• คณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2565 โดยเตรียมนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.65 โดยได้แบ่งการปรับขึ้นเป็น 9 ช่วง ค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่ 328 บาท สูงสุด 354 บาท  (เดิมอยู่ในช่วง 313-336 บาท) หรือเป็นการปรับขึ้นร้อยละ 3-7 ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในรอบ 2 ปี
  • หากย้อนดูในอดีตประเทศไทยมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศครั้งใหญ่ล่าสุดในปี 2555-2556 โดยปรับขึ้นให้อยู่ที่ระดับเดียวกันทั่วประเทศที่ 300 บาทต่อวัน และเริ่มมีการปรับขึ้นอีกครั้งรายจังหวัดในปี 2560 เรื่อยมาจนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2562 ก่อนจะไม่ได้มีการปรับขึ้นมาเป็นเวลา 2 ปี  โดยตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยปรับขึ้นอยู่ที่ 13-36 บาท หรือคิดเป็น 4-12% ขณะที่ดัชนีรายงานเงินเฟ้ออยู่ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6.3% (2555-2564) ซึ่งในส่วนของดัชนีอาหารสำเร็จรูป (อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน) ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 14%   

  • สภาวะแวดล้อมในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้มีความแตกต่างจากครั้งที่ผ่านมาในหลากหลายด้าน ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายทั้งฝั่งแรงงานและภาคธุรกิจ

ภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานในปัจจุบันมีความแตกต่างจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2555 ค่อนข้างมาก  ในส่วนของภาพเศรษฐกิจพบว่าในช่วงปี 2555  เศรษฐกิจไทยเติบโตที่ 6.4% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.02% ขณะที่ในปี 2565 เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อโลกที่อยู่ในระดับสูงหลังได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ระดับราคาสินค้ามีทิศทางสูงขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบัน โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ค.อยู่ที่ 7.61% สถานการณ์ดังกล่าวกดดันทั้งในฝั่งผู้ผลิตโดยเฉพาะธุรกิจที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวและไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อรายได้แท้จริงกดดันในส่วนของกำลังซื้อฝั่งประชาชนและแรงงาน   

  • ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะมีผลในไตรมาส 4/2565 เป็นต้นไป ขณะที่ผู้ผลิตคงจะไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนทั้งหมดไปยังผู้บริโภคได้ทันที ดังนั้น คาดว่าผลกระทบของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อเงินเฟ้อในปีนี้คาดว่าจะมีจำกัด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเงินเฟ้อไทยในปีนี้อยู่ที่ 6.0% ซึ่งประมาณการนี้ได้รวมผลกระทบของการปรับค่าแรงขั้นต่ำแล้ว อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะเห็นการส่งผ่านต้นทุนค่าแรงจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคมากขึ้นในปีหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานในสัดส่วนสูง เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร ค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร ก่อสร้าง ดังนั้นคาดว่าระดับเงินเฟ้อในปีหน้าคงจะไม่ปรับลดลงมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อไทยในปีหน้าจะอยู่ในกรอบ 2.5-3.0% ภายใต้สมมตฐานว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปีหน้าอยู่ที่ 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปตามมติและไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำคาดว่าจะส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นราว 0.4-0.5% เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ภายใต้สมมติฐานที่กำหนดให้ปัจจัยอื่นคงที่