ศบค.ไฟเขียวเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยว STV เดินทางเข้าได้ 1 ต.ค.นี้ แม้สร้างความกังวลให้ประชาชน แต่จำเป็นต้องเปิดประเทศเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวไทย ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 ให้ได้อย่างมีสติ เพราะประเทศถอยไปไม่ได้อีกแล้ว

ในที่สุดที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบแนวทางการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาพำนักในประเทศไทยในระยะยาวได้แบบจำกัดจำนวน โดยต้องเป็นนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ หรือสเปเชียล ทัวริสต์ วีซ่า (เอสทีวี) ตามที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ โดยจะอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศตามเงื่อนไข ภายในวันที่ 1 ต.ค.นี้

แนวทางดังกล่าว นอกจากจะเป็นการสะท้อนถึงสถานการณ์โควิด-19 ในไทย ที่คลี่คลายไปในระดับที่น่าพอใจ จนนานาชาติยกย่องไทยว่าเป็นประเทศที่มีแนวทางการบริหารจัดการการระบาดของโควิด-19 ได้ดีประเทศหนึ่งในโลก ทว่าการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบจำกัดนี้ ลึกๆ แล้วรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคธุรกิจ และประชาชน ยังมี “ความกังวล” ต่อการระบาดของโควิด-19 ในไทยระลอกใหม่ จึงออกมาตรการเข้มข้นด้านสุขอนามัย เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19 “คู่ขนาน” ไปกับการทยอยเปิดประเทศอย่างจำกัดดังกล่าว

ทั้งนี้รัฐบาลน่าจะพิสูจน์ในระดับหนึ่งแล้วว่า ภายใต้แนวทางการ “ฟื้นฟูประเทศ” หลังผลกระทบจากโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันมาตรการทางการเงิน การคลัง เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกหย่อมหญ้า พร้อมกับการผลักดันกำลังซื้อภายในประเทศ ดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือที่ “ไม่เพียงพอ” ต่อการรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ที่ชะลอตัวแรง หากไม่อาศัย “ตัวช่วยอื่น” ที่เคยเป็นหนึ่งใน “พระเอก” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สัดส่วนราว 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี อย่างการท่องเที่ยว

แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะค่อนข้างอ่อนไหวต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ฐานที่เป็นอุตสาหกรรมแรกสุดที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนน่วม สุดอั้นมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ไล่มาตั้งแต่ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจนำเที่ยว โรงแรมและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แต่ก็กำลังจะกลายเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ เช่นกัน ที่จะทยอยสร้างรายได้เข้าประเทศ จากการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงที่เหลือของปี 

เราเห็นว่าความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นั้น เป็นเรื่องที่ “กลัวและกังวล” ได้ ไม่ผิด ทว่าสิ่งที่ต้องยึดไว้เป็นแนวทางคือ ตราบใดที่โลกยังไม่พบวัคซีนป้องกันการระบาดของโรค นานาประเทศจำต้อง “เรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19” เพื่อให้เศรษฐกิจ ธุรกิจเดินต่อไปได้ ก่อนที่ผลกระทบจากโควิด-19 จะลุกลามบานปลายกระทบการจ้างงาน และเศรษฐกิจไทย กับการ “ปิดประเทศ” ไปมากกว่านี้  หนทางการฟื้นเศรษฐกิจ สกัดโรค สุดท้ายแล้วไม่ใช่การ “ปิดประเทศ” แต่คือการ “เปิด” เพื่อเผชิญหน้ากับความจริงอย่างมีกลยุทธ์รับมือกับปัญหา อย่างมีสติ อย่างมีการบริหารจัดการที่ดี “เราถอยไปไม่ได้อีกแล้ว”

SOURCE : www.bangkokbiznews.com