ขอบคุณข้อมูลดีๆ จากคุณวสันต์ กิจบำรุง (หมอที่ดิน)

ถ้าคนขายไม่ยอมโอนขายที่ดินให้ตามสัญญา หากคนซื้อต้องการให้ผู้ขายโอนให้ตามสัญญาก็ต้องฟ้องให้โอนขาย แต่ช่วงเวลานับจากรู้ว่าเจ้าของไม่ยอมขายจนถึงตัดสินใจจะฟ้อง จนไปหาทนายและปรึกษาทนายเพื่อเตรียมคดีก็เสียเวลาพอควร หรือแม้แต่ฟ้องศาลแล้วและขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวโดยให้อายัดที่ดินไว้ก่อนมีคำพิพากษา ก็จะต้องเสียเวลาตามกระบวนการพิจารณาคดีแพ่งอีก และแม้ศาลมีคำสั่งอายัดที่ดินแล้วก็ตาม แต่กว่าจะส่งคำสั่งศาลให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบก็ต้องใช้เวลาอีก ช่วงเวลาที่เสียไปทั้งหมดนี้ อาจไม่ทันสกัดกั้นไม่ให้คนขาย ขายที่ดินไปให้คนอื่นที่สุจริตได้ ทำให้คนซื้อเสียหายจนแก้ไขไม่ได้ ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคนซื้อคือต้องไปอายัดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยเร็ว ซึ่งจะให้ผลทันทีที่เจ้าพนักงานที่ดินสั่งรับอายัด วีธีอายัดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินนี้ได้ผลทันใจเสียค่าธรรมเนียมก็น้อย มีผลถึงสามสิบวัน ทำให้มีเวลาเตรียมตัวฟ้องคดีได้นาน คนที่ชำนาญการฟ้องคดีเกี่ยวกับที่ดินจะใช้มาตรการนี้ก่อนฟ้องศาลเสมอ

แต่อย่างไรก็ตามการอายัดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินก็มีหลักเกณฑ์เฉพาะต้องปฏิบัติตามด้วย ซึ่งมาตรา ๘๓ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติไว้ดังนี้

“ผู้ใดมีส่วนได้เสียในที่ดินใดอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียน หรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ มีความประสงค์จะขออายัดที่ดิน ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนเอกสารหลักฐานที่ผู้ขอได้นำมาแสดงแล้ว ถ้าเห็นสมควรเชื่อถือก็ให้รับอายัดไว้มีกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่สั่งรับอายัด เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าการอายัดสิ้นสุดลงและผู้นั้นจะขออายัดซ้ำในกรณีเดียวกันอีกไม่ได้

ถ้าผู้มีส่วนได้เสียคัดค้านว่าการอายัดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสอบสวนพยานหลักฐานเท่าที่จำเป็น เมื่อเป็นที่เชื่อได้ว่าได้รับอายัดไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งยกเลิกการอายัดนั้น และแจ้งให้ผู้ขออายัดทราบ

จากตัวบทกฎหมายดังกล่าวกรมที่ดินได้ออกระเบียบแยกหลักเกณฑ์เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ (ซึ่งจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็เปิดกว้างให้ทุกคนวิพากษ์วิจารณ์ได้) ดังนี้

1. การยื่นคำขออายัด ผู้ขออายัดต้องยื่นคำขออายัดต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ สำนักงานที่ดิน ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่

2. ทรัพย์ที่จะขออายัดได้มีเฉพาะแต่ที่ดินเท่านั้น ส่วนอสังหาริมทรัพย์อื่น เช่น ตึก โรงเรือน ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะขออายัดได้ การขออายัดที่ดิน แม้ในที่ดินจะมีสิ่งปลูกสร้าง รวมอยู่ด้วย ก็อายัดได้เฉพาะที่ดินเท่านั้น

3. ประเด็นที่ขออายัดจะต้องไม่มีการยื่นฟ้องต่อศาล เพราะการขออายัดตามมาตรา ๘๓ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นการอายัดเพื่อไปดำเนินการทางศาล หากฟ้องศาลแล้วจะมาขออายัดไม่ได้

4. ผู้ขออายัดต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินที่ขออายัดอันอาจจะฟ้องบังคับ ให้มีการจดทะเบียน หรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินหมายถึง ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินที่ขออายัดโดยตรง เช่น เป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะผู้จะซื้อที่ดิน จากเจ้าของที่ดินตามสัญญาจะซื้อขาย เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดิน เป็นต้น หากเป็นเจ้าหนี้ธรรมดา เช่น เจ้าหนี้ตามสัญญาเงินกู้ จะมาขออายัดไม่ได้ ผู้ขออายัดนอกจากเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกับที่ดินแล้ว จะต้องอยู่ในฐานะ อันอาจจะต้องบังคับให้มีการจดทะเบียน หรือเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ด้วย เช่น อาจฟ้องให้มีการจดทะเบียนขายที่ดิน เป็นต้น

5. การพิจารณาสั่งรับ หรือไม่รับอายัด เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจสอบสวนจากหลักฐาน เท่าที่ผู้ขออายัดนำมาแสดง ไม่ต้องสอบสวนเจ้าของที่ดินผู้ถูกอายัดแต่อย่างใด

6. เจ้าพนักงานที่ดินจะสั่งรับอายัดได้ ผู้ขออายัดจะต้องมีหลักฐานแสดงว่าตนเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินที่ขออายัด อันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียน หรือเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนจึงจะสั่งรับอายัดได้ หลักฐานในที่นี้ไม่รวมถึงพยานบุคคล

7. การรับอายัดมีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานที่ดินสั่งรับอายัด เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวการอายัดสิ้นสุดลงทันที และจะขออายัดซ้ำในกรณีเดียวกันอีกไม่ได้

8. ในกรณีที่มีผู้มีส่วนได้เสียคัดค้านว่า การอายัดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสอบสวนพยานหลักฐานเท่าที่จำเป็น เมื่อเป็นที่เชื่อได้ว่า ได้รับอายัดไว้ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยกเลิกการอายัด

บทความโดย คุณวสันต์ กิจบำรุง (หมอที่ดิน) อดีตเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน 8 "ถ้าคนขายไม่ยอมโอนที่ดินตามสัญญาก่อนฟ้องควรทำอย่างไร" บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้ TerraBkk ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก