มีคนเคยพูดว่า “ปัญหาจะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น” แพรก็เชื่อว่าอย่างนั้น ในชีวิตของคนเรามีปัญหาใหญ่ๆ เยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความรักไม่สมหวัง ปัญหาเรื่องการเงิน ปัญหาเรื่องสุขภาพ สูญเสียคนที่รัก ปัญหาเรื่องการหย่าร้าง ปัญหาเรื่องการงาน และอื่นๆ อีกมากมาย

แต่ละคนใช้เวลาในการผ่านปัญหานั้นๆ ไปได้ในเวลาที่แตกต่างกัน บางคนใช้เวลาไม่นาน และสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติในการมองโลก และวิธีการในการจัดการกับชีวิตได้ดีขึ้น ซึ่งนั่นหละ ที่หมายความว่า “ปัญหาจะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น” แต่บางคน ใช้เวลานานเป็นปี จมอยู่กับปัญหา และมีชีวิตที่ต้องทุกข์ทรมานใจกับปัญหานั้นๆ

เคยสงสัยกันไหมว่า คนสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร แล้วตัวเราอยากจะอยู่ในคนกลุ่มไหน แล้วถ้าเราอยากจะ แข็งแกร่งขึ้นได้จากปัญหา ทักษะ หรือความรู้ความเข้าใจอะไร ที่เราต้องมีต้องรู้บ้าง?

Resilience หรือในภาษาไทยแปลว่า ความสามารถในการกลับมามีชีวิตที่ปกติสุขได้ หลังจากผ่านปัญหา ซึ่งเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่เราสามารถสร้างขึ้นได้ เป็นทักษะที่สำคัญที่จะทำให้เราก้าวข้ามผ่านปัญหาต่างๆ ไปได้ และกลับมาใช้ชีวิตปกติสุขได้อีกครั้ง

แพรได้อ่านบทความเรื่อง “Resilience 101: How to be a more resilient person” ซึ่งได้พูดถึงกลยุทธ์ในการสร้างทักษะ resilience ไว้อย่างน่าสนใจ ดังต่อไปนี้

       1. เลิกวงจรความคิดลบๆ

บ่อยครั้งเวลาเราเจอกับปัญหา เราก็จะกังวลกับผลลัพธ์ในแง่ร้ายที่จะเกิดขึ้น นั่งคิดวนไปวนมาว่า เราทำอะไรผิดพลาดไปในอดีต เราจะแก้ไขมันได้อย่างไร เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นอีกไหมในอนาคต เราคิดว่า ถ้าเราหาคำตอบได้ เราจะจัดการกับปัญหานั้นได้ แต่อันที่จริงแล้ว เรากำลังจมอยู่กับวังวนของการคิดลบของตัวเอง แทนที่จะลุกขึ้นมาจัดการกับอะไรสักอย่างแล้วเดินไปข้างหน้า

คำถามก็คือ เราจะหยุดคิดลบได้อย่างไร?

ในบทความแนะนำว่า การออกกำลังกาย หรือ การออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับตัวเองจะช่วยให้เราหลุดออกจากวงจรคิดลบนี้ได้ หรือแม้แต่การนั่งสมาธิ รู้ตัวเองว่า เรากำลังคิดเรื่องอะไร และเมื่อความคิดนั้นเกิดขึ้นให้รู้ทันกับความคิดนั้นๆ ไม่ปรุงแต่งต่อ นั่นเอง

       2. ตั้งคำถามกับการนึกถึงผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้

การนึกถึงผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ อาจช่วยในการวางแผนการจัดการกับชีวิตถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง เช่น ถ้าเราตกงาน เราอาจคิดว่า เราจะไม่มีทางประสบความสำเร็จในชีวิตได้อีก ซึ่งบ่อยครั้งที่ผลลัพธ์ที่แย่ที่สุด จะไม่เกิดขึ้นจริง

วิธีการจัดการก็คือ ให้เรานึกถึงผลลัพธ์ในแง่ดีที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน เช่น เราอาจได้งานที่ดีกว่า และให้สัมผัสสิ่งของที่เราใส่ติดตัวไว้เสมอทุกครั้งที่เราเริ่มนึกถึงผลลัพธ์ร้ายๆ บอกกับตัวเองว่า ผลลัพธ์ที่ดีก็จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน และการนึกถึงเรื่องแย่ๆ ไม่ได้ดีกับชีวิตของเราเลย
หลังจากที่เราจัดการกับความคิดลบๆ ของเราได้ เราก็สามารถทำในสิ่งที่ท้าทาย หรือลงมือทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เราต้องการได้มากกว่าที่จะมานั่งคิดแต่เรื่องลบๆ

       3. เอาชนะความกลัวความล้มเหลว

ความกลัวความล้มเหลวเป็นเรื่องที่หลายคนกลัว รวมถึงแพรด้วย วิธีการจัดการความกลัวความล้มเหลว ก็คือ ให้มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นความท้าทายให้เราก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ แทนที่จะเป็นสิ่งที่เราหวาดกลัว และต้องต่อสู้กับมัน

แค่เปลี่ยนมุมมองช่วยให้เราจัดการกับความกลัวได้อย่างมาก ตัวอย่างเช่น เรากลัวการที่จะต้องอยู่คนเดียว เราอาจมองย้อนไปในอดีตว่า ที่ผ่านมาเราก็อยู่คนเดียวได้อย่างมีความสุขดี และต่อไปให้นึกถึงเรื่องราวดีๆ ที่จะเกิดขึ้นกับการได้อยู่คนเดียว เช่น มีอิสรภาพมากขึ้นในการคิดการทำตามความฝันของตัวเอง โอกาสได้เจอผู้คนใหม่ๆ เป็นต้น

       4. หาข้อดีของความท้าทายในอดีตที่เกิดขึ้น หรือ ความล้มเหลวที่เกิดขึ้น

แน่นอน หากเรายังรู้สึกเสียใจกับความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ ก็ยากที่เราจะมองเห็นข้อดี หรือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากมัน

ให้ลองนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ในอดีต ที่เราผ่านมันมาได้ ว่า เราได้ประโยชน์และเรียนรู้อะไรกับมันบ้าง เช่น ความผิดพลาด จากการใช้อารมณ์ และตัดสินใจเร็วเกินไป เราก็ได้เรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์ตัวเองให้มากขึ้น และคิดให้รอบคอบมากยิ่งขึ้นเป็นต้น

ให้ลองถามคำถามเหล่านี้กับตัวเอง เพื่อจะหาข้อดีและเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น
มันจะมีข้อดีอะไรบ้างไหมจากเหตุการณ์นี้ที่เกิดขึ้น
คุณได้เรียนรู้อะไรมากกว่าเดิมบ้าง ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น
คุณจะเติบโตและเป็นคนที่ดีกว่านี้ได้อย่างไร กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

       5. ให้มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แบบบุคคลที่สาม


หากเราจมอยู่กับปัญหาของตัวเอง ก็ยากที่จะเห็นสาเหตุที่แท้จริง การลองออกมายืนมองปัญหาของตัวเองแบบบุคคลที่สาม และถามคำถามต่อไปนี้กับตัวเอง จะช่วยให้คุณจัดการกับปัญหาได้ดีขึ้น
 

  • จากมุมมองคนอื่น คุณเข้าใจไหมว่า อะไรทำให้คุณผิดหวังและเสียใจ?

  • จากมุมมองคนอื่น คุณเข้าใจไหมว่า อีกฝ่ายหนึ่งคิดยังไง?

  • จากมุมมองคนอื่น คุณมองเหตุการณ์นี้อย่างไร

  • มุมมองคนอื่น เขามองเห็นแตกต่างจากคุณหรือไม่จาก


       6. จงจำไว้ว่า ไม่ว่าเหตุการณ์อะไรมันก็จะผ่านไป
 

ให้ลองตั้งคำถามเหล่านี้กับตัวเอง เพื่อมองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแทนที่จะนั่งจมจ่อมกับปัญหา หรือถ้านึกไม่ออก ให้ลองย้อนกลับไปมองปัญหาเก่าๆ ในอดีต แล้วตอบคำถามพวกนี้ดู

  • อีก 5 ปีข้างหน้า คุณจะทำอะไรอยู่?

  • คุณจะใช้เวลาของคุณอย่างไร

  • คุณจะรู้สึกอย่างไร


       7. มองหาข้อดีจากสิ่งที่เกิดขึ้น
 

เช่น ความรักไม่สมหวัง ข้อดีก็คือ เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น และเรียนรู้ที่จะรักตัวเองให้มากขึ้น เป็นต้น หรือการเกิดปัญหาในชีวิต ทำให้เราได้พูดคุยและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่มีความหมายกับเรามากขึ้น เป็นต้น

       8. ดูหนังที่สร้างแรงบันดาลใจ


บางครั้งเวลาเราจมอยู่กับปัญหา เราอาจมองไม่เห็นข้อดี หรือประโยชน์กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ให้เราลองหาหนังดีๆ มาดู เรียนรู้จากเรื่องราวของตัวละครเหล่านั้น

       9. เผชิญหน้ากับความกลัว
 

เช่น หากเรามีปัญหาเรื่องการเงิน เราอาจจะไม่อยากมองตัวเลขในบัญชี ไม่อยากมองตัวเลขหนี้บัตรเครดิต แทนที่จะหลีกหนีปัญหาซึ่งเราไม่มีทางจะหนีมันพ้น ให้เราเผชิญหน้ากับมัน และจัดการมันให้ได้ อย่างมีสติ

       10. ใช้ความรู้สึกด้านลบให้เป็นประโยชน์กับชีวิต
 

เช่น ความโกรธ ความรู้สึกน้อยใจ อาจเป็นแรงผลักดันให้เราลุกขึ้นมาทำอะไรดีๆ ในชีวิต ได้ ซึ่งเป็นพลังดีแรงกล้ามากๆ เลยเช่นกันค่ะ


เราเลือกสิ่งที่จะเกิดกับชีวิตเราไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะตอบสนองกับเหตุการณ์ต่างๆ ได้ และใช้ชีวิตที่มีอยู่ของเราอย่างดีที่สุดได้ เราเลือกเองค่ะ

 

SOURCE : www.istrong.co