20 ธ.ค. 2562 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในปี 2563 กรมตั้งเป้าหมายในการเข้าไปติดตามผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ ที่ขายของผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊ค อินสตราแกรม ที่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้อง ประมาณ 1.7 แสนราย เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีผู้เสียภาษีไม่ถูกต้อง 1 แสนราย ที่ผ่านมาในจำนวนนี้ กรมได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความรู้ ติดตามให้มาเสียภาษีถูกต้องแล้ว กว่า 1 พันล้านบาท โดยในการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ปี 2562 ช่วงเดือน 1 ม.ค.- 31 มี.ค.2563 กรมขอให้ผู้ที่มีรายได้จากการขายของออนไลน์ มายื่นแบบเสียภาษีให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม

            ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมได้ตั้งกองสำรวจธุรกิจนอกระบบ เข้ามาติดตามการเสียภาษีออนไลน์ให้ถูกต้อง พร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยี ใช้ระบบเอไอเข้าไปตรวจสอบ และเครื่องมืออื่นๆ ทำให้รู้ข้อมูลว่ายังมีผู้ขายของออนไลน์เสียภาษีไม่ถูกต้องอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรมต้องการสร้างความเป็นธรรมกับผู้ที่มีหน้าร้านค้าขายเสียภาษีถูกต้องทำให้เกิดความได้เปรียบ และยืนยันว่า ถ้ามีรายได้ไม่ว่าจะขายของออนไลน์ หรือไม่ออนไลน์ ก็ต้องมีหน้าที่เสียภาษี กรมไม่เคยไปจับรายย่อยแค่ต้องการสร้างความเป็นธรรม 

            “ผู้ค้าออนไลน์ไม่ต้องห่วง กรมสรรพากรพร้อมช่วยที่จะทำให้ถูกต้อง หน้าที่ของกรมคือต้องไม่เปิดโอกาสให้คนที่หลบภาษี ได้ดีกว่าคนที่จ่ายภาษี ไม่อย่างนั้นประเทศไทยจะอยู่ไม่ได้ หลายประเทศในละตินอเมริกาที่มีปัญหาการคลัง เพราะคนหลบภาษีเยอะ หน้าที่เราคือต้องสร้างความเป็นธรรม”นายเอกนิติ กล่าว

            นายเอกนิติ กล่าวว่า ในการยื่นแบบเสียภาษีปี 2561 ที่ผ่านมา (ม.ค.-มี.ค.2562) มีผู้ยื่นแบบเสียภาษีรวม 10.7 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 10 ล้านราย โดยกรมตั้งเป้าหมายผู้ที่ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2562 คาดว่าจะเข้าสู่ระบบได้ไม่ต่ำกว่า 11 ล้านราย ส่วนหนึ่งก็มาจากรายได้ผู้ขายของออนไลน์ รวมทั้งกรมได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น ร่วมกับสตาร์ทอัพ เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระภาษี และนำดิจิทัลมาใช้ในการยื่นแบบทางอินเตอร์เน็ต ถ้ายื่นแบบครบ ไม่มีหลบเลี่ยง กรมจะคืนภาษีให้ทันทีภายใน 3 วัน ผ่านพร้อมเพย์ทั้งหมด 

            ทั้งนี้ นอกจากจะเข้าไปติดตามร้านค้าออนไลน์แล้วเพื่อเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการในประเทศแล้ว กรมจะให้ความสำคัญกับขายของออนไลน์ที่เป็นการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเตรียมยกเลิก ข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวท) 7% กับสินค้าที่สั่งซื้อออนไลน์และส่งไปรษณีย์เข้ามาจากต่างประเทศทุกชนิดราคาที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ที่ตอนนี้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เสียเปรียบมาก โดยปลัดกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดทางกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะมีผลภายในปี 2563

            ส่วนการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการที่มีรายได้จากธุรกิจการให้บริการระหว่างประเทศ กรมอยู่ระหว่างผลักดันร่างพระราชบัญญัติรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ที่จัดเก็บภาษีแวตจากการให้บริการในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาให้ความสำคัญเอง อยู่ระหว่างพิจารณารายมาตรา คาดว่าจะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและออกเป็นกฎหมายในปี 2563 มีผลบังคับใช้และจัดเก็บภาษีได้จริงในปี 2564 โดยกรมคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 4 พันล้านบาท

            สำหรับกฎหมาย e-Business ทำให้กรมมีอำนาจในการบังคับให้บริษัทต่างชาติที่มาให้บริการ เช่น เปิดให้ บริการดาวน์โหลดเพลง หนัง เกม หรือเป็นแพลตฟอร์มสำหรับขายสินค้าในประเทศไทย ต้องมาเสียมูลค่าเพิ่ม ให้ผู้ประกอบการต่างชาติต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในไทย จากการหารือบริษัทขนาดใหญ่พร้อมที่จะร่วมมือ แต่ขอให้มีกฎหมายออกมา มันจะช่วยสร้างความเป็นธรรมผู้ประกอบการไทย และหากมีการหลบเลี่ยงภาษี กฎหมายก็ให้อำนาจในการร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ ในการตรวจสอบการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ หรือ Exchange of Information เพื่อติดตามผู้ประกอบการต่างชาติมาเสียภาษีให้ถูกต้อง

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net