สินวัฒนา รุกเสนอ 3 รูปแบบการลงทุนสู่ กลุ่มบริษัทพัฒนาเมือง - เอสเอ็มอี - สตาร์ทอัพ หวังช่วยฟื้นผลกระทบหลังโควิด-19 เผยรูปแบบคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding)  เหมาะสมระดมทุนจากมวลชน จับตาสระบุรีเสนอพัฒนา App งานดี อุบลราชธานีต่อยอด App UNII ส่วนอุดรธานีพัฒนาเมืองชวนลงขันจัดยิ่งใหญ่งานพืชสวนโลกหวังบูมเศรษฐกิจและท่องเที่ยวโซนอิสาน

นางสาว ฮอง ซิน เควก (HongSin KWEK) กรรมการผู้อำนวยการใหญ่, ผู้ก่อตั้ง (CEO, Founder Sinwattana Crowdfunding) เปิดเผยว่าได้นำเสนอรูปแบบการลงทุนของบริษัทสินวัฒนาให้กับบริษัทพัฒนาเมืองต่างๆในรูปแบบที่เรียกว่า คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) ที่เป็นการระดมทุนจากมวลชนหมู่มากผ่านตัวกลางที่เรียกว่า Funding Portal ซึ่งนักลงทุนแต่ละคนจะลงเงินจำนวนไม่มาก แต่ใช้พลังมวลชนที่เมื่อรวมกันแล้วจะทำให้สามารถรวบรวมเงินได้จำนวนมาก โดยเน้นกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ

โดยแนวทางการระดมทุนเหมาะที่จะต่อยอดพัฒนาเมืองแต่ขึ้นอยู่กับโปรเจ็กต์นั้นๆ และเหมาะกับโปรเจ็กต์ของการพัฒนาเมือง รูปแบบที่เรียกว่า “ซีวิค” เป็นการระดมทุนเพื่อสังคมเมืองซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น

สำหรับวิธีการระดมทุนนั้นได้ยกตัวอย่างเมืองใดเมืองหนึ่งมีโครงการก่อสร้างสะพาน หากใช้งบประมาณรัฐไปดำเนินการอาจจะใช้ระยะเวลา 30 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ แต่ถ้ามีการระดมเงินทุนจากประชาชนจะใช้ระยะเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าทุกคนจะร่วมกันหรือไม่ 

ทั้งนี้ปัจจุบันสินวัฒนาได้แบ่งการลงทุนรูปแบบคราวด์ฟันดิงแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทแรกคือ Donation คือการบริจาค โดยผู้บริจาคไม่หวังสิ่งตอบแทน ส่วนประเภทที่ 2 คือ  Reward เป็นการมอบผลิตภัณฑ์ตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ อาทิ โครงการสร้างทางด่วนหากมีการจัดเก็บค่าผ่านทางผู้สนับสนุนการลงทุนอาจได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าคนอื่นโดยขึ้นอยู่กับการวางรูปแบบโครงการนั้นๆ ประเภทที่ 3 Equity เป็นการระดมทุนในรูปแบบของการให้หุ้น ผู้ลงทุนอาจได้รับเงินปันผล หรือส่วนต่างราคาหุ้น เป็นสิ่งตอบแทน เหมาะสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ

โดยทั่วไปจะเรียกรูปแบบการลงทุนคราวด์ฟันดิงสำหรับสนับสนุนการพัฒนาเมืองว่า “ซีวิคคราวด์ฟันดิง” แต่ยังคงต้องดูรายละเอียดว่าใครเป็นเจ้าของโปรเจ็กต์ให้บริการด้านสาธารณะนั้นๆหากรัฐเป็นเจ้าของคงยากที่ประชาชนจะเข้าถึงเรื่องการถือหุ้นส่วน แต่หากเจ้าของโดยเอกชนคนทั่วไปสามารถเข้าถึงเรื่องการลงทุนได้มากกว่า

“การระดมทุนพัฒนาเมืองนี้อะไรก็ตามที่เป็นสาธารณะขึ้นอยู่กับว่าจะนำเสนอรายละเอียดอย่างไรให้นักลงทุนสนใจ และต้องโปรงใส เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างการลงทุนจัดงานพืชสวนโลกของจังหวัดอุดรธานี เพื่อโปรโมทโครงการให้คนทั้งโลกสนใจ สามารถระดมเงินจัดงานดังกล่าวนี้ได้ในรูปแบบคราวด์ฟันดิงเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำให้เกิดขึ้นได้จริง”

นางสาวฮอง ซิน เควก กล่าวอีกว่า การระดมทุนคราวด์ฟันดิงไม่ได้ดำเนินการเฉพาะประเทศไทย ยังเปิดโอกาสให้ชาวต่างประเทศที่สนใจด้านการพัฒนาเมืองเข้ามามีส่วนร่วมได้ด้วย ผลลัพธ์ที่ได้อีกแนวทางหนึ่งคือได้โปรโมทงานผ่านช่องทางต่างๆโดยเฉพาะผ่านโซเซียลมีเดียที่แต่ละประเทศเปิดให้บริการ

สำหรับตัวอย่างความสำเร็จในการระดมทุน นั้นขอยกตัวอย่างโครงการกังหันลมที่สวิตเซอร์แลนด์ที่ประชาชนสามารถเข้าร่วมลงทุนได้รูปแบบคราวด์ฟันดิง ส่วนในประเทศไทยนั้นมีเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่ระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิงแล้วจำนวน 1 ราย คือ ประเภทหุ้นคราวด์ฟันดิงระดมทุนมูลค่า 18.6 ล้านบาท

ปัจจุบันการระดมทุนเพื่อการพัฒนาเมืองของคราวด์ฟันดิงในประเทศไทยยังมีให้ความช่วยเหลือคนทั่วไป อาทิ คนชรา เด็กๆ โรงเรียน ซึ่งจะพบว่าโดยส่วนใหญ่ประเทศไทยจะยังคงพึ่งพารัฐบาลดำเนินการให้ในทุกพื้นที่

ในส่วนไฮไลต์โปรเจ็กต์ด้านการพัฒนาเมืองที่น่าสนใจนั้น จะพบว่าโปรเจ็กต์ “ยูนี่ UNII” รูปแบบApp การจัดเก็บขยะของบริษัทอุบลราชธานีพัฒนาเมือง จำกัด มีความน่าสนใจเพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่จับต้องได้จริงและได้ผลประโยชน์กันทุกฝ่าย อาทิ มีรายได้เข้ามาหมุนเวียน ก่อให้เกิดสภาพเมืองสะอาด มีสภาพแวดล้อมดีขึ้น  เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้แล้วยังสร้างความมั่นคงด้านอาชีพอีกด้วย

นางสาวฮอง ซิน เควก กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นยังสนใจรถเมล์ EV bus  ของเชียงใหม่เพื่อช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม แม้ว่าผลประกอบการจะยังลุ่มๆดอนๆเนื่องจากผู้บริหารเป็นนักวิชาการไม่ใช่นักธุรกิจ แต่ในมุมมองส่วนตัวแล้วเห็นว่ามีความเป็นไปได้อีกหลายโครงการ เพียงแต่บางโครงการอาจจะยังไม่เร่งรีบดำเนินการ ล่าสุดโครงการแอพพลิเคชัน App งานดีของสระบุรีพัฒนาเมืองได้ขอเลื่อนการระดมทุนออกไปก่อนเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงขึ้นอยู่กับว่าหลังผ่านพ้นโควิด-19 ไปแล้วโปรเจ็กต์นี้จะถูกนำมาปัดฝุ่นหรือไม่ 

เช่นเดียวกับโครงการกู้ดทีวี(Good TV) สารคดีทางทีวีสาธารณะก็น่าสนใจ เพียงแต่เจ้าของโครงการต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดบางอย่างบ้างเท่านั้น ส่วนโครงการ App งานดี ยังมีความล่าช้าในหลายด้านซึ่งน่าจะร่วมแรงร่วมมือกันผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ขณะนี้ทราบว่าอยู่ระหว่างการจัดทำบิ๊กดาต้า ที่น่าจะทำร่วมกับกระทรวงแรงงานได้ แต่ที่น่าจับตามองมองคือกู้ดทีวีน่าจะเห็นผลช่วงกักตัวอยู่ที่บ้านรับโควิด-19 นี้ก็พลาดโอกาสทองไปอย่างน่าเสียดาย

ทางด้านเงื่อนไขสำหรับนักลงทุนรายบุคคลที่สนใจลงทุนในคราวด์ฟันดิงนั้น ต้องสมัครเป็นสมาชิกของ Funding Portal และทำแบบทดสอบความเข้าใจก่อนการจองซื้อก่อนการลงทุน โดยนักลงทุนรายบุคคลแต่ละคนสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อ 1 บริษัท และไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี ขณะที่บริษัทที่ระดมทุนจะสามารถระดมทุนจากนักลงทุนรายบุคคลได้ไม่เกิน 20 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนแรก และรวมทั้งหมดแล้วไม่เกิน 40 ล้านบาท

“รายละเอียดหลักๆที่พิจารณา เราจะพิจารณาจากรูปแบบโครงการที่นำเสนอ ความคุ้มค่าและความเป็นไปได้ ตลอดจนเจ้าของโครงการเป็นใคร มีวิสัยทัศน์และศักยภาพมากน้อยเพียงใด ในอนาคตสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างไรหรือไม่ ประการสำคัญบริษัทมีข้อเสนอด้านแนวทางการลงทุนของบริษัทพัฒนาเมืองต่างๆว่าอยากให้ร่วมคิดร่วมทำกันมากกว่านี้ เพราะสามารถช่วยคนอื่นพัฒนาได้อีกมากมาย โดยเฉพาะผู้นำแต่ละเมืองแต่ละจังหวัดให้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด” 

ด้านมุมมองผลกระทบไวรัสโควิด-19 นั้นนางสาว ฮอง ซิน เควก กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้การลงทุนเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างนั้น ในประเทศไทยจะพบว่าภาคเอกชนหยุดการลงทุนอย่างชัดเจน ส่วนช่วงก่อนนี้ปัญหาราคาน้ำมันจะเข้ามากระทบบ้าง หุ้นตกกราวรูด นักเล่นหุ้นในกลุ่มบริษัทชั้นนำก็หายไปด้วย ไม่ต้องกล่าวถึงนักลงทุนรายย่อยที่เดือดร้อนกันไปทั่ว ส่วนคราวด์ฟันดิงยังมีการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

“ขณะนี้นักลงทุนมองสถานการณ์ในไทยและทั้งโลกอย่างใกล้ชิดมากขึ้น อีกทั้งมุมมองของนักลงทุนระดับโลกรายหนึ่งกล่าวว่าการลงทุนไม่ใช่สำหรับทุกคน แต่สำหรับคนที่แข็งแกร่งมากพอเท่านั้น ดังกรณีการแข่งขันโอลิมปิกที่ไม่ใช่ทุกคนจะได้เหรียญทองนั่นเอง ประการสำคัญเมื่อเกิดวิกฤติจะส่งผลให้ค่าเงินถูกลง นักลงทุนที่แท้จริงจะกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง มากกว่าจะถือเงินไว้ให้มูลค่าเงินลดไปโดยเปล่าประโยชน์”

เช่นเดียวกับมุมมองผลลัพธ์อนาคตด้านการพัฒนาเมืองนางสาวฮอง ซิน เควก ยังเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วคนไทยยังรักประเทศไทย และอยากเห็นว่าทุกคนไม่ควรเห็นว่าการพัฒนาชุมชนเมืองต่างๆเป็นหน้าที่ของรัฐบาลเท่านั้น ควรร่วมมือกันทำได้ และเห็นว่าซีวิคโปรเจ็กต์ไม่มีปัญหาหากจะนำไปใช้ในการพัฒนาเมืองต่างๆ อย่างแน่นอน

ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีเชิญนักธุรกิจกลุ่มต่างๆมาร่วมหารือนั้นเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดี แต่หลายฝ่ายยังไม่มั่นใจเรื่องความโปร่งใส ตลอดจนทั้งสองฝ่ายจะเสนอเงื่อนไขต่อกันอย่างไร จะได้รับผลตอบแทนอย่างไร แต่หากนักธุรกิจทั้ง 20 กลุ่มร่วมกับบริษัทพัฒนาเมืองต่างๆมีแผนดำเนินการร่วมกันเชื่อว่าโครงการของพัฒนาเมืองนั้นจะได้รับความสนใจมากขึ้น โดยรัฐมีแผนลงทุนมากถึง 1.9 ล้านล้านบาทยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนหลายรายต่อไปว่าเงินหายไปไหน ใครได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ไปบ้าง