การหายใจเกี่ยวโยงกับระบบในร่างกายอย่างไม่ต้องสงสัย ถ้าไม่อยากป่วย มาฝึกหายใจยาวๆ ดีกว่า

บางคนแทบจะไม่เคยสนใจเรื่องลมหายใจ แค่หายใจผ่านไปวันๆ ก็คิดว่าน่าจะเพียงพอแล้ว แต่การหายใจอย่างถูกวิธีสามารถช่วยบำบัดโรคและสร้างพลังชีวิต ซึ่งวงการแพทย์และศาสตร์ตะวันออกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

ลองสังเกตง่ายๆ เวลาอยู่ริมทะเลหรือในป่าเขา เราจะรู้สึกสดชื่น เหมือนร่างกายได้ชาร์ตแบตเตอรี่ ซึ่งต่างจากการเดินอยู่ริมฟุตบาทหรือที่มีคนแออัด เราจะรู้สึกเหนื่อยและอ่อนล้า

การหายใจเป็นเรื่องสำคัญมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหายใจยาวๆ ลึกๆ

ศาสตร์ตะวันออกหรือวงการแพทย์แผนปัจจุบันมีหลักฐานยืนยันว่า การหายใจที่ลึกและยาว มีประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจมากกว่าการหายใจปกติ ลองนึกถึงตอนเราเครียดมากๆ หัวใจจะเต้นตูมตาม และรู้สึกกดดัน แต่ถ้าเราค่อยๆ หายใจยาวๆ ลึกๆ จะช่วยให้ระบบสันดาปในร่างกายทำงานดีขึ้น

 

หายใจให้ถูกวิธี

การหายใจคือ กระบวนการนำออกซิเจนจากบรรยากาศภายนอกเข้าสู่ร่างกาย หลังจากสันดาปในร่างกายแล้ว จะเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในตอนท้ายแล้วถูกขับออก การขนส่งแก๊สเกิดขึ้นผ่านระบบไหลเวียนของเลือด การแลกเปลี่ยนแก๊สระหว่างเลือดกับเนื้อเยื่อ ซึ่งเกิดขึ้นตามเซลล์ร่างกาย เราเรียกว่า การหายใจภายใน ส่วนการแลกเเปลี่ยนแก๊สระหว่างเลือดกับอากาศภายนอก ซึ่งเกิดในปอด เรียกว่า การหายใจภายนอก

ระบบหายใจแบ่งได้เป็นสองส่วนคือ 1. ทางเดินอากาศ เพื่อให้ลมเข้าออก และ 2. ส่วนหายใจได้แก่ ปอด อันเป็นที่เปลี่ยนแก๊สในเลือดกับอากาศ

ทางเดินของระบบหายใจเป็นระบบกึ่งอัตโนมัติ สามารถดำเนินไปได้ด้วยตัวมันเองอย่างเป็นจังหวะสม่ำเสมอ กลไกการควบคุมอัตโนมัติจะส่งสัญญาณผ่านประสาท phrenic ไปยังกล้ามเนื้อระบบหายใจ กระบังลม และกล้ามเนื้อซี่โครงประสาท phrenic 2 เส้น แยกจากกระดูกสันหลังส่วนบน (Cervical) ระหว่างข้อที่ 3-4 และ 4-5 ไปยังกระบังลม เส้นประสาท 11 คู่ แยกจากข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลังส่วนกลางข้อที่ 1-11 ไปตามกล้ามเนื้อซี่โครง ประสาทที่รับผิดชอบการหายใจเข้า ซึ่งทำให้เกิดการหายใจเข้า แยกต่างหากจากประสาทที่รับผิดชอบในการหายใจออก ซึ่งทำให้เกิดการหายใจออก

อย่างไรก็ตาม สภาวะอารมณ์มีผลต่อระบบหายใจ ความตกใจ ความกลัว ความตื่นเต้น จะทำให้หายใจเร็วขึ้น ส่วนการแสดงออกทางอารมณ์ อย่างการหัวเราะ การร้องไห้ ต้องอาศัยกลไกการหายใจที่เหมาะสม สมองส่วนบนจะลดการควบคุม ปล่อยให้ศูนย์กลางการหายใจที่สมองส่วนกลางทำหน้าที่เป็นหลัก เช่นเดียวกับอารมณ์สภาวะต่างๆ ทางสมองก็มีผลต่อการหายใจ

หากปรับการหายใจให้ถูกต้อง เราจะควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้ อย่างการถอนหายใจยาวๆ จะช่วยคลายความเกร็งทางอารมณ์ได้ หรือสูดหายใจยาวจะทำให้รู้สึกกระปรี่กระเปร่า หายใจได้เต็มปอด

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการหายใจที่หลากหลาย ก็มีอิทธิพลต่อสภาวะจิตอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างความเร็วความลึกของลมหายใจ อัตราส่วนการเคลื่อนไหวของปอดกับหน้าท้อง การกลั้นลมหายใจ อัตราส่วนระหว่างลมหายใจเข้า-ออก

ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ให้ความสำคัญกับรูปแบบการหายใจที่มีผลต่อระบบประสาท รวมถึงศึกษาผลของลมหายใจต่อกลไกการทำงานของร่างกาย ทั้งกายและจิต

 

หายใจยาวๆ ช่วยรักษาโรค

เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายเราต้องการออกซิเจน เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย แต่ในร่างกายบางคนมีออกซิเจนเหลือน้อยมาก เพราะของเสียและก๊าซเสียในร่างกายมีจำนวนมาก

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนเราต้องเอาของเสียในร่างกายออกให้มากที่สุด โดยการสูดอากาศบริสุทธิ์เข้าไป เพราะปกติแล้วออกซิเจนมีอยู่ในอากาศเพียง 21 เปอร์เซนต์ แม้จะหายใจตามปกติ ก็ยังไม่สามารถนำออกซิเจนไปใช้ประโยชน์ในร่างกายได้อย่างเต็มที่

ผู้เชี่ยวชาญด้านออกซิเจนเธอราปี แนะไว้ว่า ต้องหัดหายใจช้าๆ ยาวๆ โดยการหายใจเข้าจนเต็มปอด จากนั้นให้กลั้นหายใจไว้ให้นานที่สุด อากาศดีจะถูกดูดเข้าไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกาย ฟอกอากาศในเลือดของเรา แล้วหายใจออกทางปาก เพื่อนำของเสียออกจากร่างกาย

ขณะที่หายใจนิ่งๆ จิตของเราก็จะนิ่งอยู่กับลมหายใจ อนุมูลอิสระก็จะน้อยลงด้วย ทำให้สารก่อเซลมะเร็งน้อยลง เพราะพวกอนุมูลอิสระจะทำให้ผิวหมองคล้ำ เกิดริ้วรอยก่อนวัย

นอกจากนี้ยังมีผลงานการวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า การหายใจในลักษณะนี้จะช่วยทำให้อนุมูลอิสระเกิดขึ้นน้อยลง คล้ายการหายใจแบบโยคะหรือการนั่งสมาธิ เพราะขณะที่เราหายใจ สภาวะจิตจะนิ่ง ฮอร์โมนความเครียดก็จะน้อยลง

 

หายใจแบบโยคะ

ศาสตร์ตะวันออกให้ความสำคัญกับการหายใจให้ถูกวิธีเป็นอันดับต้นๆ ไม่ว่าชี่กง โยคะ ไทเก็ก ไอคิโด การนั่งสมาธิ และการบำบัดร่างกายบางอย่างก็ต้องมีการเดินลมหายใจให้ยาวและลึก

อย่างปราณายามะ การยืดปราณหรือลมหายใจเพื่อเพิ่มพลัง ซึ่งเป็นฝึกควบคุมลมหายใจรูปแบบหนึ่ง กลไกในร่างกายจะทำงานเชื่อมต่อกับระบบประสาทอัตโนมัติ เพื่อควบคุมการทำงานของจิต และเตรียมความพร้อมสำหรับการฝึกสมาธิ ซึ่งการฝึกหายใจแบบโยคะไม่ใช่การเพิ่มออกซิเจนให้กับร่างกาย แต่เป็นการลดอากาศ เพื่อลดการหายใจนำผู้ฝึกไปสู่ความสงบภายใน

ระหว่างการฝึกปราณายามะ จะควบคุมปริมาณอากาศเข้าสู่ร่างกายให้น้อยลง ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายเข้มข้นมากขึ้น การฝึกลักษณะนี้ เพื่อให้ร่างกายทนต่อคาร์บอนไดออกไซด์ที่เข้มข้นได้ดี ทำให้ผู้ฝึกหายใจน้อยลงและช้าลง ทำให้จิตผู้ฝึกสงบ

กวี คงภักดีพงษ์ ครูสอนโยคะรุ่นบุกเบิก ผู้อำนวยการสถาบันโยคะวิชาการ มูลนิธิหมอชาวบ้าน เคยเล่าถึง ลมหายใจตามแบบโยคะไว้ว่า ลมหายใจเป็นสะพานเชื่อมกายและจิต และลมหายใจมีระบบประสาทอัตโนมัติ สังเกตได้ว่า เวลาเราโกรธหรือดีใจ การหายใจจะเปลี่ยนไป ซึ่งโยคะจะให้ความสำคัญกับลมหายใจไว้สูงกว่าการฝึกท่าอาสนะ

การฝึกลมหายใจเป็นการฝึกควบคุมสภาวะดั้งเดิมที่เป็นระบบอัตโนมัติ ถ้าฝึกลมหายใจได้ก็ฝึกควบคุมจิตตัวเองได้ แม้วิธีการหายใจแบบโยคะจะมีองค์ประกอบที่หลากหลาย แต่มีเป้าหมายเดียวในเรื่องการพัฒนาจิต อย่างการฝึกหายใจแบบโยคะก็ให้ฝึกวันละไม่เกินสี่ครั้ง คือ อาทิตย์ขึ้น เที่ยงวัน อาทิตย์ตก เที่ยงคืน

แล้วคุณรู้ไหมมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 วิถีชีวิตเปลี่ยนไป มีการพัฒนาทางการแพทย์มากขึ้น แต่มนุษย์กลับมีปัญหาที่จิต เพราะจิตโดนกระแทกตลอดเวลา

หลายคนรู้ดีว่า ความเครียดก่อให้เกิดความไม่สมดุลในร่างกาย อาจเกิดได้หลายปัจจัย ทั้งปัจจัยสภาวะแวดล้อมภายนอกและภายในร่างกายเอง ความเครียดจะไปกระตุ้นไฮโปทาลามัส ส่งผลไปกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติก และกระตุ้นต่อไปยังต่อมหมวกไตหรือต่อมอดรีนัล (Adrenal) เกิดการเปลี่ยนแปลงกลไกภายในร่างกาย อย่างเช่น หัวใจเต้นแรงขึ้น ความดันโลหิตระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น 

หากร่างกายจัดการกับความเครียดไม่ได้ ระบบการทำงานต่างๆ ก็ไม่เป็นปกติ นำไปสู่โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง นอนไม่หลับ สภาวะกรดมากเกินไป

การฝึกโยคะ จึงเป็นการดูแลร่างกายแบบองค์รวม ทั้งระบบประสาท ระบบฮอร์โมน ระบบกล้ามเนื้อ ฯลฯ รวมถึงการดูแลจิตใจ ส่วนการหายใจยาวๆ ช่วยให้จิตนิ่ง ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดน้อยลง

.............................

หมายเหตุ ข้อมูลส่วนหนึ่งจากโครงการเผยแพร่โยคะเพื่อสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน

SOURCE : www.bangkokbiznews.com