ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) เผยข้อมูลที่อยู่อาศัยมือสอง ทั่วประเทศ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 65 อุปทานพร้อมขายในตลาดลดลงทั้งในด้านจำนวนหน่วยและมูลค่า จากตลาดบ้านมือสองที่ถูกดูดซับอุปทาน ช่วงก่อนที่จะหมดมาตรการผ่อนปรน LTV และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และการจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ทำให้มีการโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสองที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 1 - 2 ที่ผ่านมา และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2564 กว่า 15%

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดที่อยู่อาศัยมือสองทั่วประเทศ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 ในภาพรวมด้านอุปทานพร้อมขายในตลาดลดลงจากสิ้นไตรมาส 2 (QoQ) ทั้งในด้านจำนวนหน่วยและมูลค่า โดยมีจำนวนหน่วยประกาศขาย 162,923 หน่วย และมีมูลค่า 962,188 ล้านบาท จำนวนหน่วยปรับตัวลดลง -3.3% และมูลค่าปรับลดลง -3.4% เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาส 2 ปี 2565 ซึ่งมีจำนวนหน่วย 168,541 หน่วย และ มีมูลค่า 996,471 ล้านบาท

ซึ่งบ้านเดี่ยว เป็นประเภทที่มีการประกาศขายมากที่สุด รองลงมาคือห้องชุด และทาวน์เฮ้าส์ ตามลำดับ โดยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนประกาศขายมากที่สุด รองลงมาเป็นระดับราคา 3.01 – 5 ล้านบาท ระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ยังมีการประกาศขายที่อยู่อาศัยมือสองมากที่สุดถึง36.3% ของจำนวนหน่วยประกาศขายทั้งหมด และมีมูลค่า 62.9% ของจำนวนมูลค่าทั้งหมด

ประเภทที่อยู่อาศัยมือสอง

พบว่า ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี65 ที่อยู่อาศัยมือสองเกือบทุกประเภทมีจำนวนหน่วยลดลงจากสิ้นไตรมาส 2 ปี 2565 (QoQ) โดย

บ้านเดี่ยว ประกาศขายมากที่สุดจำนวน 64,966 หน่วย ลดลง -4.0%

รองลงมาเป็นห้องชุด จำนวน 48,768 หน่วย ลดลง -3.1%

ทาวน์เฮ้าส์ จำนวน 42,394 หน่วย ลดลง -3.3%

อาคารพาณิชย์ มีจำนวน 4,428 หน่วย เพิ่มขึ้น 0.8%

และบ้านแฝด จำนวน 2,367 หน่วย เพิ่มขึ้น 3.5%

ด้านมูลค่า พบว่า บ้านเดี่ยวมีมูลค่าในการประกาศขายมากที่สุด มูลค่า 468,805 ล้านบาท ลดลง -6.6% รองลงมาเป็นห้องชุด มูลค่า 352,231 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% ทาวน์เฮ้าส์ มูลค่า 111,718 ล้านบาท ลดลง –8.1% อาคารพาณิชย์ มูลค่า 21,440 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% และ บ้านแฝด มูลค่า 7,993 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ในกรณีที่พิจารณาถึงสัดส่วนเชิงจำนวนหน่วยของประเภทที่อยู่อาศัยมือสองที่ประกาศขาย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 ที่มีจำนวนหน่วยรวมทั้งหมด 162,923 หน่วย พบว่า บ้านเดี่ยว มีสัดส่วนจำนวนหน่วยที่ประกาศขายมากที่สุด 39.9% รองลงมาเป็น ห้องชุด 29.9% ทาวน์เฮ้าส์ 26.0% อาคารพาณิชย์ 2.7% และ บ้านแฝด 1.5%

หากพิจารณาจากสัดส่วนจากมูลค่ารวมทั้งหมด 962,188 ล้านบาท เห็นได้ว่า บ้านเดี่ยวเป็นประเภทที่มีสัดส่วนมูลค่าประกาศขายมากที่สุด 48.7% รองลงมาเป็น ห้องชุด 36.6% ทาวน์เฮ้าส์ 11.6% อาคารพาณิชย์ 2.2% และบ้านแฝด เป็นประเภทที่มีมูลค่าประกาศขายน้อยที่สุดเพียง 0.8%

สำหรับ 10 จังหวัดมีมูลค่าสูงสุด จังหวัดที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) 3 อันดับแรก คือ ภูเก็ต ลดลง -14.1% รองลงมาคือ เชียงใหม่ ลดลง –9.7% และ ชลบุรี -7.2% โดยมีจังหวัดอื่นๆ มีอัตราการเปลี่ยนแปลง ลดลง -8.7% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในจังหวัดรองต่าง ๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ลดลงเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดีการที่ตลาดที่อยู่อาศัยมือสองในไตรมาส 3 ปี 65 ประกาศขายลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าและปีก่อน อาจเกิดจากการที่ตลาดบ้านมือสองที่ถูกดูดซับอุปทาน ซึ่งสอดคล้องกับการโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสองที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 1 - 2 ที่ผ่านมา และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2564 กว่า 15% ก่อนที่จะหมดมาตรการผ่อนปรน LTV และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และการจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยเพิ่มเติมการให้สิทธิครอบคลุมมาถึงที่อยู่อาศัยมือสองจากเดิมที่มีผลเฉพาะที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ โดยมีระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565