เราทุกคนล้วนมีเรื่องที่เสียใจ อย่างความสัมพันธ์ที่ไปไม่ถึงฝัน หรือกับบางสิ่งที่เราติดอยู่กับมันมานาน เช่นเรื่องเรียน เรื่องงาน หรือการทำดีบางอย่างแล้วมันไม่เห็นผล แม้ว่าเราตั้งใจเอาไว้แล้วว่าเราจะไม่เสียใจกับเรื่องใดๆ เลย แต่เราก็ไม่สามารถหนีมันพ้น

แม้ความเสียใจจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่หน่อยก็อาจมีผลกระทบให้รู้สึกเจ็บปวด ทำให้ชีวิตไขว้เขว และส่งผลต่อสุขภาพ หากคุณพบว่าตัวเองเอาแต่นั่งคิดว่า “ถ้าเพียงแต่…” คุณควรกลับมานั่งถามตัวเองด้วย 3 คำถามนี้

1.การตัดสินใจของฉันมีเหตุผลและมีข้อมูลมากพอที่จะสนับสนุนมันหรือไม่

เมื่อเวลาผ่านไป มันก็ง่ายที่จะลืมความสับสนตอนที่เรากำลังจะตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง รวมถึงปัจจัยที่ทำให้มันเกิดขึ้น อย่างเช่นการตัดสินใจด้านการเงิน ความกดดันทางสังคม และเป้าหมายที่ไม่ชัดเจน จะดีกว่าไหมถ้าเราเรียนรู้จากอดีตว่าถ้าเราทำแบบนี้มันจะเกิดอะไรขึ้น ถึงแม้ว่ามันจะคาดเดาได้ไม่ชัดเจนเท่าไหร่ก็เถอะ จะได้ไม่ต้องเกิดวลีที่ว่า “รู้งี้…”

มันก็จริงที่ว่าตอนที่เราตัดสินใจนั้นอาจจะมีเหตุผลดีๆ มากมายมาสนับสนุน และหลายๆ ครั้งผลก็ออกมาแบบที่เราคาดการณ์ไม่ถึง อย่างเช่นว่าเราติดสินใจแล้วว่าจะเรียนด้านนี้ ซึ่งตอนนั้นเราก็มั่นใจว่ามันเป็นทางเลือกที่ดี แต่ในอนาคตอะไรก็เปลี่ยนแปลงไปได้ เช่น เศรษฐกิจ หรือการตลาดที่ผลัดเปลี่ยนทำให้สาขาที่เราเรียนกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์

หลายๆ สถานการณ์อาจจะเกิดผลด้านลบมากกว่าที่เราคาดคิด แต่เราควรหันกลับมาใส่ใจตนเอง ลองให้คะแนนความน่าเห็นใจของตนเองดูบ้าง มีกรณีศึกษาชิ้นหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมถูกสั่งให้เขียนถึงเรื่องที่ทำให้เสียใจ และเขาปรับตัวให้ลืมความเสียใจนั้นได้อย่างไร คำตอบก็คือ…ฉันเติบโตขึ้นจากผลของความเสียใจในครั้งนั้น

2.เรื่องดีๆ ที่ตามมาหลังจากการตัดสินใจครั้งนั้น และการหลีกเลี่ยงผลเสียคืออะไร

ความเสียใจจะทำให้เราโฟกัสอยู่กับผลด้านลบมากกว่าด้านบวก วิธีหนึ่งที่จะทำให้หายเสียใจได้คือการคิดมุมกลับปรับมุมมองเสียใหม่ อะไรคือข้อดีจากเรื่องที่เกิดขึ้น และอะไรคือข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้น

ซึ่งแน่นอนว่าคำถามแรกฟังดูเหมือนจะดีกว่าคำถามหลัง ลองมองหาผลลัพธ์ดีๆ ที่เกิดขึ้นจากเรื่องนั้น อย่างเช่น “บางทีฉันอาจจะแต่งงานไวเกินไป แต่ก็ดีที่ตอนนี้ฉันมีลูกที่น่ารักถึง 3 คนแล้ว” หรือ “ฉันได้รับเงินเดือนที่ไม่สูงมากพอ แต่มันก็ทำให้ฉันมี Work-life Balance”

3.เมื่อมองย้อนกลับมาสิ่งนี้จะบอกอะไรแก่เราถ้าเราทำหรือไม่ทำมัน

วิธีรับมือกับความเสียใจที่พอจะเป็นไปได้คือเราต้องแก้ไขอะไรบางอย่าง เช่น การเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ การกลับไปที่โรงเรียน หรือกลับไปแก้ไขปัญหา แต่ผลงานวิจัยก็ระบุว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการไม่หันกลับไปแก้ไขในสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีกแล้ว

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าอดีตที่ผ่านไปแล้วจะหมดหวังเสียทีเดียว เรื่องเสียใจของเราจะนำเราไปสู่การเสียใจที่น้อยลงในวันข้างหน้า อย่างเช่นว่าคุณอาจจะเสียใจที่ในอดีตไม่ได้อยู่กับคนที่คุณรัก มันพอจะมีทางไหนที่ทำให้คุณมีเวลาเพิ่มเพื่อจะได้อยู่กับพวกเขาได้บ้างมั้ย หรือคุณผิดหวังจากการที่ไม่ได้เป็นนักดนตรีตามที่คาด ก็ให้ถือเสียว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะได้ลงคอร์สเรียนเพิ่มเกี่ยวกับด้านดนตรี

     บางครั้งเราก็มัวจมอยู่กับการตำหนิตัวเองในอดีตจนลืมนึกถึงเรื่องอนาคต ลืมนึกถึงว่าไม่ว่าจะอย่างไรเราก็ต้องอยู่กับปัจจุบันจากสิ่งที่เราได้เลือกไปแล้ว ไม่มีใครที่ไม่เคยเผชิญกับเรื่องน่าเสียใจ ทุกๆ การตัดสินใจมักมีผลเสียตามมาเสมอ แม้แต้ในวิธีที่เราคิดว่าปลอดภัยที่สุด ส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเสียใจมากๆ คือการที่เราคิดว่าเราได้สูญเสียสิ่งที่มีค่าที่สุดไปแล้ว แต่เชื่อเถอะว่ามันจะมีประตูบานใหม่เปิดขึ้นมาเสมอ แล้วนั่นก็จะเป็นช่วงเวลาที่เราควรจะวางแผนชีวิตในอนาคต

SOURCE :www.tonkit360.com