น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัว -8% บนสมมติฐานค่าเงิน 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยบวกการส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารที่มีภาพรวมการขยายตัวได้ดี การผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ภายในประเทศ ทำให้ระบบการผลิต ระบบโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เริ่มกลับมาดำเนินการใกล้เคียงกับปกติ อย่างไรก็ดี สำหรับการส่งออกยังต้องจับตาครึ่งปีหลังจากสถานการณ์การผ่อนคลายในหลายประเทศเพราะแม้จะดีขึ้น แต่ยังคงวลเรื่องของกำลังซื้อจากแรงงานที่ตกงานเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่อการนำเข้าสินค้า พร้อมกันนี้ สรท.เตรียมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำหรับสถานการณ์การส่งออก รวมไปถึงมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 นี้

 

 

        โดยการส่งออก ในเดือนเม.ย. กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวที่ 4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดีอยู่ คือ ข้าว ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง และแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร แต่สินค้ากลุ่มที่หดตัวคือ ยางพารา น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องดื่ม ขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวที่ 4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ ทองคำ ยานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ เป็นต้น

        "สำหรับการส่งออกเดือนเม.ย. 2563 มีมูลค่า 18,948 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.12% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าในเดือนเม.ย. 2563 มีมูลค่า 16,486 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -17.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เดือนเม.ย. 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 2,462 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการส่งออกเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนเม.ย. การส่งออกจึงหดตัว -7.53%"

     

       ขณะที่ ภาพรวมช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. ปี 2563 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 81,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1.19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 75,224 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -5.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 6,396 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนม.ค.-เม.ย. การส่งออกหดตัว -0.96%

 

         อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยต้องระวังปัจจัยเสี่ยง อาทิ  ความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ระยะต่อไป ทำให้หลายประเทศยังคงมาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอาจส่งผลให้ความต้องการสินค้าของตลาดโลกลดลง, ค่าเงินบาทที่เริ่มมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้น จากของสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยดีกว่าหลายประเทศ ทำให้ถูกมองว่าเป็น Safe heaven อีกครั้ง รวมถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง อาจส่งผลกระทบกับความเปราะบางของเศรษฐกิจ, ราคาน้ำมันที่เริ่มกลับมาสู่ขาขึ้นได้อีกครั้งหลังจากโควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น และความขัดแย้งที่เริ่มกลับมาปะทุอีกครั้งระหว่างสหรัฐและจีน มีแนวโน้มที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน รวมถึงการเพิกถอนการจดทะเบียนของบริษัทสัญชาติจีนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ และการกดดันจีนผ่านการสนับสนุนผู้ประท้วงในฮ่องกง

       ซึ่ง สรท. มีข้อเสนอแนะให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

1) ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่ากว่า 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ

2) เร่งใช้งบประมาณภาครัฐเพื่อลงทุนสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปรับตัวไปสู่ Digital disruption ของภาครัฐ

3) สนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยสงวนสิทธิ์ให้สามารถถอนตัว หากทราบรายละเอียดเงื่อนไขหรือไม่สามารถเจรจาให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ รวมถึง เร่งผลักดันการเจรจา FTA อื่นๆ อาทิ RCEP Thai-EU เป็นต้น

4) พิจารณาการค้าในรูปแบบ Trade to Localization มุ่งเน้นไปที่ประเทศเพื่อนบ้านใน ASEAN and CLMV (CLMV is our home market) เนื่องจากเป็นตลาดที่ใกล้ชิด และสามารถขนส่งข้ามแดนได้โดยง่าย และสนับสนุนให้มีการกำหนดนโยบายเพื่อสร้างตลาดเป็นหนึ่งเดียว (Single market) และพัฒนาแผนการขนส่งข้ามแดนที่สามารถปฏิบัติได้ต่อเนื่อง

5) ขอให้ภาครัฐพิจารณาส่งเสริมรายอุตสาหกรรมที่มี Potential ที่เกี่ยวเนื่องในช่วงสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อกระตุ้นปริมาณการส่งออก อาทิ สินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง (ในกลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์) กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก และ 6) เสนอให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พิจารณาปลดล็อคธุรกิจทั้งทางด้านการค้าและบริการ ในภาคส่วนต่างๆ เพิ่มเติมภายใต้การติดตามควบคุมอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมได้คล่องตัวมากขึ้น

 

อ้างอิง : สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)