มนุษย์เราทุกคนมีความกลัวซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อปกป้องเราจากอันตรายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับเรา แต่อย่างไรก็ตาม ความกลัวนี้ก็เหมือนดาบสองคม ที่อาจจะเป็นตัวฉุดเราไว้กับที่ได้เช่นกัน

Amy Morin นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้เปิดเผยว่า จากประสบการณ์การทำงานกับคนไข้ที่มาปรึกษาจำนวนมาก พยายามป้องกันตัวเองจากสิ่งที่ตัวเองกลัว ความรู้สึก วิตกกังวล ซึ่งอาจนำพาพวกเขาสู่โรคซึมเศร้าได้ โดยการใช้ชีวิตอยู่ใน comfort zone นั่นเอง

วันนี้แพรมีบทความจิตวิทยา ว่าด้วยความกลัว 10 อันดับที่ทำให้ชีวิตของคนส่วนมาก ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้เท่าที่ควรมาฝากกันค่ะ

1. กลัวการเปลี่ยนแปลง

ในปัจจุบัน ที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ระบบ digital กำลังเข้ามา disrupt ธุรกิจของโลก เราทุกคนหนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็ตาม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นความจริงของโลก แต่ก็มีคนจำนวนมากที่กลัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยบางคนพยายามที่จะหลีกหนีหรือต่อต้านมัน

ความกลัวนี้ ทำให้เราพลาดโอกาสมากมายในชีวิต และส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ และอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้ด้วย

2. กลัวความเหงา

การกลัวความเหงา ทำให้เราไม่อยากที่จะต้องอยู่คนเดียว และมีความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น หรือ ทำให้เราเสพติด social media มากจนเกินไป จนลืมใช้ชีวิตจริง  ซึ่งแม้การมีความสัมพันธ์ที่อาจจะไม่ดี หรือใช้ social media เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการกลัวความเหงา จะช่วยให้เราหลีกหนีความกลัวในข้อนี้ได้ แต่การที่เรามีความสัมพันธ์ที่แย่ ก็จะส่งผลกระทบกับสุขภาพจิต และชีวิตในด้านอื่น ไม่แพ้ข้อเสียของการติด social media เลยทีเดียว

3. กลัวความล้มเหลว

ความกลัวข้อนี้ เป็นความกลัวที่พบในคนจำนวนมาก รวมทั้งตัวผู้เขียนด้วย มันเป็นเรื่องที่น่าอายที่จะล้มเหลว และทำลาย self-esteem ของเรา ซึ่งบ่อยครั้งที่ความกลัวความล้มเหลวทำให้เรา หลีกเลี่ยงที่จะทำอะไรบางอย่างที่เราไม่มั่นใจว่าเราจะทำมันสำเร็จหรือไม่ สุดท้าย ก็ส่งผลให้เราพลาดโอกาสดีๆ จำนวนมาก หรือแม้แต่พลาดโอกาสในการที่จะเรียนรู้จากความล้มเหลว ซึ่งเป็นบทเรียนที่ทรงพลังในชีวิต ในการทำให้เราประสบความสำเร็จ เช่นกัน

4. กลัวการถูกปฏิเสธ

หลายคนกลัวที่จะทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ หรือมีความสัมพันธ์ครั้งใหม่ๆ เพราะเรากลัวการถูกปฏิเสธ หรือแม้แต่การขอความช่วยเหลืออะไรสักอย่างกับใครสักคน ที่เราคาดว่า เขาจะปฏิเสธเรา ไม่ว่าการกลัวการถูกปฏิเสธในรูปแบบใดก็ตาม ทำให้เราไม่กล้าที่จะทำอะไรเลย และเสียโอกาสมากมายในชีวิต แค่เพียงแค่เราจะกล้าขอ หรือ กล้าที่จะทำมัน

5. กลัวความไม่แน่นอน

ความไม่แน่นอน ทำให้เรารู้สึกกังวลกับอนาคต ที่เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ชีวิตคือความไม่แน่นอน สิ่งที่แน่นอนก็คือ การที่เราไม่ทำอะไรเลย เพราะความกลัวของเรา จะไม่ทำให้เราก้าวไปที่ไหน

6. กลัวสิ่งไม่ดีจะเกิดขึ้น

เนื่องจากชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน และเราไม่สามารถที่จะคาดการณ์ได้ 100% ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเรา สิ่งที่เราทำได้ก็คือ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด และให้ผลของการกระทำของเราในวันนี้ เป็นรากฐานของวันพรุ่งนี้ของเรา

7. กลัวความเจ็บปวด  

ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวดทางกาย หรือ ความเจ็บปวดทางใจ ไม่มีใครที่จะอยากเผชิญกับมัน และทำให้เราใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังเป็นอย่างมาก จนเราไม่สามารถสร้างทักษะ หรือ ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่อาจจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้น หรือแม้แต่รักใครสักคนด้วยใจจริง ทำให้เราไม่สามารถที่จะมีความสัมพันธ์แบบจริงจังได้ เป็นต้น

8. กลัวถูกตัดสิน

เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่จะตัดสินคนอื่นจากประสบการณ์ หรือมุมมองของตนเอง ซึ่งไม่มีใครในโลกใบนี้ที่หนีพ้นความจริงข้อนี้ไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากเรากลัวการถูกตัดสินมาก จนทำให้เราไม่กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง และต้องเสแสร้งเพื่อให้คนอื่นชอบ หรือยอมรับตลอดเวลา มันก็จะทำให้เราไม่มีความสุขกับชีวิต และแน่นอน เราไม่สามารถทำให้ใครชอบเราได้ทุกคน

9. กลัวดีไม่พอ

นี่เป็นอีกหนึ่งความกลัวที่มีอยู่ในคนจำนวนมาก การกลัวว่าเราดีไม่พอ ทำให้เราไม่กล้าทำอะไรหลายๆ อย่าง เพราะเราตีค่าความสามารถของเราต่ำ หรือกลายเป็น perfectionist เพื่อที่จะพยายามทำให้ดีที่สุด ในการพยายามแสดงผลงานบางอย่างให้ใครสักคนยอมรับ

10. กลัวขาดอิสระภาพ

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ความกลัว ในระดับที่พอดี จะช่วยป้องกันเราจากอันตราย หรือช่วยให้เรารอบคอบมากขึ้นในการทำอะไรสักอย่าง แต่หากเรามีความกลัวมากจนเกินไป ก็จะส่งผลเสียกับชีวิตของเรา การกลัวการขาดอิสระภาพ เช่น คนบางคน ไม่ยอมรับงานประจำที่มีรายได้ที่มั่นคง เพราะกลัวขาดอิสระภาพในการดำเนินชีวิต ผลที่ตามมาก็คือ ขาดความมั่นคงทางการเงิน เป็นต้น

 

 

Brian Tracy นักพูดสร้างแรงบันดาลใจชื่อดังชาวอเมริกาได้แนะนำวิธีการเอาชนะความกลัวไว้เป็นขั้นตอนที่น่าสนใจไว้ด้วยกัน 4 ขั้นตอน ได้แก่

1) จินตนาการว่าเราไม่กลัว

2) ฝึกลงมือทำเสมือนกับว่าเราไม่มีความกลัวอยู่ 

3) ระบุความกลัวให้ชัดเจนแล้วจัดการกับมัน 

4) เผชิญหน้ากับความกลัวนั้น ซึ่งเป็นวิธีที่เป็นประโยชน์มากๆ

 

แพรหวังว่า จากบทความจิตวิทยาข้างต้น จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราสำรวจความกลัวของเราเอง และเรียนรู้ที่จะเอาชนะความกลัวของตัวเองทีละก้าว และเอาชนะมันได้ในที่สุด หรือหากเราอยากที่จะหาสาเหตุของความกลัวของเรา เพื่อการเอาชนะความกลัวนั้นอย่างเด็ดขาด การปรึกษานักจิตวิทยาก็เป็นทางออกที่ดีไม่น้อยนะคะ

SOURCE : www.istrong.co