนคนที่ไม่รับมรดกก็ต้องให้ทำหนังสือไม่รับมรดกมาเก็บเข้าเรื่องหรือให้มา เซ็นไม่รับมรดกต่อหน้าเจ้าหน้าที่ก็ได้ โดยต้องทำในภายกำหนดประกาศ 30 วัน หากเกินกำหนดนี้กฎกระทรวงดังกล่าวให้ยกเลิกคำขอรับมรดกนั้นเสีย

นอกจากนี้ยังมีวิธีการรับมรดกอีกแบบหนึ่งคือ “การรับมรดกเพียงบางส่วน” ซึ่งการรับมรดกแบบนี้ผู้ขอรับมรดกเพียงคนเดียวมาขอรับมรดกเฉพาะส่วนที่ตนมี สิทธิเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับคนอื่นและไม่ต้องให้คนอื่นยินยอมแต่อย่างใดทั้งสิ้น(หรืออีกนัย หนึ่งคือไม่ได้รับส่วนที่เป็นของเจ้ามรดกทั้งหมดนั่นเอง) ซึ่งก็สามารถดำเนินการได้เช่นกันซึ่งเมื่อรับโอนมรดกแล้วจะมีชื่อเฉพาะคนที่ มายื่นขอรับมรดกนั้นเพิ่มเข้าไป โดยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับเจ้ามรดกนั่นเอง ซึ่งหากทายาทอื่นที่เหลือมารับมรดกส่วนที่อยู่ในชื่อเจ้ามรดกทั้งหมด ก็จะมีทายาทอื่นเข้ามาถือแทนจนครบจะไม่มีชื่อเจ้ามรดกเหลืออยู่อีกต่อไป จะไม่เหมือนการขอรับมรดกที่เป็นสิทธิของเจ้ามรดกทั้งหมดไปในครั้งเดียว แต่การยื่นคำขอรับมรดกวิธีการนี้มีน้อยมาก เพราะการรับมรดกนั้นส่วนมากต้องการรับมรดกที่เป็นของเจ้ามรดกทั้งหมดไปใน ครั้งเดียวมากกว่าที่ต่างคนต่างมาขอรับตามสิทธิของตน

ในส่วนขั้นตอนปฏิบัตินั้นไม่ว่าจะมีการมายื่นคำขอบางคนหรือพร้อมกันทุกคน ก็จะต้องมีการดำเนินการเหมือน ๆ กันคือบอกรายละเอียดต่าง ๆ ต่อเจ้าหน้าที่เพื่อให้จัดทำบัญชีเครือญาติ โดยบอกชื่อจริงคู่สมรส(ทั้งจดและไม่จดทะเบียนสมรสที่มีลูกด้วยกัน)และของ ทายาททุกคน(ซึ่งโดยปกติคือลูกเจ้ามรดกแต่หากไม่มี ก็ต้องบอกทายาทลำดับต่อไปที่เหลืออยู่เช่นพี่น้อง)รวมถึงทายาทที่ตายไปแล้ว และคู่สมรสและลูกของทายาทคนที่ตายด้วย และแม้แต่คนที่สูญหายติดต่อไม่ได้ด้วย ซึ่งจะต้องพยายามบอกให้ครบถ้วน เพราะหากตกหล่นไม่ครบแล้วอาจมีทายาทคนที่ไม่บอกชื่อเขาไว้ด้วย กล่าวหาว่าคนที่มายื่นคำขอรับมรดกนั้นปิดบังทายาทซึ่งอาจมีความผิดอาญาได้ และต้องหาที่อยู่ของคนที่ไม่ได้มายื่นคำขอแต่ให้ลงชื่อรับมรดกร่วมด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ส่งประกาศการขอรับมรดกให้ทราบด้วย เว้นแต่ถ้าผู้ขอรับมรดกจะนำไปส่งให้เองก็ได้ และผู้ขอต้องนำหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มาแสดง ให้เห็นว่าเป็นทายาทจริง เช่น ทะเบียนบ้าน สูติบัตร และกรณีที่มีทายาทตายไปก่อนก็ต้องนำมรณบัตร หรือหนังสือรับรองการตายมาแสดง จะเห็นได้ว่าข้อกำหนดดังกล่าวเข้าใจง่าย ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ในทางปฏิบัตินั้นบางครั้งก่อปัญหาให้กับผู้ขอรับมรดกอย่างมาก ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

(1) ไม่รู้ว่าทายาทมีจำนวนเท่าใดและชื่ออะไรซึ่งจะมีเกิดขึ้นได้ในกรณีเจ้ามรดก เคยมีสามีหรือภรรยาหลายคน และมีลูกกับคนเหล่านั้น และอาจมีลูกบางคนตายไปและมีลูก(หลานเจ้ามรดก)อีกด้วย เหตุที่ไม่รู้เป็นเพราะเจ้ามรดกปิดบังคนอื่น หรือทายาทแยกไปอยู่ที่อื่นคนละจังหวัดกับผู้ยื่นคำขอรับมรดก หรือแม้แต่ไปอยู่ในต่างประเทศ จึงขาดการติดต่อกันเป็นเวลานาน นอกจากนี้บางคนก็หายไปไม่กลับมาบ้านหรือติดต่อกลับมาเลยก็มี ซึ่งการจะสืบให้ครบถ้วนอาจใช้เวลามาก

(2) การไม่สามารถติดต่อกันได้เพราะไม่รู้ที่อยู่ปัจจุบัน จึงไม่สามารถนัดหมายให้มายื่นคำขอรับมรดกหรือติดต่อให้นำหลักฐานการเป็น ทายาทมาแสดง และในกรณีที่จะไม่รับมรดกก็ไม่สามารถแจ้งให้ส่งหลักฐานการไม่ รับมรดก หรือพามาเซ็นยินยอมให้คนอื่นรับมรดกไปเพราะตนเองไม่ต้องการมรดกนั้น

(3) การติดต่อนัดหมายมาดำเนินการพร้อมกันบางครั้งก็ไม่ง่ายเพราะไม่มีเบอร์ โทรศัพท์ติดต่อกัน หรือมีแต่ไม่ยอมรับโทรศัพท์เพราะไม่อยากคุยด้วย หรือบางคนอาจขัดข้องในเรื่องส่วนตัว เช่น ติดธุระ บางคนอาจยังไม่พร้อมเพราะต้องเดินทางไกล ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาหรือเสียค่าธรรมเนียมการโอนมรดกส่วนของตน ทำให้ต้องพยายามติดต่อนัดหมายกันหลายครั้ง อาจสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ได้

(4) กรณีที่เดิมเคยตกลงกับเจ้ามรดกไว้ว่าเมื่อได้ทรัพย์สินเงินทองจากเจ้า มรดก(ส่วนมากคือพ่อแม่นั่นเอง)ไปมากแล้วจะไม่เอามรดกอีก และบอกพี่น้องคนอื่นด้วยกันให้รับรู้แล้ว แต่เมื่อเจ้ามรดกตายไปก็ไม่ยอมทำตามสัญญา ไม่ยินยอมเซ็นให้คนอื่นรับไปตามลำพัง แต่จะขอรับมรดกร่วมด้วยอีก เป็นการเอาเปรียบทายาทอื่น ซึ่งมักทำให้ทายาทอื่นไม่พอใจทำให้การตกลงรับมรดกยุ่งยาก อาจทำไม่สำเร็จ

(5) ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งในระหว่างทายาททั้งก่อนเจ้ามรดกตาย หรือหลังเจ้ามรดกตายแล้วเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะความไม่พอใจกันทั้งในเรื่องส่วนตัว และในเรื่องที่เกี่ยวกับส่วนแบ่งมรดกและเมื่อเกิดการทะเลาะกันแล้วมักจะตกลง อะไรกันไม่ได้ ไม่อยากมองหน้ากันเข้าหน้ากันไม่ได้จะทำอะไรก็ไม่ยอมร่วมมือกันเลยก็มี ปัญหาการแย่งชิงมรดก การไม่พอใจกันเป็นทุนเดิมล้วนทำให้การรับมรดกยุ่งยาก มาก จนทำให้ไม่สำเร็จ จนถึงต้องฟ้องร้องหรือต้องมีการร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกก็มี และถึงแม้จะตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว แต่ก็อาจทะเลาะกันต่อในขั้นตอนมารับมรดกและตอนแบ่งแยกที่ดินออกจากกัน

(6) ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือตามกฎหมายมรดกพ่อแม่ของเจ้ามรดกก็เป็นทายาท ด้วย แต่มีบ่อยครั้ง เจ้ามรดกตายตอนอายุมาก พ่อแม่ของเจ้ามรดกก็มักตายไปนานแล้วเช่นกัน อาจตายไปก่อนตั้ง 50-60 ปีแล้วก็มี จะมีบ่อยที่ไม่ได้เก็บหลักฐานการตายไว้เพราะคิดว่าหมดความจำเป็นแล้ว(แม้แต่ กรณีลูกของเจ้ามรดกที่ตายไปตอนเล็กๆ บางคนก็ตายไปนานมากและไม่ได้เก็บมรณบัตรไว้ก็มี ก็จะเกิดปัญหาเดียวกันได้) แต่ในทางกฎหมายนั้นต้องนำพยานหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อให้แน่ใจว่า ตายจริงไม่อาจรับมรดกอีกต่อไป (แต่ก็มีบ้างที่เจ้าหน้าที่อาจยกเว้นให้หากคิดดูแล้วว่าหากพ่อแม่เจ้ามรดก ยังมีชีวิตอยู่อายุก็เกินร้อยปีไปแล้ว ซึ่งไม่ค่อยมีคนอายุยืนถึงขนาดนั้นแต่ในแง่ความเป็นจริงก็มีอยู่บ้างก็ตาม และคนอายุมาก ๆ จะไม่รับมรดกของลูกแต่จะให้หลานๆ รับไปอยู่แล้ว) ปกติแล้วก็จะต้องไปติดต่อขอคัดสำเนาการตายที่สำนักทะเบียนราษฎร์ แต่เนื่องจากว่ากรณีที่ตายไปนานมาก ทางสำนักทะเบียนราษฎร์อาจไม่เก็บไว้เพราะมีการทำทะเบียนใหม่ในบางช่วงเวลา ก็หามาแสดงไม่ได้ต้องมีการออกหนังสือรับรองการตาย แต่การออกหนังสือรับรองการตายในลักษณะนี้ก็ไม่ง่าย ต้องนำพยานไปให้คำรับรองว่าตายจริง ซึ่งทางปฏิบัติเมื่อคนที่ตายไปนานแล้วจะมีคนรู้ก็ต้องมีอายุมากด้วยและบางคน อาจอยู่ไกล การจะพามาให้การเป็นพยานก็ลำบาก เพราะไม่อยากมาอ้างว่าไม่ใช่ธุระ ต้องอ้อนวอนกันอย่างมากถึงจะมา ต้องออกค่าค่าพาหนะให้และเสียเวลาเดินทางมาทำเรื่องขอหนังสือรับรองการตาย ด้วยกัน ซึ่งปกติแล้วก็นานมากกว่าจะสำเร็จ จึงทำให้เกิดความยากลำบากและเสียเวลามากในการจะรับโอนมรดกที่ดินมาก จนบางครั้งถึงกับท้อไปเลยจนไม่อยากทำเรื่องให้เสร็จ ปล่อยให้เรื่องคาราคาซังเป็นหลาย ๆ ปีก็มี ซึ่งยิ่งทำให้รับมรดกยากเข้าไปอีกเพราะมีทายาทคนตายเพิ่มขึ้น ทำให้ตกลงกันลำบากกว่าเก่าอีก

กรณีเจ้ามรดกทำพินัยกรรม

ถ้าหากว่ามีการทำพินัยกรรม ระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้ มาโดยทางมรดกพ.ศ. 2548 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2557 ข้อ 11 กำหนดว่าไม่ต้องจัดทำบัญชีเครือญาติของเจ้ามรดก ผู้รับมรดกก็เพียงนำพินัยกรรมไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็จะดูว่าพินัยกรรมทำถูกต้องหรือไม่ ถ้าเห็นว่าถูกต้องเป็นทายาทตามพินัยกรรมแล้ว(โดยดูบัตรประชาชนทะเบียนบ้าน ว่ามีชื่อตรงกับคนที่เจ้ามรดกระบุชื่อให้รับมรดก) ไม่ต้องมีการสอบสวนเพื่อทำบัญชีเครือญาติ ไม่ต้องหาที่อยู่ และไม่ต้องตามให้ญาติพี่น้องมาเซ็นชื่อยินยอมให้รับมรดกแต่อย่างใด (เว้นแต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกก็ต้องขอให้มาดำเนินการด้วยซึ่งตามกฎหมายจะตั้ง ผู้จัดการมรดกหรือไม่ก็ได้ และจะตั้งให้คนรับมรดกเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งหมด หรือจะตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกเฉพาะแปลงที่เขารับมรดกนั้นก็ได้ ปกติการจะตั้งหรือไม่ตั้งผู้จัดการมรดกนั้นจะดูจากความจำเป็น เพราะบางครั้งการตั้งผู้จัดการมรดกก็มีประโยชน์มาก) และไม่ต้องนำใบมรณบัตรของพ่อแม่หรือลูกเจ้ามรดกที่ตายไปก่อนแล้วมาแสดงเลย เพราะเหตุว่าถ้าพินัยกรรมไม่ได้กำหนดให้คนเหล่านั้นเป็นผู้มีสิทธิรับมรดก แล้ว ก็ไม่มีเรื่องต้องดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับพวกเขาอีกต่อไป ซึ่งในการดำเนินการขอประกาศรับมรดกนั้นจะสะดวกรวดเร็วกว่ากรณีไม่ทำ พินัยกรรมมาก เพราะมีเรื่องที่เจ้าหน้าที่และผู้ขอรับมรดกต้องมีภาระต้องเตรียมการน้อย กว่ากันมาก

2. ความสะดวกในกรณีต้องขายที่ดินเพื่อชำระหนี้ หรือทำตามสัญญาจะขายที่เจ้ามรดกทำไว้

ถ้าหากว่าเจ้ามรดกมีหนี้สินมากหรือได้ทำสัญญาจะขายที่ดินมรดกแปลงนั้นไว้ แล้ว ก็จำเป็นต้องขายที่ดินเพื่อใช้หนี้หรือโอนขายให้ผู้ซื้อตามสัญญาจะขาย ทายาทก็จะต้องทำเรื่องรับโอนมรดกเป็นชื่อตนก่อน แล้วจึงจะทำการขายต่อไปได้ ซึ่งจะต้องเสียค่าธรรมเนียมโอนมรดกก่อนอีกขั้นตอนหนึ่งจึงจะขายได้ และถ้าหากทายาทเป็นผู้เยาว์เมื่อรับมรดกแล้วก่อนจะขายชำระหนี้หรือโอนขายให้ คนจะซื้อตามสัญญาที่เจ้ามรดกได้ทำไว้ก่อนตาย ก็ต้องไปขออนุญาตขายจากศาลก่อนตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1574 บัญญัติไว้ ทำให้เสียเวลาและบางครั้งหากทำด้วยตัวเองไม่เป็นก็ต้องจ้างทนายทำให้ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปอีก

แต่ถ้าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมและได้ตั้งผู้จัดการมรดกไว้(ซึ่งจะตั้งไว้หรือไม่ ตั้งก็ได้แต่ถึงหากไม่ตั้งไว้ทายาทก็สามารถไปรับมรดกได้เองอยู่แล้ว) ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมก็ไปขอจดทะเบียนเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ก่อน ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็เพียงตรวจดูว่าพินัยกรรมตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดก และก็จะประกาศเรื่องการขอจดทะเบียนเป็นผู้จัดการมรดกให้คนคัดค้านเป็นเวลา 30 วัน โดยไม่ต้องสอบสวนทำบัญชีเครือญาติหรือให้ทายาทอื่น ๆ มาเซ็นยินยอมใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อพ้นกำหนด 30 วันที่ประกาศแล้วก็จดทะเบียนผู้จัดการมรดกได้ ผู้จัดการมรดกก็สามารถขายที่ดินเพื่อใช้หนี้ หรือถ้ามีทายาทหลายคนก็เอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันให้ทายาทต่อไปได้ทันที การขายนี้ทำได้แม้ว่าที่ดินนี้มีทายาทเป็นของผู้เยาว์ก็ไม่ต้องโอนไปยังผู้ เยาว์ก่อน และก็ไม่ต้องขออนุญาตศาลเพื่อขายที่ดินนั้นก่อนแต่อย่างใด เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะจัดการชำระหนี้สินของกองมรดก และจัดการแบ่งปันมรดกให้ทายาทตามกฎหมายได้โดยตรง ซึ่งมีคำพิพากษาฎีกาหลายฉบับตัดสินว่าทำได้ เช่น คำพิพากษาฎีกาต่อไปนี้

คำพิพากษาฎีกาที่6314/2555

นาย ห.กับนาง ต.เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 7 คน รวมถึงนาย ส.ด้วย นาย ห.ถึงแก่ความตาย ศาลตั้ง นางต.เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ห. ต่อมา นางต.ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ขายที่ดินอันเป็นมรดกของนาย ห.ให้แก่ นาย ก. ในขณะที่ นาย ส.ยังเป็นผู้เยาว์ เมื่อนาย ส.บรรลุนิติภาวะแล้ว จึงได้มาฟ้องขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดิน ระหว่าง นางต. และ นาย ก. ให้กลับคืนเป็นทรัพย์มรดกของนาย ห.ผู้ตาย โดยอ้างว่าในขณะที่มีการซื้อขาย นาย ส.ยังเป็นผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ป.พ.พ.มาตรา 1574 เป็นบทบัญญัติจำกัดการใช้อำนาจปกครองของผู้ใช้อำนาจปกครองในการกระทำ นิติกรรมใดๆ อันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ โดยจะกระทำมิได้เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ซึ่งมีความหมายชัดแจ้งว่าใช้บังคับแก่การกระทำนิติกรรมใดๆ อันเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์ของผู้ใช้อำนาจปกครองเท่านั้น

แม้จำเลยที่ 1 เป็นมารดาอยู่ในฐานะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของโจทก์ แต่เมื่อการกระทำนิติกรรมขายที่ดินตามฟ้องอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ จำเลยที่2 นั้น เป็นการขายในฐานะผู้จัดการมรดก มิใช่ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของโจทก์ จึงไม่อยู่ในบังคับที่จำเลยที่ 1 จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลตามบทบัญญัติดังกล่าว”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8207/2544

ที่ดิน ประทานบัตรทำเหมืองแร่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ผู้จัดการมรดกนำมาเป็นทุนจัด ตั้งเป็นบริษัทจำเลยที่ 8 แล้วให้ทายาททุกคนเป็นผู้ถือหุ้นตามส่วนสัดที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับ มรดกการนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 ดังกล่าวเป็นการจัดการตามที่จำเป็นเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอยู่ในขอบ อำนาจและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 และมาตรา 1736 วรรคสอง เนื่องจากไม่สามารถจัดการให้ทายาทเข้าครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดได้

แม้ทายาทบางคนยังเป็นผู้เยาว์อยู่ขณะนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนของบริษัทจำเลย ที่ 8 ผู้จัดการมรดกก็ไม่ต้องขออนุญาตจากศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1574 เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ แต่เป็นเรื่องผู้จัดการมรดกทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกตามอำนาจหน้าที่ ที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 และ 1736วรรคสอง

3. คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำพินัยกรรมเพื่อการรับมรดกที่ดิน

(1) การทำพินัยกรรมที่จะป้องกันการกล่าวหาว่าทำปลอมได้ดีที่สุดนั้นควรไปยื่นคำ ขอให้ทำพินัยกรรมฝ่ายเมืองที่อำเภอหรือเขตให้ช่วยทำพินัยกรรมให้ เพราะว่าการจะทำพินัยกรรมฝ่ายเมืองนั้นมีหลักฐานการทำที่แน่นหนา มีการยื่นคำขอมีการเสียค่าธรรมเนียมเป็นทางการ และประหยัดค่าใช้จ่ายมากเพราะเสียค่าธรรมเนียมไม่กี่สิบบาทดีกว่าไปจ้างให้ คนอื่นทำให้ จะให้ทำสำเนาเพิ่มก็ได้ และปกติจะเก็บไว้ที่อำเภอหนึ่งฉบับ หรือจะให้ทำเพิ่มเพื่อเก็บไว้เองเพื่อกันอำเภอทำสูญหายหรือมีกรณีไฟไหม้อีก ก็ได้

(2) ควรบอกคนอื่นว่าได้ทำพินัยกรรมไว้แล้วเก็บไว้กับใครด้วยมิฉะนั้นแล้วเมื่อ ตายไปอาจไม่มีใครรู้เรื่อง และการให้ผู้รับมรดกเก็บไว้เองก็เป็นการดีเช่นกัน แต่จริง ๆ แล้วเก็บที่ใดก็ได้ที่ปลอดภัย แต่เรื่องสำคัญคือต้องให้คนอื่นรู้ และต้องแน่ใจว่าจะไม่สูญหายหรือถูกทำลายไปโดยง่าย ทางที่ดีควรทำไว้เป็นคู่ฉบับเก็บไว้แยกกัน ให้คนเก็บไว้ต่างหากก็ได้ และสิ่งสำคัญจะต้องแน่ใจว่าคนที่เก็บรักษาไม่ทำตัวมีปัญหามีข้อขัดแย้งกับคน รับมรดก เพราะอาจไม่ยอมส่งมอบพินัยกรรมให้ โดยอ้างว่าหายบ้างหรือลืมไปแล้วว่าเก็บไว้ที่ไหน

(3) การตั้งผู้จัดการมรดกนั้นสามารถตั้งหลายคนได้ จะตั้งคนให้คนรับมรดกเป็นผู้จัดการมรดกก็ได้ และจะตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกเฉพาะแปลงที่จะรับมรดกนั้นก็ได้(ประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์มาตรา 1715) ถ้าตั้งให้ผู้รับมรดกเป็นผู้จัดการมรดกจัดการมรดกทุกอย่างหรือเฉพาะแปลงที่ ตัวเองจะได้รับ จะดีตรงที่ไม่ต้องพึ่งคนอื่นให้มาดำเนินการจัดการมรดก เพราะบางครั้งผู้จัดการมรดกทำตัวมีปัญหาอิดออดไม่ค่อยอยากมาดำเนินการให้ เพราะตามปกติแล้วพินัยกรรมมักไม่ได้ให้ค่าตอบแทนใด ๆกับผู้จัดการมรดกเลย อาจมีความคิดไม่เห็นด้วยกับเจ้ามรดก และบางครั้งอาจอยากได้ผลประโยชน์หรืออยากแสดงออกว่าตนมีความสำคัญอยากให้คน รับมรดกเอาอกเอาใจเขาก็มี ทำให้ยุ่งยากขึ้น

(4) การทำพินัยกรรมถ้าจะแยกทำหลายฉบับยกทรัพย์แต่ละแปลงให้แต่ละคนแยกต่างหากกัน ก็ได้ ซึ่งจะดีมากในกรณีที่รู้แล้วว่าทายาทจะทะเลาะกัน เพราะถ้าใส่ไว้ในพินัยกรรมฉบับเดียวกัน เวลารับมรดกอาจเกิดปัญหาอีกคนไม่ยอมให้พินัยกรรมมารับมรดกก็ได้ ไม่ยอมมอบให้ไม่ว่าด้วยสาเหตุโกรธเคืองเป็นส่วนตัวหรือเพราะเหตุใดก็ตาม แต่สิ่งที่ต้องระวังคือต้องเขียนให้ชัดว่ายกให้เฉพาะแปลงใดบ้าง

(5) ปัญหาเรื่องการเก็บรักษาโฉนดที่ดินมรดกก็เป็นปัญหาเช่นกัน บางครั้งเจ้ามรดกเก็บไว้ในที่ที่คนอื่นไม่รู้ ดังนั้นก็ควรบอกให้คนอื่นทราบด้วย โดยเฉพาะถ้าเห็นว่าตนเองจะมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน ซึ่งหากจะมอบให้คนรับมรดกเก็บไว้ก็เป็นการดีที่สุด เพราะเอาไปฝากให้คนอื่นเก็บไว้ และคนนั้นไม่ยอมมอบให้ไม่ว่าด้วยสาเหตุโกรธเคืองเป็นส่วนตัวหรือเพราะเหตุใด ก็ตาม ก็จะยุ่งยากกับผู้รับมรดกไม่สามารถนำมาประกอบการจดทะเบียนได้ต้องเสียเงิน เสียเวลาฟ้องร้องให้ส่งมอบ

(6) ในกรณีที่มีผู้รับมรดกร่วมกันในที่ดินแปลงเดียวกันหลายคนนั้น ถ้ามีเนื้อที่มากหากผู้ทำพินัยกรรมจะจัดการแบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อยให้แต่ละ คนจะดีที่สุด และควรทำทางออกให้ทุกแปลงใช้ร่วมกัน จะต้องไม่ให้ผ่านเข้าออกโดยต้องผ่านเข้าไปในที่ดินแปลงอื่น เพราะว่าในอนาคตอาจมีการปิดกั้นไม่ให้ผ่านออกได้ หากเป็นไปได้ควรยกให้เป็นทางสาธารณะจะดีที่สุด ไม่ควรมุ่งติดเสียดายที่โดยคิดแต่จะให้ได้ที่ดินมากไว้ก่อน เพราะเหตุว่าการที่ที่ดินแต่ละแปลงติดทางสาธารณะนั้นทำให้ราคาที่ดินสูงกว่า ไม่ติดทางสาธารณะ ถือว่าคุ้มค่าต่อการยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะ ทำให้การขายในอนาคตง่ายขึ้น หรือแม้แต่นำไปจำนองจะง่ายเพราะธนาคารมักไม่รับจำนองที่ดินที่ไม่มีทางออก

4. ระเบียบกฎหมายที่ดินเกี่ยวข้อง

ระเบียบ กรมที่ดินว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดย ทางมรดก พ.ศ. ๒๕๔๘ (แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๗)

ข้อ ๑๑ การสอบสวนและจดบัญชีเครือญาติของเจ้ามรดกไว้ด้านหลังบันทึกการสอบสวนฯ(ท.ด. ๘) นั้น ให้ผู้ขอแสดงชื่อทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามลำดับและชั้นของทายาทตามกฎหมาย เช่น ชื่อบิดามารดา ชื่อผู้สืบสันดาน หรือผู้รับมรดกแทนที่ และชื่อคู่สมรส เมื่อได้เขียนชื่อทายาทของเจ้ามรดกดังกล่าวแล้วใต้ชื่อเจ้ามรดกให้เขียนว่า “เจ้ามรดกตายเมื่อ…..…..” ให้เขียนคำว่า “ผู้ขอ”ไว้ใต้ชื่อผู้ขอ ในกรณีผู้ขอขอให้ลงชื่อทายาทอื่นที่มีสิทธิได้รับมรดกเป็นผู้รับมรดกร่วมกับ ผู้ขอด้วยให้เขียนคำว่า “ผู้ขอขอให้ลงชื่อ” ไว้ใต้ชื่อทายาทนั้น ๆ และถ้าทายาทคนใดเป็นผู้เยาว์ หรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือตาย ให้เขียนอายุผู้เยาว์หรือการเป็นคนไร้ความสามารถหรือตาย และวัน เดือน ปี ที่ตายไว้ใต้ชื่อทายาทนั้น ๆ ด้วย

ในกรณีที่ผู้ขอไม่ทราบเครือญาติของเจ้ามรดกโดยครบถ้วน ก็ให้แสดงบัญชีเครือญาติเท่าที่ทราบและให้บันทึกเหตุผลที่ไม่ทราบไว้โดยชัด แจ้ง เช่น มีบิดาอยู่ต่างประเทศ อาจมีภรรยาและบุตรที่ต่างประเทศอีกหรือไม่ ผู้ขอไม่ทราบ

เมื่อได้ทำบัญชีเครือญาติเสร็จแล้ว ให้ผู้ขอลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือรับรองบัญชีเครือญาติที่ให้ไว้ แล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ลงลายมือชื่อกำกับไว้(ตามตัวอย่างหมายเลข ๖) และในกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องส่งประกาศให้แก่ทายาท ให้จัดทำบัญชีรายชื่อและที่อยู่ของทายาทซึ่งผู้ขอแสดงประกอบการขอรับมรดกไว้ ด้วย (ตามตัวอย่างหมายเลข ๗)

ในกรณีผู้ขอเป็นผู้รับพินัยกรรม ผู้ขอไม่จำเป็นต้องแจ้งบัญชีเครือญาติ และพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องส่งประกาศมรดกแจ้งให้ทายาทอื่นทราบ

กฎกระทรวง

ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๑๖)

ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. ๒๔๙๗

----------------

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ และมาตรา ๘๑ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๔ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ เมื่อมีผู้มาขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดก ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนพยานหลักฐานแล้วบันทึกลงในเรื่องราวขอจดทะเบียน สิทธิและนิติกรรม(ท.ด. ๑) และในแบบบันทึกการสอบสวนขอจดทะเบียนโอนมรดก(ท.ด. ๘) ด้วย

ข้อ ๒ มรดกมีพินัยกรรม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนพยานหลักฐานและวันตายของเจ้ามรดกตลอดจนสิทธิใน การรับมรดกตามพินัยกรรมด้วย

ข้อ ๓ มรดกไม่มีพินัยกรรม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนพยานหลักฐานและพิจารณาการเป็นทายาทสิทธิในการ รับมรดก และวันตายของเจ้ามรดก โดยให้ผู้ขอแสดงบัญชีเครือญาติและหลักฐานอื่นประกอบด้วย

ข้อ ๔ การจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดกไม่มี พินัยกรรมและมีทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกหลายคน นอกจากจะต้องดำเนินรตามข้อ ๓ แล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย

(๑) ในกรณีที่ทายาทบางคนมาขอจดทะเบียนรับมรดกตามสิทธิของตนหรือขอให้ลงชื่อทายาท อื่นที่มีสิทธิได้รับมรดกทุกคนตามที่ผู้ขอแสดงไว้ในบัญชีเครือญาติเมื่อไม่ มีผู้โต้แย้งภายในกำหนดเวลาที่ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนให้ตาม ที่ผู้ขอแสดงหลักฐานการมีสิทธิตามกฎหมาย

(๒) ในกรณีที่ทายาทบางคนมาขอจดทะเบียนรับมรดกทั้งหมดถ้าผู้ขอนำทายาทที่แสดงไว้ ในบัญชีเครือญาติทุกคนมาให้ถ้อยคำยินยอมหรือนำหลักฐานการไม่รับมรดกของทายาท ดังกล่าวนั้นมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ภายในกำหนดเวลาที่ประกาศให้ พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนให้ตามที่ผู้ขอแสดงหลักฐานการมีสิทธิตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้ขอไม่สามารถนำทายาทที่แสดงไว้ในบัญชีเครือญาติทุกคนมาให้ถ้อยคำ ยินยอมหรือไม่สามารถนำหลักฐานการไม่รับมรดกของทายาทดังกล่าวนั้นมาแสดงต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดเวลาที่ประกาศได้ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยกคำ ขอเสียในกรณีที่จะต้องมีคำสั่งศาลเพื่อเป็นหลักฐานการไม่รับมรดกของทายาทให้ ผู้ขอนำคำสั่งศาลที่ถึงที่สุดแล้วมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมกับการ ให้ถ้อยคำยินยอมของทายาทนั้นด้วยแต่ถ้ายังไม่มีคำสั่งศาลดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รอเรื่องไว้จนกว่าจะมีคำสั่งศาลถึงที่สุดในกรณีเช่น นี้ ให้ผู้ขอนำหลักฐานการดำเนินการทางศาลมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนด สามสิบวันนับแต่วันที่ทายาทนั้นมาให้ถ้อยคำยินยอม ถ้าผู้ขอไม่นำหลักฐานการดำเนินการทางศาลมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน กำหนดดังกล่าวก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยกคำขอนั้นเสีย

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์พ.ศ. ๒๕๑๖

พลเอก ป. จารุเสถียร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

หมาย เหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้คือ เนื่องจากมาตรา ๘๑ วรรคสามแห่งประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๔ ลงวันที่๑๓ ธันวาคมพ.ศ. ๒๕๑๕ ได้บัญญัติให้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดกไว้ในกฎกระทรวงจึงจำเป็นต้องออกกฎ กระทรวงฉบับนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๑๕๗๔ นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้เว้นแต่ศาลจะอนุญาต

(๑) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิ จำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

(๒) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

(๓) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์

(๔) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจาก ทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น

(๕) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

(๖) ก่อข้อผูกพันใด ๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (๑) (๒) หรือ (๓)

(๗) ให้กู้ยืมเงิน

(๘) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคมหรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์

(๙) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หากรรมการ กฤษฎีกา

(๑๐) ประกันโดยประการใดๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น

(๑๑) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๙๘/๔(๑) (๒) หรือ (๓)

(๑๒) ประนีประนอมยอมความ

(๑๓) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

มาตรา ๑๗๑๕ผู้ทำพินัยกรรมจะตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้จัดการมรดกก็ได้

เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่นถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน แต่ ผู้จัดการเหล่านั้นบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดกา ร และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียวผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการมรดกได้ โดยลำพัง แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้จัดการเหล่า นั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้

ที่มาของข้อมูล : คุณวสันต์ กิจบำรุง (หมอที่ดิน) อดีตเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน 8 "การทำพินัยกรรมช่วยให้การรับมรดกที่ดินสะดวกสบายกว่าการไม่ทำอย่างเทียบกันไม่ได้" บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้ Terra BKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก