แม้ไม่มีเรื่องการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ภาพรวมเศรษฐกิจไทยก็มีความ “เปราะบาง” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เมื่อไวรัสโคโรน่าแพร่กระจายเป็นวงกว้างออกไป ยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้น

เข้าสู่เดือนสุดท้ายของไตรมาสแรก คงพอเห็นภาพแล้วว่า “เศรษฐกิจไทย” ไตรมาสดังกล่าวเป็นอย่างไร มาถึงตรงนี้ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ต่างๆ ดู “เลวร้าย” เกินกว่าการ “คาดการณ์” ของหลายๆ สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจ ไม่มีใครคาดคิดว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” จะลุกลามขยายวงออกไป“ทั่วโลก” สิ่งที่ต้องติดตามในเวลานี้ คือ การรับมือของแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก หากกระทบจนเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้ชะลอตัวลงแรง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยก็คงหนักหนาสาหัสตามไปด้วย

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา “มูดี้ส์ อนาไลติกส์” เปิดเผยรายงานล่าสุด ประเมินว่า มีโอกาส 40% ที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้จะแพร่ระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก หากสถานการณ์เป็นไปตามที่ มูดี้ส์ อนาไลติกส์ ประเมินไว้ ก็มีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ยิ่งเวลานี้เศรษฐกิจโลกมีความ “เปราะบาง” เป็นทุนเดิมอยู่แล้วจากผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ความเสี่ยงใหม่ที่เข้ามานี้จึงเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจโลกเดินเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วขึ้น

ส่วน “เศรษฐกิจไทย” หากโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ก็ยากที่จะเลี่ยงภาวะดังกล่าวได้พ้น ยิ่งตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ม.ค.2563 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่งแถลงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ยังไร้สัญญาณการฟื้นตัว ทั้งที่การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” เพิ่งจะมารุนแรงในช่วงปลายเดือนเท่านั้น สะท้อนจากตัวเลขการท่องเที่ยวในเดือนดังกล่าวขยายตัวได้ 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ตัวเลขอื่นๆ ยังคง “หดตัว” ต่อเนื่อง

ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนชัดเจนสุดเพราะหดตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจาก “ดีมานด์” ทั้งในและต่างประเทศที่ชะลอตัว กำลังการผลิตยังเหลืออยู่มาก ประกอบกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ยังไม่ดีนัก ขณะที่การส่งออก แม้ภาพรวมจะขยายตัวได้ 3.5% แต่ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกทองคำ ซึ่งถ้าหักส่วนนี้ออกไป การส่งออกในเดือนดังกล่าว “หดตัว” ถึง 1.3% ส่วนการบริโภคภาคเอกชนซึ่งดูเหมือนจะดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ในเดือน ม.ค.2563 การขยายตัวเริ่มชะลอลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เครื่องชี้เหล่านี้สะท้อนว่า แม้ไม่มีเรื่องการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” เศรษฐกิจไทยโดยรวมก็มีความ “เปราะบาง” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ประเด็นที่น่ากังวลอย่างหนัก คือ เวลานี้การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในจีนเท่านั้น แต่กำลังลุกลามแพร่ขยายไปทั่วโลก ผลกระทบในเวลานี้จึงไม่จำกัดเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งหลายๆ ประเทศก็เริ่มเตือนถึงการเดินทางออกนอกประเทศ ที่สำคัญปัญหาเหล่านี้กำลัง “ลาม” ไปยัง “ภาคการผลิต” เพราะบางโรงงานไม่สามารถผลิตสินค้าได้ เนื่องจาก “ซัพพลายเชนโลก” หยุดชะงัก บริษัทเล็กๆ ที่มีสายป่านสั้น เริ่มปิดกิจการ ผลกระทบเหล่านี้กำลังส่งผ่านไปยังภาคการบริโภค ปัจจัยลบต่างๆ กำลังก่อตัวขึ้นเป็น “มหาพายุ” ที่เตรียมซัดกระหน่ำเศรษฐกิจไทย ถึงจุดนี้แต่ละบริษัทคงต้องหันมาถามตัวเองแล้วว่า เตรียมพร้อมรับมือหรือยัง!

SOURCE : www.bangkokbiznews.com