ฝุ่นควัน pm 2.5 ยังไม่จางหาย ปัญหาไวรัสโคโรน่าจากจีนก็ระบาดเข้าสู่ไทยจนวิกฤติ ยังไม่นับโจทย์ต่อไปเรื่องหมอกควันไฟป่าภาคเหนือที่จะตามมาอีกไม่นาน และปัญหาภัยแล้งที่หนักหนาที่สุดในรอบ 20 ปี ที่จะกระทบต่อระบบนิเวศ ความมั่นคงอาหาร ความยากจน และปัญหาสุขภาพต่อเนื่องกันไป นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของคลื่นปัญหาสิ่งแวดล้อม เพียงไม่กี่เรื่องก็สามารถโถมทับรัฐบาลจนกลายเป็นรัฐล้มเหลวยิ่งกว่าปัญหาการเมืองไหนๆ และบ่งชี้ถึงสภาพสังคมแตกสลายที่ขาดความพร้อมอย่างรุนแรงในการเผชิญและจัดการปัญหาร่วมกัน

เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนปัญหาอื่นๆ ตรงที่มันหาผู้ก่อการเดี่ยวๆ ไม่ได้ มันดำรงอยู่ในโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เมื่อเกิดผลกระทบแล้วจำกัดอาณาบริเวณผลกระทบได้ยาก มันสามารถส่งผลกระทบต่อสาธารณะที่แม้ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องให้รับภาระ และที่ร้ายที่สุดก็คือ หากมันเลยจุดสมดุลของระบบนิเวศธรรมชาติไปแล้ว มันฟื้นฟูกลับมาให้เหมือนเดิมได้ยาก แม้จะทุ่มทรัพยากรลงไปเท่าใดก็ตาม

กรณีฝุ่นควัน pm 2.5 ก็เป็นตัวอย่างของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อน ที่มาและผลกระทบของฝุ่นควันไม่ได้เพียงแค่การปล่อยควันจากรถยนต์ หรือการเผาอ้อย และการปล่อยฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจุดๆ แต่มันเป็นปฏิสัมพันธ์กันของต้นเหตุหลายปัจจัยที่อยู่ในพื้นที่และจากประเทศเพื่อนบ้าน เกิดขึ้นในระบบโครงสร้างผังเมือง ระบบขนส่งที่มีปัญหาต่อระบบอากาศ และเกิดขึ้นในสภาวะอากาศผันผวนจากสภาวะโลกร้อนที่เร่งปฏิกิริยาทุกอย่างให้รุนแรงขึ้น

การรับมือต่อความซับซ้อนเช่นนี้ ต้องอาศัยเจตจำนง ความพร้อม และความร่วมมือระดับสูงสุดของรัฐและสังคมไทย เสียแต่ว่า รัฐไทยในระบบรวมศูนย์อำนาจ และวางบทบาทเป็นโปรโมเตอร์ให้กลุ่มทุนชาติและข้ามชาติต่างๆ มาขับเคลื่อนตักตวงผลกระโยชน์นั้นล้มเหลวทางศักยภาพในการรับมือปัญหาไปนานแล้ว และยังปิดกั้นการมีส่วนร่วมต่อนโยบาย และกระบวนการจัดการร่วม (Commons) ของประชาชนที่จะร่วมมือจัดการปัญหาตนเอง

เรามาดูกันว่า วิธีคิดและวิธีจัดการของรัฐแบบไหนที่ทำลายศักยภาพจัดการปัญหา และอำนาจอันชอบธรรมของรัฐลงไปเอง และส่งผลต่อท่าทีของสังคมต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นอย่างไร

ตัวอย่างแรก ชาวบ้านริมน้ำแม่น้ำโขง 8 จังหวัดตั้งแต่เชียงรายมาถึงอุบลราชธานี ต่างเผชิญวิบากกรรมจากแม่น้ำโขงผันผวน เหือดแห้ง และท่วมฉับพลันมาตั้งแต่ปี 2552 พันธุ์ปลานานาชนิดที่เป็นแหล่งความมั่นคงอาหารได้หมดไป ขณะที่พื้นที่ริมตลิ่งที่เคยทำเกษตรได้ก็ต้องยุติลง ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงหลักและสาขาในประเทศจีน ลาว ปัจจัยดำรงชีพที่สูญหายนำไปสู่ความพังทลายเศรษฐกิจชุมชนบนฐานทรัพยากร และสร้างปัญหาสังคมต่างๆ ตามมา ทั้งๆ ที่แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่แต่ละประเทศมีสิทธิจัดการร่วมกัน รัฐบาลไทยเลือกที่จะไม่ทำอะไรกับประเทศต้นเหตุเหล่านี้ หรือจัดการกับหน่วยงานรัฐและเอกชนของไทยที่ไปร่วมทุนสร้างเขื่อนในลาวทั้งที่ไทยเป็นประเทศผู้ซื้อไฟฟ้า รัฐเลือกกระทำเพียงช่วยเหลือปลายเหตุบางจุด เช่น ขุดบ่อ สนับสนุนพันธุ์ปลา ส่งเสริมอาชีพ และอื่นๆ โดยที่ไม่คิดจะกู้แม่น้ำโขงให้กลับมา หรือบังคับความรับผิดชอบเอากับหน่วยงานรัฐและเอกชนไทยที่ข้ามพรมแดนไปสร้างปัญหาต่อลุ่มน้ำโขง ประชาชนโดยเครือข่ายชุมชนและประชาสังคมลุ่มน้ำโขงจึงต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อรัฐบาลจีน ลาว และกลุ่มผลประโยชน์ของไทยตามลำพัง และแสวงหาทางจัดการฟื้นฟูแม่น้ำโขงร่วมกันเท่าที่ทำได้ รัฐเลือกผ่อนปรนให้กับกลุ่มผลประโยชน์ด้านพลังงาน โดยทิ้งแม่น้ำโขงและชุมชนริมน้ำโขงที่ห่างไกลจากศูนย์กลางเศรษฐกิจของเมืองและอุตสาหกรรมไว้ข้างหลัง

กรณีการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็เช่นกัน ยามเมื่อสังคมตื่นตัวต่อปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ ระบบนิเวศ และเศรษฐกิจประชาชนอย่างรุนแรง ดังเช่น สารพาราควอต ไกลโฟเสต คลอไพริฟอร์ส รัฐไม่มีเจตจำนงที่จัดการปัญหา ไม่ว่าจะเป็นศึกษาข้อมูลผลกระทบให้ปรากฏ ยกเลิกการใช้สารเคมีโลกที่พิสูจน์แล้วว่ามีผลกระทบร้ายแรง และส่งเสริมเกษตรกรให้เปลี่ยนผ่านไปสู่การทำการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมีร้ายแรง ปล่อยให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ขาดธรรมาภิบาลทำหน้าที่จัดการปัญหา ผลก็เป็นที่คาดเดาได้ว่า คณะกรรมการฯ ไม่แบนสารเคมีร้ายแรงทั้งหมดทันที ปล่อยให้เรื่องยืดเยื้อ รอวันที่จะพลิกมติเพื่อรับรองการใช้สารเคมีต่อไป ยอมที่แลกสุขภาพของคนทั้งประเทศกับผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจสารเคมีที่เอาเกษตรกรที่รัฐไม่เข้าไปส่งเสริมให้ลดละเลิกสารเคมีร้ายแรงมาเป็นตัวประกัน

เพียงเรื่องนี้ก็บ่งบอกได้แล้วว่า รัฐล้มละลายในการดูแลสุขภาพประชาชนและหาทางเลือกการผลิตที่ยั่งยืนให้เกษตรกรแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของภาคประชาสังคมอย่างเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้ายแรง (Thai-PAN) และภาคีที่กลายเป็นสถาบันหลักสังคมในการติดตามตรวจสอบปัญหา ผลกระทบ เสนอทางออกทั้งระดับนโยบายและการจัดการ

ขณะที่ข่าวความตื่นตัวผลกระทบขยะพลาสติกต่อระบบนิเวศท้องทะเลเป็นที่ประจักษ์ เพราะประเทศไทยทิ้งขยะลงทะเลเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รัฐตื่นตัวรณรงค์ให้คนไทยลด ละ เลิกขยะพลาสติก จนสังคมไทยตื่นตัวอย่างมาก แต่นโยบายรัฐที่นำเข้าขยะจากต่างประเทศอย่างล้นเหลือก็เป็นภาวะย้อนแย้ง การจัดการขยะรัฐบ่งบอกได้ว่า รัฐเลือกที่จะจัดการปัญหาด้วยการรณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่เลือกที่จะไม่แตะต้องเชิงโครงสร้างหากกระทบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนที่เป็นสาเหตุใหญ่กว่า ทิศทางดังกล่าวทำให้ประชาชนเกิดความสับสน แม้ประชาชนจะปรับพฤติกรรมเรื่องขยะพลาสติกไปมาก แต่ขยะที่สร้างมลพิษยังคงเต็มบ้านเมือง เพราะรัฐเลือกที่จะไม่จัดการปัญหาเชิงโครงสร้าง

ปัญหาผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมก็เช่นกัน ชาวบ้านภาคตะวันออก ภาคกลางทั้งที่อยู่ริมฝั่งทะเล และเรือกสวนไร่นาสมบูรณ์ต่างต้องเผชิญมลภาวะอุตสาหกรรมอย่างหนัก ฝุ่นควัน pm 2.5 ที่คนกรุงเทพฯ เผชิญ ชาวบ้านชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร สมุทรปราการได้รับผลกระทบมานานแล้วจากโรงงานอุตสาหกรรมที่กระจายตัวแทรกไปในชุมชน หลายโรงงานใช้ถ่านหินลิกไนต์ที่สร้างมลพิษทางอากาศอย่างหนัก แต่แล้วรัฐบาลที่ควรมีบทบาทปกป้องสิทธิประชาชนในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีกลับปลดล็อคโดย พรบ.โรงงานอุตสาหกรรม 2562 ที่เอื้อให้โรงงานขนาดเล็กทั้งหลายไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม นั่นทำให้ประชาชนรู้สึกว่า เขาไม่ได้มีรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิในการดำรงชีพในสิ่งแวดล้อมที่ดีเลย ปล่อยให้เป็นเรื่องที่ประชาชนเผชิญปัญหาตามลำพัง

กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการติดตั้งหอสูงฟอกอากาศ จำนวน 1 ชุด บริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

จนมาถึงเรื่องฝุ่นควัน pm 2.5 ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ รัฐเลือกที่บรรเทาเหตุเล็กน้อย เช่น ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ประกาศปิดโรงเรียน แต่ไม่กล้าที่ใช้อำนาจรัฐเข้าแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เป็นตัวการหลักของปัญหาฝุ่นควัน ทำได้เพียงจัดการกับคนตัวเล็กตัวน้อย เช่น รัฐประกาศห้ามเกษตรกรเผาป่า เผาพื้นที่การเกษตรในฐานะแหล่งกำเนิดฝุ่นควันแหล่งหนึ่งแบบเด็ดขาด แต่ไม่นำพาที่จะประกาศห้ามธุรกิจอ้อยที่รับซื้อหรือส่งเสริมเผาไร่อ้อยอย่างเด็ดขาด ไม่กล้าที่จะประกาศให้อุตสาหกรรมต่างๆ หยุดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ไม่กล้าที่ประกาศควบคุมปริมาณรถยนต์ทั้งหมดในเขตเมือง ทั้งๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นควันเช่นเดียวกับการเผาพื้นที่เกษตร

ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าก็ดูจะเหมือนกัน คือ ไม่กล้าที่จะปิดกั้นไม่ให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามา หรือคุมธุรกิจท่องเที่ยวที่พึ่งพาทัวร์จีนทั้งหมด เพราะเกรงธุรกิจท่องเที่ยวจะเดือดร้อน เพียงเท่านี้ประชาชนก็หมดความหวังที่จะพึงพารัฐอีกต่อไปแล้ว

รัฐที่ล้มเหลว เป็นที่มาของเสียงก่นด่าของประชาชนอย่างรุนแรง เพราะมันสะท้อนถึงความสิ้นหวังที่จะมีคุณภาพชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่ถูกเผยอย่างล่อนจ้อนผ่านปัญหาสิ่งแวดล้อม

อะไรที่ทำให้รัฐไร้อำนาจในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ขาดพลังที่จะต่อรองกับอำนาจ ผลประโยชน์ต่างๆ เพื่อปกป้องสิทธิประชาชน แต่กลับถูกผลประโยชน์ของทุนต่างๆ กำกับไว้ได้ ปมปัญหาสำคัญอยู่ในวิธีคิดและโครงสร้างระบบรัฐราชการของไทยเอง

รัฐราชการไทยไม่สนใจที่จะเปิดพื้นที่ กลไกการหารือ เรียนรู้ และร่วมกันจัดการปัญหากับภาคประชาชนในปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาอื่นๆ อย่างเท่าเทียมกัน เห็นได้จากในขณะนี้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาฝุ่นควัน pm 2.5 และมีข้อเสนอต่างๆ มากมายในโลกโซเชียล แต่รัฐกลับไม่คิดจะเปิดเวทีปรึกษาหารือกับประชาชนเพื่อระดมความคิดเห็น ข้อเสนอเพื่อนำไปปรับปรุงระบบการจัดการอย่างจริงจัง ทำเพียงแค่ยืนยันว่ารัฐบาลทำแบบเดิมๆ ที่ไม่ได้ผลอย่างเต็มที่แล้ว

ผลจากการขาดกระบวนการปรึกษาหารือกับประชาชนทำให้รัฐขาดปัญญาที่จะจัดการปัญหา และขาดพลังทางสังคมจากประชาชนในการขับเคลื่อน กลไกรัฐที่ไม่มีสังคมกำกับนั้นง่ายต่อการที่อำนาจทุนและผลประโยชน์จะมาครอบงำ ตัวอย่างของการจัดการปัญหาทั้งเรื่องแม่น้ำโขง สารเคมีกำจัดศัตรูพืช อุตสาหกรรม ฝุ่น pm 2.5 และอื่นๆ ก็สะท้อนถึงการขาดอำนาจของประชาชนมากำกับรัฐ รัฐแทบไม่มีอำนาจอะไรไปต่อรองกับพลังของทุนที่เข้ามากำกับนโยบายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาได้เลย

นอกจากการรับฟังความคิดเห็น รัฐควรทำได้มากกว่านั้นคือ การสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวเรียนรู้ ออกแบบ พัฒนาทางเลือก และทดลองจัดการปัญหา ขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกันในระดับชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด หรือภูมิภาค รูปธรรม เช่น การจัดการทรัพยากรสาธารณะ ออกแบบผังเมือง ร่วมกันจัดการพื้นที่สาธารณะ ระบบขนส่ง ระบบอาหาร ระบบการศึกษา สาธารณะและอื่นๆ เพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่พวกเขาเผชิญ โดยรัฐหนุนทั้งทางนโยบาย กฎหมาย ทรัพยากร วิชาการ และการเชื่อมประสานความร่วมมือต่างๆ

แต่รัฐไม่เคยที่จะให้ประชาชนบริหารจัดการชีวิตสาธารณะของตนเองร่วมกันเลย ชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่จัดการป่าชุมชน ที่ทุ่มกายใจจัดการไฟไม่ให้เกิดควันไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากรัฐอย่างจริงจังเพราะถูกมองว่าผิดกฎหมาย กลุ่มเกษตรกรและผู้บริโภคที่ขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย ไม่เคยได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอจากภาครัฐให้สามารถดำเนินการจัดการพื้นที่ตนเองอย่างจริงจัง และไม่ได้รับความคุ้มครองจากธุรกิจสารเคมี ชุมชนที่ร่วมกันปกป้องฟื้นฟูสายน้ำต่างๆ ไม่ได้มีอำนาจรัฐมาช่วยให้เขาต่อรองกับโรงไฟฟ้า ท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ เพราะทั้งหมดล้วนเป็นโครงการที่รัฐผลักดัน รูปธรรม เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี ซึ่งประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมไม่มีพื้นที่จัดการตนเองและต่อรองกับรัฐและทุนได้เลย และหากประชาชนจะอารยะขัดขืนด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและปกป้องสิ่งแวดล้อมเอง ก็จะอาจถูกรัฐใช้กฎหมายเล่นงานได้ ดังเช่น ชาวบ้านที่ถูกรัฐจับกุมดำเนินคดีตามนโยบายทวงคืนผืนป่า หรือชาวบ้านที่ถูกฟ้องร้องจากการเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรม

ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากไม่มีกระบวนการให้ประชาชนได้ร่วมปรึกษาหารือ ถกแถลงเพื่อแสวงหาทางเลือกที่ยอมรับร่วมกัน สร้างพื้นที่ปฏิบัติการทางสังคม ออกแบบแนวทางการพัฒนา ทดลองจัดการปัญหา โครงสร้างการพัฒนาที่ผูกขาดโดยรัฐราชการไทยไม่เพียงทำลายศักยภาพของรัฐเองในการจัดการปัญหา ยังปิดกั้นประชาชนที่จะสร้างทุนทางสังคมในการเรียนรู้จัดการปัญหาของตนเอง

เราจึงมีแต่กลไกอำนาจที่เป็นรัฐแต่ในนาม แต่ไม่สามารถปกป้องสิทธิในสิ่งแวดล้อมของประชาชนได้ และมีสังคมที่แตกสลายจากการถูกปิดกั้นมาช้านาน จนไม่มีทุนทางสังคมที่จะลุกขึ้นมาร่วมจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาด้วยตนเอง เหลือแต่เพียงรัฐที่เมินเฉยและสังคมที่ก่นด่า สมรถนะของรัฐและสังคมเช่นนี้ไม่พร้อมจะเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาอื่นๆ ที่สลับซับซ้อนได้เลย

SOURCE : www.thaipublica.org