25 มี.ค. 2562 นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายแผลการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผยว่าโครงการรถไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาจราจรในเมืองหลวง ทว่ารูปแบบการขนส่งดังกล่าวมีราคาที่สูงมากเมื่อเทียบกับระบบขนส่งรถเมล์จนอาจเป็นภาระของประชาชน 


          อย่างไรก็ตามสนข.จึงมีแนวคิดมาตรการจูงใจให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้าเตรียมเสนอให้รัฐบาลพิจารณา โดยกำหนดให้ค่ารถไฟฟ้าสามารถใช้ลดหย่อนภาษีหรือหักภาษีได้ ในกรณีที่เป็นบริษัทเอกชนหากมีค่าเดินทางรายเดือนให้พนักงานนั้นสามารถนำค่ารถไฟฟ้าในส่วนดังกล่าวมาหักภาษีได้ เช่นเดียวกับพนักงานทั่วไปหรือข้าราชการต้องมีสิทธิพิเศษค่ารถไฟฟ้าในทำนองเดียวกัน 


          อย่างไรก็ตามแนวทางนี้ถือว่าเป็นการวิน-วินทุกฝ่าย ทั้งลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ส่วนรัฐบาลได้แก้ปัญหารถติด ลดจำนวนรถบนถนนและไม่เป็นภาระของภาคเอกชนอีกด้วยนอกจากนี้ในอนาคตควรคิดโปรโมชั่นส่งเสริมให้คนมาใช้โดยรัฐบาลเป็นคนออกเงินสนับสนุน(Subsidy) เช่นการเปิดให้ทดลองใช้รถไฟฟ้าฟรีในเส้นทางที่เปิดให้บริการในช่วงแรก ตลอดจนการลดราคา 5-10 บาท เพื่อกระตุ้นยอดผู้ใช้ 


          นายสราวุธกล่าวต่อว่าตนเชื่อว่าการควบคุมราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลคิด เช่นเดียวกับรัฐบาลใหม่ในอนาคตที่จะส่งเสริมเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นพรรคใด เพราะถ้าต้องการส่งเสริมให้คนใช้มันก็ต้องมีข้อแลกเปลี่ยนหรือสิทธิพิเศษมาเสนอเพื่อให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ทั้งนี้หากมีมาตรการส่งเสริมดังกล่าวแล้วเชื่อว่าสัดส่วนผู้ใช้รถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันคิดเป็น 3-4% ของสัดส่วนทั้งหมด หากรถไฟฟ้าเฟส 1 แล้วเสร็จจะเพิ่มเป็น 10% จากนั้นขยายสัดส่วนเป็น 15% เมื่อรถไฟฟ้าเฟส 2 แล้วเสร็จ ทั้งนี้ในอนาคตจะมีพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบร่วม หรือ พรบ.ตั๋วร่วม พศ.... และมีเรื่องของกติกาการคิดค่าโดยสารร่วม (Common Fare) ของระบบตั๋วร่วม (บัตรแมงมุม) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางของประชาชน 

          แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่าแนวทางดังกล่าวคงไม่ยากเกินไปเนื่องจากทุกวันนี้รัฐบาลเทงบประมาณไปกับการก่อสร้างและซ่อมแซมถนนปีละไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท แต่กลับยังไม่มีงบสนับสนุนระบบขนส่งรถไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพซึ่งถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในลำดับต้นๆ เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถลดภาระงบประมาณแผ่นดินในส่วนที่ไม่จำเป็นเพื่อมาสนับสนุนเรื่องนี้ได้ 

          ทั้งนี้จากกานศึกษาพบว่า ระบบรถไฟฟ้ามีอัตราค่าใช้จ่ายมากที่สุด คิดเป็นค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2,500 บาท/เดือน รองลงมาคือรถตู้สาธารณะ มีค่าเฉลี่ยที่ 2,100 บาท/เดือน ต่อมา คือเรือด่วนคลองแสนแสบ มีค่าเฉลี่ยที่ 1,700 บาท/เดือน ส่วนด้านรถเมล์ปรับอากาศอยู่ที 1,400 บาท/เดิอน และรถเมล์ไม่ปรับอากาศ 1,200 บาท/เดือน เช่นเดียวกันกับอัตราค่าโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,200 บาท/เดือน
 

ขอบคุณข้อมูลจาก  www.thaipost.net