การนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพสำหรับ Startup ด้วย Pitch Deck

             “ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง” ในฐานะนักลงทุนนั้น การที่เขาจะตัดสินใจทุ่มงบประมาณไปกับอะไรซักอย่างนั้น เขาต้องศึกษาจนมีความมั่นใจว่าการลงทุนนั้นมีความคุ้มค่ามากพอที่จะลงทุน ในส่วนของ Start up เองก็ต้องการให้นักลงทุนสนใจและร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน แต่การที่จะเกิดการร่วมลงทุนร่วมกันได้นั้น Startup จำเป็นต้องมีความสามารถในการนำเสนอแผนงานให้นักลงทุนเกิดความประทับใจและสนใจที่จะร่วมลงทุน โดยหลักการนำเสนอแผนงานที่ดี หรือ Pitch Deck จะช่วยทำให้การสำเสนอแผนงานของเรามีความน่าสนใจขึ้น

            แล้ว Pitch Deck ที่ว่านี้คืออะไร? Pitch Deck เป็นเครื่องมือที่เราใช้ในการสื่อสารเพื่อสรุปให้ผู้ฟังเข้าใจธุรกิจของเราภายในระยะเวลาอันสั้น และมี Slide ไม่เกิน 13-15 หน้าขึ้นไป ซึ่ง Pitch Deck ที่ Startup ใช้นั้นมีหลายรูปแบบ โดยในแต่ละรูปแบบจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการนำเสนอ เช่น

             -      Pitch Deck ที่ใช้นำเสนอให้เหล่านักลงทุน (Investor Deck) ซึ่งจะต้องมีข้อมูลสนับสนุนที่เป็นตัวเลขเพื่อช่วยสร้างความชัดเจน และยังเป็นตัวที่บอกได้ด้วยว่าธุรกิจของคุณมีความน่าสนใจ

             -      Pitch Deck สำหรับสมัครเข้าโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการ Startup

             -      Pitch Deck นำเสนอลูกค้า Corporate (B2B)

             -      Pitch Deck นำเสนอเพื่อหา Co-Founder ร่วมทีม เป็นต้น

            สำหรับ Startup ที่ต้องการนำเสนอแผนงานการลงทุน เพื่อให้นักลงทุนมีความรู้ ความเข้าใจ และสนใจเข้าร่วมลงทุนทางธุรกิจ  หลักของ Pitch Deck จะช่วยทำให้การนำเสนอของ Startup มีความกระชับแต่คงไว้ซึ่งเนื้อหาใจความสำคัญ และไม่ยืดเยื้อเกินไปจนผู้ฟังรู้สึกเบื่อหน่ายที่จะฟังต่อ ในการทำ Pitch Deck นิยมใช้ Microsoft Power Point เพื่อจัดทำ Pitch Deck slides โดยมี 6 ขั้นตอน ที่จะทำให้การนำเสนอนั้นมีความน่าสนใจ ดังนี้

            Raw Startup : https://youtu.be/DkDg2svjkvE

 

  1. ดึงดูดความสนใจได้ตั้งแต่ 30 วินาทีแรก (Win the first 30 seconds) สิ่งแรกสุดในการทำ Pitch Deck นั่นก็คือการเปิดประเด็นให้น่าสนใจให้ได้ โดยเฉพาะใน 30 วินาทีแรกของการนำเสนอ ด้วยการใช้ชื่อเรื่องหรือประโยคเด็ดๆ มาสร้างความประทับใจ ทำให้ผู้ฟังของเรามีสนใจที่จะฟัง ซึ่งใน Slide หน้าแรกนี้ เราควรใช้รูปภาพหรือประโยคสั้นๆ มาดึงดูดใจผู้ฟัง
  2. นำเสนอปัญหาและการแก้ไข (Present the Problem and Solution) เนื้อหาสำคัญของการนำเสนอ คือการเล่าจุดเริ่มต้นของไอเดีย ซึ่งอาจจะเป็นที่มาของปัญหาที่คุณอยากจะแก้จนเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์นี้ และผลิตภัณฑ์ของคุณช่วยตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาอย่างไรก็ได้  ให้ผลิตภัณฑ์ใหม่มีความเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะนำเข้ามาช่วยตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้อย่างไร และแตกต่างหรือดีกว่าผลิตภัณฑ์อื่นอย่างไร การใช้ภาพหรือชาร์ตเข้ามาช่วยในสไลด์นี้จะทำให้การนำเสนอน่าสนใจขึ้น และหากมีผลิตภัณฑ์ต้นแบบหรือผลการทดลองใช้ในสไลด์นี้จะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจวิธีการแก้ไขปัญหาของคุณได้ดีขึ้น
  3. ทำให้เห็นว่าแผนงานน่าลงทุน (Make sure you' re investable!) สไลด์นี้ต้องเน้นให้เห็นถึงวิธีการสร้างรายได้ หรือที่มาของรายได้ของธุรกิจ อธิบายไปในสไลด์เลยว่า ใครบ้างที่จะเป็นลูกค้าของเรา และทำไมลูกค้าเมื่อเห็นสินค้าของเราแล้วเขาจะเต็มใจซื้อสินค้าของเรา  แน่นอนว่าสไลด์ส่วนนี้เป็นเรื่องของแผนการตลาด และการเงิน โดยอธิบายไปว่าเราจะเข้าถึงลูกค้าได้อย่างไร และรวมถึงการวิเคราะห์การแข่งขันในตลาด เพื่ออธิบายภาพของคู่แข่งในตลาดว่ามีอยู่กี่ราย เป็นใครบ้าง สินค้าของเราแตกต่างและดีกว่าอย่างไร  ยิ่งทำให้ผู้ฟังเห็นภาพการแข่งขันและเข้าใจคู่แข่งมากเท่าไรก็ยิ่งดีมากเท่านั้น เพราะทำให้ผู้ฟังแผนของเรามีความน่าเชื่อถือ พร้อมด้วยงบประมาณการลงทุน ผลตอบแทนจากการลงทุน ที่จะทำให้ผู้ฟังเกิดความสนใจที่จะร่วมลงทุนกับเรา
  4. มีเนื้อหาครอบคลุมครบถ้วน (Make sure you Cover Everything) ขั้นตอนต่อมาคือการที่เราต้องมั่นใจว่าเรามีข้อมูลทุกอยางที่จำเป็นครบถ้วนสำหรับผู้ฟังที่เป็นนักลงทุน โดยต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุน มีการวิจัยประกอบ มีการวิเคราะห์สถานการณ์ทั้งปัจจุบันและอนาคต เพื่อแสดงให้เห็นว่าแผนการของเรานั้นมีการคืนทุน ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวเป็นอย่างไร เพื่อให้แผนการลงทุนของเรามีความสมบูรณ์ น่าเชื่อถือ และสามารถสร้างผลตอบแทนได้จริงนั่นเอง สิ่งหนึ่งที่จะช่วยทำให้การนำเสนอแผนการลงทุนของเรามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น นั่นก็คือการแสดงหลักฐานให้ผู้ฟังเห็นผลงานเราอย่างชัดเจนที่สุด เนื่องจากก่อนที่นักลงทุนจะตัดสินใจลงทุนนั้น เขามักจะพิจารณาข้อมูลต่างๆ จากหลากหลายบริษัทก่อนตัดสินใจเลือก ดังนั้นในการนำเสนอ Pitch Deck ของเราควรแสดงให้เขาเห็นจุดเด่นของเรา และแผนงานให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพื่อทำให้ผู้ฟังเห็นภาพความแตกต่าง และการเจริญเติบโตของธุรกิจ
  5. เข้าใจหลักจิตวิทยาของการนำเสนอ (Understand The Psychology of a Pitch) สิ่งที่ Startup ต้องระวังเวลาไป Pitch คือ (1) Startup กำลังนำเสนอแผนงานต่อหน้าคนที่เราไม่รู้จัก แน่นอน เราก็ย่อมตื่นเต้น แต่ต้องระลึกเสมอว่า คนที่จะให้ทุนเราเขาเป็นนักธุรกิจ ที่ต้องการผลตอบแทนทางธุรกิจ และเขาต้องการความมั่นใจจากเราโดยที่เขาจะดูการนำเสนอของเราว่ามีความพร้อมและมั่นใจมากน้อยแค่ไหนด้วย (2) ในการนำเสนอแผนงานของเราต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง มีความเป็นไปได้สูง และทำให้ผู้ฟังรู้สึกตื่นเต้นที่จะอยากลงทุนด้วย และ (3) ในการสร้างความมั่นใจในการนำเสนอนั้น ตัว Startup เองก็ต้องมีการซ้อมการนำเสนอหรือซ้อมใหญ่มาก่อน เพื่อทำให้มีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังจะพูดมากขึ้น ต้องไม่ดูเป็นการท่องจำมากเกินไป และต้องเป็นการพูดที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด
  6. นำเสนอด้วยวิธีการแบบง่ายๆ (Use VERY simple slides!) ในการนำเสนอ Slide ที่ใช้นั้นไม่จำเป็นต้องมีการดีไซน์ที่โดดเด่นหรือมีองค์ประกอบเยอะเกิน เพราะจะทำให้ Slide ดูรก และไม่สบายตาสำหรับผู้ฟัง ในด้านการใช้ภาษานั้นควรใช้ภาษาง่ายๆสั้นๆ และการใช้รูปภาพประกอบที่เข้าใจได้ง่าย จะช่วยสร้างความน่าสนใจและน่าดึงดูดให้กับผู้ฟังของเราได้ดีกว่า

            สรุปในการนำเสนอ Pitch Deck ที่ดีต้องมีเนื้อหาที่ดี  มีข้อมูลครบถ้วน มีการใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ตรงประเด็น กระชับ และมีการเตรียมตัวให้พร้อมด้วยการฝึกพูดของ Startup ก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพื่อสร้างความมั่นใจในการนำเสนอแผนงานของเราแก่นักลงทุน