กลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือ Circular Economy in Construction Industry (CECI) ซึ่งประกอบด้วย บมจ.ศุภาลัย และบริษัทผู้พัฒนาอสังริมทรัพย์ชั้นนำ เปิดเวทีสัมมนาใหญ่ในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2565 เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในหัวข้อทิศทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยและอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมก้าวสู่ทศวรรษใหม่ของอุตสาหกรรมการก่อสร้างสอดรับเป้าหมาย Net Zero Carbon

นายกิตติพงษ์ ศิริลักษณ์ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการ สายงานก่อสร้างอาคารสูง บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม CECI เปิดเผยว่า บริษัทฯมุ่งพัฒนาธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืน ควบคู่กับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีภารกิจในการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการ เพื่อผลประกอบการที่เป็นเลิศโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งในปี 2565 บริษัทฯได้ตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 25% ภายใน 3 ปี ทำให้ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาบริษัทฯเดินหน้าสร้างดีในหลายโปรเจกต์เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย อาทิ การจับมือกับพันธมิตรธุรกิจ SCG พัฒนาวัสดุก่อสร้าง SCG Green Choice ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตน้อยลง สู่นวัตกรรมที่อยู่อาศัยบ้านและคอนโดฯ ศุภาลัย สู่สังคมรักษ์โลก รวมไปถึงการออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน รับลม หลบแดด มุ่งเน้นการใช้พลังงานจากธรรมชาติเพิ่มขึ้น เช่น การใช้แสงธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น ต่อเนื่องกับโครงการ SOLAR PLUS ที่ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย ติดตั้งแผงโซลาร์รูฟให้ลูกบ้านฟรี ช่วยลดค่าไฟฟ้าและคืนพลังงานสะอาดให้กับโลก ตลอดจนมีแผนการติดตั้ง EV charger ที่โครงการทั่วประเทศ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าโครงการ Waste Management อย่างต่อเนื่องเพื่อบริหารเศษวัสดุก่อสร้างที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตให้เหลือทิ้งน้อยที่สุด เช่น การเลือกใช้ท่อที่ตัดพอดีกับความยาวที่ใช้จริง ลดขนาดลูกปูนทดสอบความแข็งแรงของคอนกรีตแต่ยังคงประสิทธิภาพเท่าเดิม เปลี่ยนพาเลทไม้ที่ใช้ขนย้ายอิฐมวลเบาให้เป็นพาเลทพลาสติกซึ่งทำให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ทำให้ลดการใช้พาเลตไม้ไปได้ถึงกว่า 18,000 ชิ้น เครื่องตัดอิฐมวลเบา (ไร้ฝุ่น) และเครื่องขัดผนังดูดเก็บฝุ่น เพิ่มการแยกขยะภายในไซต์ก่อสร้างซึ่งมีมากถึง 9 ชนิดขยะ และล่าสุดกับวิธีการออกแบบคอนโดมิเนียมเพื่อบริหารจัดการน้ำฝนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบริษัทฯ ออกแบบบ่อหน่วงน้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถลดการระบายน้ำจากโครงการสู่ถนนและพื้นที่สาธารณะได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังลดภาระการสูบน้ำที่ท่วมขังถนนและพื้นที่สาธารณะของภาครัฐอีกด้วย

บมจ.ศุภาลัย และกลุ่ม CECI คาดหวังว่าหลังจากงานสัมมนาในครั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างจะเกิดความตระหนักในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และขยายแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ภาคอุตสาหกรรมในวงกว้าง เพื่อก้าวสู่ทศวรรษใหม่ของอุตสาหกรรมก่อสร้างต่อไป