ประมาณ 250 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ เป็นเหมือนดอกไม้ที่ผลิบานเต็มที่ นับจาก พ.ศ.2501 จนถึงช่วงทศวรรษนี้ กรุงเทพฯ เติบโตขึ้นถึงประมาณ 16 เท่า ประชากรเพิ่มจาก 1.6 ล้านคนเป็น 5.6 ล้านคนใน พ.ศ.2559 และคาดว่าจะเพิ่มมากถึง 15.32 ล้านคนใน พ.ศ.2563 เนื่องจากยังมีประชากรแฝงอีกมากในกรุงเทพฯ รวมถึงยังมีการโยกย้ายของประชากรต่างจังหวัดเข้าสู่เมืองหลวงอย่างต่อเนื่อง

 การเติบโตของเมืองที่ไม่ได้มีการวางแผนระยะยาวเพื่อรองรับ ทำให้เป็นไปด้วยความไม่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมการตระเตรียมยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองจึงสมควรจะต้องวางล่วงหน้าอย่างน้อย 5-10 ปี ทั้งในด้านการจัดกาบริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ กฎระเบียบและข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน การปฏิรูปการครอบครองที่ดิน เป็นต้น อีกทั้งยังมีความท้าทายในด้านอื่นๆอีก เช่น ความปลอดภัย, สุขภาพ, ความยากจน และคุณภาพชีวิตของประชากร 

น้ำท่วมเพราะกรุงเทพฯ ดินทรุด ทุกปีจริงหรือไม่?

หนึ่งในเรื่องที่ท้าท้ายและเป็นเรื่องใหญ่ก็คือ กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่ม และในบางพื้นที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล แต่เดิมศักยภาพพื้นที่กรุงเทพนั้นเหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรมและการเป็นที่ราบรองรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเมื่อเกิดการแทนที่พื้นที่รับน้ำด้วยที่อยู่อาศัยและเมือง ทำให้ข้อกำหนดด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อการควบคุมการพัฒนาของเมือง

สาเหตุที่ทำให้กรุงเทพมหานคร ต้องกลายเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติการณ์อุทกภัยอยู่เสมอๆ อย่างนี้นั้น ก็เนื่องจากการมีภูมิประเทศที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำ ประกอบกับปัญหาแผ่นดินทรุดตัว อันเป็นผลมาจากการสูบน้ำบาดาลไปใช้จนทำให้น้ำใต้ดินนั้นขาดแคลน ชั้นดินไม่แน่น จนเกิดการทรุดตัว ซึ่งรู้หรือไม่? ว่ากรุงเทพฯ มีแผ่นดินทรุดตัวเฉลี่ยแต่ละปีถึงประมาณ มากกว่า 10 ซม. ต่อปี เชียวนะคุณ ในขณะเดียวกัน น้ำทะเลกลับมีทีท่าว่าจะหนุนมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะช่วงหลังตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 มานี้ มีอัตราขึ้นอยู่ที่ 4.1 มิลลิเมตรต่อปี

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ทำการสำรวจพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำบาดาล (ซึ่งมีนัยยะว่าน้ำบาดาลในใต้ดินนั้นเหลือน้อยเต็มที่ อันเป็นที่มาของการเกิดดินทรุด) โดยไล่เรียงข้อมูลกันตั้งแต่ีปี พ.ศ.2521-2551 หรือรวมเป็นเวลา 30 ปีกันเลยทีเดียว โดยใช้วิธีการสำรวจผ่าน หมุดหลักฐานสถานีวัดแผ่นดินทรุด ซึ่งผลก็ปรากฎว่า ทำเลที่มีขนาดการทรุดตัวของพื้นดินสะสมมากที่สุด ได้แก่ เขตบางกะปิ ซึ่งมีการทรุดตัวสะสมถึงประมาณ 1.2 เมตรกว่าๆ และพื้นที่ที่มีการทรุดตัวของพื้นดินสะสมน้อยที่สุด คือจังหวัดนนทบุรี และมีอัตราการทรุดตัวโดยเฉลี่ยทั้งพื้นที่โดยรวมไม่เกิน 1 ซม. ต่อปี (ข้อมูลจาก กรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย)

            แต่ถึงแม้ข้อมูลเชิงสถิติจะปรากฎให้เห็นชัดเจนว่ากรุงเทพฯ ต้องประสบกับปัญหาดินทรุดมาอย่างต่อเนื่องหลายปี แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆแล้ว พื้นผิวดินของกรุงเทพฯในบางพื้นที่ อยู่ต่ำกว่าระดับแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 2 ซ.ม. มาตั้งนานแล้ว เพราะฉะนั้นจะเหมารวมว่าที่กรุงเทพฯ ต้องเจอปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในวันฝนตกหนักนั้นเกิดจากแผ่นดินทรุดก็คงจะไม่ได้ แล้วสาเหตุอื่นของการเกิดน้ำท่วมมาจากอะไร?

ขยะและน้ำเสีย สัมพันธ์กับความเสี่ยงด้านอุทกภัย

      ถึงแม้หน่วยงานบริหารจัดการระดับท้องถิ่นอย่างเทศบาล จะมีการรณรงค์ให้มีการจัดการขยะอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2548 ตัวเลขของขยะในเมืองและในกลุ่มอุตสาหกรรมเบามีการเติบโตรวดเร็วจนน่าตกใจจาก 7,000 ตันต่อวันใน พ.ศ.2536 เพิ่มมาเป็น 8,800 ตันต่อวันใน พ.ศ.2558 และคาดว่าจะเพิ่มถึง 11,500 ตันในปี 2568 ซึ่งทำให้เกิดปัญหาขยะอุดตันหรือปนเปื้อนตามแหล่งน้ำต่างๆ ตามมา

            เนื่องจากความเป็นเมืองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของกรุงเทพ ทำให้การไหลผ่านของน้ำที่เอ่อจากแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงมรสุมนั้นเป็นไปอย่างล่าช้า เมื่อมีมรสุมหรือฝนตกติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจึงทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว โดยกรุงเทพผ่านเหตุการณ์อุทกภัยแบบนี้มาหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518, 2520, 2521, 2526, 2538 และล่าสุดใน พ.ศ.2554

จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ทำให้เห็นบทเรียนที่ชัดเจนอย่างมากในด้านการบริหารจัดการหลังภาวะอุทกภัย โดยหลายชุมชนที่มีการทำงานร่วมกันทั้งในกระบวนการเตรียมการและการป้องกัน ซึ่งชุมชนเหล่านี้นั้นสามารถฟื้นสภาพได้อย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันในเขตพื้นที่เมืองที่มีความหลากหลายและมีขนาดพลวัตรที่ใหญ่ ไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างง่ายดาย ทำให้เกิดความเสียหายในระดับที่แผ่ขยายในวงกว้าง โดยอย่างยิ่งในธุรกิจประเภทการผลิต มีสัดส่วนความเสียหายถึง 82% เลยทีเดียว

            และหากจะถามว่ากรุงเทพฯ นั้นเปราะบางแค่ไหนในวันฝนตก จากสถิติปริมาณน้ำฝนในสถานีระบายน้ำเมื่อวันฝนตกหนักที่ผ่านมา สามารถระบุได้ว่า หากมีปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 100-120 มิลลิเมตร เพียงเท่้านี้ก็สามารถทำให้เกิดน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯภายใน 15 นาที และหากมีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 140 มิลลิเมตร ก็จะทำให้น้ำท่วมขังต้องรอการระบายไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง - เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน

TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก