“ยิม ฟิตเนสและสตูดิโอออกกำลังกาย” เป็นอีกหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ต้องปิดให้บริการชั่วคราวเพื่อรองรับนโยบายเพิ่มระยะห่างทางสังคม จึงทำให้ธุรกิจนี้ต้องมีการปรับ ต่อยอดการทำธุรกิจรับ new normal ซึ่งตอนนี้ก็จะเห็นการเปิดคลาสสอนออกกำลังกายออนไลน์ ที่สมาชิกสามารถเล่นตามที่บ้านได้ การเทรนส่วนตัวผ่าน video call หรือการให้สมาชิกเลือกเวลาเพื่อให้เทรนเนอร์ไปสอนที่บ้านได้

แน่นอนว่า ธุรกิจฟิตเนส ก็กำลังถูก disrupt จากเทคโนโลยีที่ช่วยให้คนออกกำลังกายที่บ้านได้ “Peloton” ธุรกิจ Streaming Fitness ผู้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เป็นธุรกิจที่แม้คนจะกักตัวอยู่บ้าน แต่ก็ยังทำให้คนสามารถออกกำลังกายได้ และยังจำหน่ายจักรยานและลู่วิ่ง ที่มีจอสัมผัสและลำโพงขนาดใหญ่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้สมาชิกรู้สึกเสมือนได้เข้าไปอยู่ในคลาสกับผู้สอนจริง ๆสำหรับคนที่ไม่อยากลงทุนซื้อจักรยานหรือลู่วิ่งก็สามารถโหลดแอปพลิเคชันมาเล่นคลาสต่าง ๆ ได้ด้วยราคาเพียง 12.99 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน ซึ่งถูกกว่าราคาสมาชิกรายเดือนของฟิตเนสหลายแห่ง นอกจากนี้ Peloton ยังใช้ครูที่มีชื่อเสียงในการสอนคลาสต่าง ๆ และยังมีดาราเป็นสมาชิกหลายคนทำให้สมาชิกที่เล่นอยู่ที่บ้านสามารถรู้สึกว่าได้ออกกำลังกายไปพร้อม ๆ กับคนดังอีกด้วย

        อีกหนึ่ง startup ที่ใช้เทคโนโลยีมาสร้างประสบการณ์ออกกำลังกายที่บ้าน คือบริษัท Mirror ที่ขายเทคโนโลยีจอกระจกที่มีกล้องและลำโพงในตัว เมื่อเปิดจะแสดงคลาสและผู้สอนเพื่อให้สมาชิกเล่นตามได้แบบอินเทอร์แอคทีฟที่ผู้สอนสามารถกระตุ้น และให้กำลังใจสมาชิกได้ขณะเล่นผ่านเทคโนโลยี motion sensor และเมื่อปิดจอก็จะกลายเป็นกระจกเต็มตัว โดยเทคโนโลยีจอกระจกของ Mirror มีราคา 1,495 ดอลลาร์สหรัฐ และมีค่าสมาชิก 39 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน

       ขณะที่ประเทศไทย  การออกกำลังกายที่บ้านจะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่คงอยู่ แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายไปแล้ว หลังผู้บริโภคจำนวนมากได้ทดลองและเห็นว่าสามารถตอบโจทย์ด้านความสะดวกได้ ขณะเดียวกันในภาพรวมจำนวนผู้สนใจออกกำลังกายจะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะความตื่นตัวด้านสุขภาพหลังถูกกระตุ้นจากโรคระบาด สะท้อนจากจำนวนผู้เข้าชมคลาสออนไลน์ที่มียอดทั้งแบบชมสด และย้อนหลังมากระดับ 2,000-30,000 คน แสดงถึงศักยภาพของเทรนด์นี้

ซึ่งผู้ให้บริการสตูดิโอออกกำลังกาย ยิม และฟิตเนส ก็มีการเปิดโมเดลธุรกิจใหม่ เช่น Absolute You Home Work out Experience บริการออกกำลังแบบออนไลน์ครบวงจร ซึ่งนำบริการที่เปิดในช่วงอยู่บ้าน-หยุดเชื้อ ทั้ง “ABSOLUTE CYCLE Home Pop-Up !” คลาสปั่นจักรยานพร้อมบริการให้เช่าจักรยาน และ “ABSOLUTE YOU Virtual Studio” คลาสออกกำลังออนไลน์แบบไลฟ์สด “Online Private Session” คลาสออนไลน์แบบส่วนตัว-กลุ่มเล็ก 3 คน รวมไปถึง “ABSOLUTE Anytime” คลาสโยคะออนไลน์ที่มีอยู่ก่อนแล้วมารวมกันในแพลตฟอร์มเดียว

โดยมีค่าใช้จ่ายต่างกันตามแต่ละบริการ เช่น คลาสส่วนตัวเริ่มต้น 400 บาท คลาสไลฟ์สด 1,900 บาทต่อ 2 สัปดาห์ ส่วนคลาสปั่นจักรยานจะมีค่าสมาชิก 1,500 บาท และค่าเช่าจักรยาน 6,000 บาท/เดือน มุ่งเจาะลูกค้าทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติที่ทำงานในไทย ไปจนถึงรุกตลาดต่างประเทศ พร้อมอัพเกรดด้านต่าง ๆ เช่น คุณภาพการถ่ายทำไลฟ์สด รวมถึงเพิ่มคุณภาพและจำนวนจักรยานให้เช่า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทผู้ผลิตจักรยานออกกำลังกาย และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์

ทั้งนี้ คลาสต่าง ๆ ดังกล่าวจะทดลองเปิดให้บริการ 3 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ถึง 8 พฤษภาคม พร้อมโปรโมชั่น อาทิ เปิดชมฟรี (บางคลาส), ให้ส่วนลดค่าบริการเมื่อสมัครในเวลาที่กำหนด และอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้สนใจมาลองใช้งาน รวมถึงรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงบริการให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น หลังจากนี้จะขยายบริการนี้ออกไปยังต่างประเทศด้วย หลังมีชาวต่างชาติเข้าชมการไลฟ์สดในช่วงที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคลาสปั่นจักรยาน ซึ่งจะช่วยให้สามารถขยายฐานลูกค้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านสาขา

เช่นเดียวกับผู้ให้บริการฟิตเนสแบรนด์ ฟิตเนสเฟิร์ส, เซเลบริตี้ ฟิตเนส และโกฟิต ที่จัดคลาสออกกำลังกายออนไลน์เพิ่มขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมสมาชิกทุกกลุ่ม รวมถึงหาพันธมิตร-สปอนเซอร์ โดยอาศัยจุดแข็งที่ทีมงานเทรนเนอร์มีศักยภาพและสามารถพัฒนาคลาสได้เอง ไม่ว่าจะเป็นคลาสออกกำลัง คลาสเต้น ไปจนถึงคลาสสำหรับครอบครัว จนปัจุจบันมียอดยูนีควิวรวมกว่า 5 ล้านวิว และสามารถตอบรับดีมานด์สมาชิกได้ดีกว่าคู่แข่งที่ต้องอาศัยการซื้อลิขสิทธิ์ หรือรออนุมัติจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ

และยังได้นำเทคโนโลยีใหม่อย่างแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน เข้ามาอำนวยความสะดวกในการใช้บริการของสมาชิก ให้สอดคล้องกับมาตรการเว้นระยะห่าง เช่น การตรวจสอบตาราง จองคลาสล่วงหน้าแทนการวอล์กอินแบบเดิม ไปจนถึงซื้อแพ็กเกจเทรนเนอร์ และขอสิทธิทดลองเล่นสำหรับเพื่อน-ครอบครัว เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมในแต่ละคลาส และอำนวยความสะดวกให้สมาชิก โดยกำลังพัฒนาแอปสำหรับทั้ง 3 แบรนด์ คือ ฟิตเนสเฟิร์ส เซเลบริตี้ ฟิตเนส และโกฟิต รวมทั้งความเข้มงวดในเรื่องของมาตรการรักษาความสะอาดในพื้นที่ และอุปกรณ์ รวมถึงการคัดกรองพนักงานและสมาชิกที่เข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เมื่อสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง

        นอกจากหลาย ๆ ค่ายจะมีความเคลื่อนไหวในการจัดคลาสออกกำลังกายออนไลน์ในช่วงที่ฟิตเนสต้องปิดบริการชั่วคราวแล้ว ยังมีการเสริมจุดขายเฉพาะตัว แตกต่างกันออกไป เช่น “เจ็ทส์ ฟิตเนส 24 ชั่วโมง” ได้จับมือกับทรู นำคลาสออนไลน์ไปเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มทรูไอดี พร้อมให้ผู้ชมสามารถสะสมทรูพอยต์ เพื่อแลกรางวัลต่าง ๆ ได้ เช่นเดียวกับ “เวอร์จิ้น แอคทีฟ” ที่ได้จัดคลาสออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น และเว็บไซต์ของตนและให้บริการเฉพาะสมาชิกเท่านั้น ไปในทิศทางเดียวกับ “ฟิตเนสทเวนตี้โฟร์เซเว่น” ที่นอกจากคลาสออนไลน์แล้ว ยังระดมคอนเทนต์ด้านสุขภาพ เช่น เมนูอาหาร-เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ มาสร้างสีสันในช่วงปิดให้บริการชั่วคราวนี้

ยังไม่ชัดเจนว่าผู้คนจะกลับไปออกกำลังกายตามปกติได้เร็วแค่ไหนเมื่อฟิตเนสและสตูดิโอออกกำลังกายต่าง ๆ เริ่มกลับมาเปิดใหม่ หรือว่าพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เมื่อผู้บริโภคลงทุนในอุปกรณ์และปรับการออกกำลังกายเพื่อให้สอดรับกับอุปกรณ์ที่มีอยู่ที่บ้านแล้ว ผู้บริโภคเหล่านี้ก็มีโอกาสที่จะยกเลิกสมาชิกฟิตเนสไป โดยเฉพาะคนที่ลงทุนในอุปกรณ์ราคาสูง เช่น จักรยาน ลู่วิ่ง หรือชุดอุปกรณ์ยกน้ำหนัก เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ที่ไปฟิตเนสเพื่อพบปะผู้คนใหม่ ๆ หรือเพื่อสร้างสังคม สามารถ join community ใน platform ต่าง ๆ ได้