“อุตสาหกรรมการบิน” ถือเป็นภาคธุรกิจที่ได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงและชัดเจนที่สุด จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสที่รัฐบาลทั่วโลกบังคับใช้ ส่งผลให้ผู้คนไม่สามารถเดินทางได้ตามปกติ

 

ข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่า ปัจจุบันมีเครื่องบินโดยสารเกือบ 2 ใน 3 ของเครื่องบินราว 26,000 ลำทั่วโลกที่ยุติการขึ้นบิน ส่งผลให้พนักงานสายการบินทั่วโลกประมาณ 25 ล้านคน มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ  โดยสายการบินทั่วโลกจะมีรายได้จากการจำหน่ายตั๋วลดลงรวมประมาณ 314,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้สายการบินทั่วโลกกว่าครึ่ง เสี่ยงที่จะล้มละลายภายใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐโดยด่วน

ซึ่งในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สายการบินจำนวนมากก็พยายามดิ้นรน ทั้งการให้รัฐบาลของแต่ละประเทศเข้าอุ้มพร้อม ๆ กับแผนการปรับโครงสร้างลดค่าใช้จ่าย เพื่อรักษากระแสเงินสดสำหรับพยุงธุรกิจต่อไป

เช่น เวอร์จิน ออสเตรเลีย” สายการบินใหญ่อันดับ 2 ของออสเตรเลีย ได้ยื่นขอล้มละลายหลังจากรัฐบาลไม่ให้การสนับสนุนเงินกู้ ขณะที่สายการบินแห่งชาติของหลายประเทศก็ตกที่นั่งลำบากเหมือน ๆ กัน เมื่อคนทั้งโลกหยุดการเดินทาง

บริติชแอร์เวย์” สายการบินรายใหญ่ของสหราชอาณาจักร ประสบภาวะขาดทุนสูงถึง 535 ล้านยูโร ในไตรมาสแรกปีนี้ ส่งผลให้บริษัทเตรียมปรับลดพนักงานถึง 12,000 คน และพักงานโดยรับเงินเดือน 80% อีกกว่า 30,000 คน แม้ว่าสายการบินจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอังกฤษ ด้วยการอุดหนุนค่าจ้างพนักงานรายละไม่เกิน 2,500 ปอนด์/เดือน เพื่อป้องกันการเลิกจ้าง แต่ผู้บริหารบริติชแอร์เวย์ระบุว่า การช่วยเหลือดังกล่าวยังไม่เพียงพอให้บริษัทสามารถรักษางานทั้งหมดเอาไว้ได้

“สแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ซิสเต็ม” สายการบินสัญชาติสวิส ก็ปรับลดพนักงาน 5,000 คน ส่วน “ไรอันแอร์” ของไอร์แลนด์ ปรับลดพนักงาน 3,000 คน และ “นอร์วีเจียน แอร์ ชัตเทิล” ของนอร์เวย์ ก็เตรียมเลิกจ้าง 4,700 คน ขณะที่ “ลุฟท์ฮันซ่า” สายการบินยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี เตรียมใช้มาตรการลดชั่วโมงการทำงานของพนักงาน 2 ใน 3 ของพนักงานทั้งหมด

 

      ขณะที่ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติของไทย ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ล่าสุดเตรียมเสนอที่ประชุม ครม.เพื่อให้ ครม.อนุมัติการแก้ปัญหาสภาพคล่องเฉพาะหน้าให้แก่การบินไทย และเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ระยะ 5 ปี (ปี 2563-2567)

       โดยการบินไทยมีผลขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปี และให้ความเห็นชอบเสนอ ครม.ปรับแผนบริหารหนี้ ปีงบประมาณ 2563 ต่อไป สำหรับวงเงินค้ำประกันน่าจะอยู่ระหว่าง 5-7 หมื่นล้านบาท เมื่อกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทย ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด เนื่องจากสามารถเปลี่ยนไปขอกู้เงินจากธนาคารออมสินมาไถ่ถอนหุ้นกู้ได้ แต่การบินไทยจำเป็นต้องผ่าตัดองค์กรครั้งใหญ่ เนื่องจากปัญหาใหญ่คือ ต้นทุนค่าจ้างพนักงาน ต้นทุนค่าซ่อมบำรุง เนื่องจากเครื่องบินที่มีราว 70 ลำนั้น เกินกว่าครึ่งใช้วิธีเช่าซื้อ

       และข้อเสนอที่หารือกันใน คนร.จะปรับโครงสร้างการบินไทยให้ดำเนินธุรกิจในรูปแบบ “โฮลดิ้ง” โดยมีเพียง บมจ.การบินไทยที่เป็นบริษัทแม่ และจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เท่านั้น ขณะที่บริษัทลูกจะมี 5 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท ฝ่ายครัวการบิน 2.บริษัท บริการภาคพื้น 3.บริษัท คลังสินค้า 4.บริษัท ฝ่ายช่าง และ 5.สายการบินไทยสมายล์

      ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือต่ำกว่า 50% ซึ่งจะทำให้การบินไทยกลายเป็นรัฐวิสาหกิจในกลุ่มที่ 3 จากเดิมอยู่กลุ่มที่ 1 และจะมีผลทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยสิ้นสถานะลงไปด้วย

       ทั้งนี้หัวใจฟื้นฟูการบินไทย คือ เงิน คน เส้นทาง เครื่องบิน และการจำหน่ายตั๋ว ที่จะต้องบูรณาการใหม่ทั้งหมด เพื่อสร้างรายได้และลดปัญหาการขาดทุน โดยแผนฟื้นฟูที่การบินไทยเสนอ เพื่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ จะขอกู้ฉุกเฉินระยะสั้น 5-7 หมื่นล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน เพื่อรักษาสภาพคล่องเงินสดและใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ในช่วง 5 เดือน นับจากเดือน พ.ค.-ก.ย. 2563  โดยทยอยกู้เป็นรายเดือนตามค่าใช้จ่าย เพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งประเมินว่าจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 10,000 ล้านบาท ในเดือน พ.ค.เตรียมจะขอกู้ประมาณ 9,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายภายในองค์กร

       ขณะเดียวกันจะมีการปลดระวางและกำหนดขนาดเครื่องบินใหม่ให้ตอบโจทย์การเดินทาง เช่น เครื่องบินที่ใช้งานมานาน หรือบินในเส้นทางที่ไม่มีกำไร ก็ให้ปลดระวางเร็วขึ้น ส่วนเครื่องบินลำใหญ่ต่อไปจะไม่มีความจำเป็นในการเดินทางอีกต่อไปแล้ว และเปลี่ยนจากซื้อมาเป็นการเช่าแทน ซึ่งในแผนเดิมการบินไทยจะเสนอซื้อเครื่องบินใหม่ 38 ลำ วงเงินกว่า 1.5 แสนล้านบาท จะชะลอไว้ก่อน และพิจารณาการเช่าแทน

       ส่วนแผนระยะยาว การบินไทยจะขอเพิ่มทุนประมาณ 80,000 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระคืนเงินกู้ฉุกเฉิน 50,000 ล้านบาท อีก 30,000 ล้านบาท นำไปใช้จ่ายในการปรับการบริหารจัดการภายในองค์กร เพื่อเดินหน้าธุรกิจในระยะต่อไปหลังจากสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดลง ซึ่งการขอเพิ่มทุนจะต้องใช้เวลา เนื่องจากต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วย

เช่นเดียวกับแผนการแปลงสภาพการบินไทยเป็น “โฮลดิ้ง” ถือหุ้นในบริษัทลูกจะตั้งแยกออกจากการปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ โดยจะเน้นธุรกิจที่มีกำไรเป็นหลัก เช่น ครัวการบิน และธุรกิจคลังสินค้า เป็นต้น

         สอดคล้องกับสถานการณ์ธุรกิจการบินในฝรั่งเศส ที่รัฐบาลฝรั่งเศสอนุมัติเงินกู้ 7,000 ล้านยูโร ช่วย “แอร์ฟรานซ์” สายการบินแห่งชาติของฝรั่งเศส ภายใต้เงื่อนไขให้สายการบินปรับลดเที่ยวบินในประเทศลงบางส่วน โดย นายบรูโน เลอ ไมร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการเงินของฝรั่งเศส ระบุว่า วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้กำลังเปิดโอกาสใหม่ให้กับ “การนำเสนอรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของเราที่เคารพต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น” พร้อมทั้งระบุว่า แอร์ฟรานซ์ “ควรจะเป็นสายการบินที่เคารพต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด”

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ทุกวันนี้เส้นทางการบินในประเทศจำนวนมากไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เมื่อคุณสามารถเดินทางโดยรถไฟได้ด้วยเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงครั้ง ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องขึ้นเครื่องบิน

ปัจจุบัน แอร์ฟรานซ์ยังคงให้บริการเที่ยวบินเพียง 5% ของเที่ยวบินทั้งหมดตามปกติ โดยแอร์ฟรานซ์เป็นสายการบินในกลุ่มบริษัท “แอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม” ซึ่งเป็นการควบรวมธุรกิจการบินสัญชาติฝรั่งเศส-ดัชต์ในปี 2004

และในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา บริษัทยังได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลฝรั่งเศสไปไม่ต่ำกว่า 9,000 ล้านยูโร ส่วนการให้เงินกู้ช่วยเหลือครั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลฝรั่งเศสระบุว่า แอร์ฟรานซ์จะได้รับเป็นเงินกู้ 3,000 ล้านยูโร และส่วนที่เหลืออีก 4,000 ล้านยูโรจะเป็นกองทุนค้ำประกันโดยรัฐอื่น ๆ ขณะเดียวกัน รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ก็เตรียมให้ความช่วยเหลือเคแอลเอ็มในเม็ดเงินระหว่าง 2,000-4,000 ล้านยูโร ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็มคาดการณ์ว่า การระบาดของโควิด-19 จะสร้างความเสียหายให้กับบริษัทประมาณ 150-200 ล้านยูโรในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. ที่ผ่านมา

        วิกฤตธุรกิจการบินครั้งนี้ ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ ไปถึงผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ อย่าง “โบอิ้ง” ผู้ผลิตเครื่องบินของสหรัฐ ประกาศเตรียมปรับลดพนักงานลงราว 10% หรือประมาณ 16,000 คน พร้อมลดกำลังการผลิตเครื่องบินรุ่นหลักอย่างโบอิ้ง 787 และ 777 ด้วย จากการสั่งซื้อที่หดหาย ขณะที่ในไตรมาส 1/2020 บริษัทขาดทุนถึง 641 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และ “แอร์บัส” ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของยุโรปก็ได้รับผลกระทบจากความต้องการเครื่องบินที่ลดลง โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของบริติชแอร์เวย์ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ โดยไตรมาสแรก ผลกำไรของแอร์บัสลดลงถึง 49% เหลืออยู่ที่ 281 ล้านยูโร สาเหตุจากที่ไม่สามารถส่งมอบเครื่องบินกว่า 60 ลำ ให้ลูกค้าได้ เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงสายการบินต่างเจรจาขอขยายเวลาการสั่งซื้อ

       ซึ่งผู้บริหารของ ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ ทั้ง 2 ราย ระบุว่า อุตสาหกรรมการบินอาจต้องใช้เวลานาน 3-5 ปี ในการฟื้นความเชื่อมั่นของผู้โดยสารให้กลับมาเดินทางโดยเครื่องบินในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19  เราต้องเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์ดังกล่าว มาตรการรัดเข็มขัดเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอในช่วงเวลาที่รายได้ตกต่ำ แม้ว่าแอร์บัสยังไม่มีแผนปรับลดพนักงานจากทั้งหมดราว 135,000 คนทั่วโลก แต่ก็ยอมรับว่าเตรียมพิจารณาเรื่องดังกล่าวในกลางเดือน มิ.ย.นี้

โควิด-19 จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ยังจะพลิกโฉมธุรกิจการบินอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งการให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากและอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ การเว้นที่นั่งแถวกลาง และการให้บริการโดยเว้นระยะห่างอย่างเข้มงวด  โดยผลการสำรวจของไออาตาพบว่า ผู้คนในปัจจุบันราว 40% ระบุว่า แม้ว่าสถานการณ์ไวรัสจะสามารถควบคุมได้ก็ยังคงจะรอเวลาอีกอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะมั่นใจและกลับไปใช้บริการสายการบินอีกครั้ง