อยากลดความอ้วน อยากเลิกกินฟาสต์ฟู้ด อยากออกกำลังกาย อยากใส่ใจสุขภาพให้มากขึ้น ฯลฯ คือปณิธานชีวิตดีที่เรามักตั้งกันไว้แต่ทำไม่ได้ ก็คลาสโยคะมันไม่ตรงกับวันว่าง ก็จะดูซีรีส์ให้ฟินมันต้องกินไปด้วย ก็เดือนนี้เพื่อนไม่ว่างมาเตะบอลพร้อมกัน ก็กินฟาสต์ฟู้ดมันง่ายดี…

แต่ก็นั่นแหละ สักพักเราก็จะตั้งปณิธานเดิมใหม่ แล้วก็ล้มเหลวใหม่อีกครั้งหนึ่ง

แน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงเราที่เต็มไปด้วยข้ออ้างของความล้มเหลวแต่ก็พร้อมจะเริ่มต้นใหม่ หากจะชำแหละพฤติกรรมเหลาะแหละนี้ด้วยคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ ก็ต้องบอกว่ามนุษย์ทุกคนมีโปรแกรม ‘Affective Forecasting’ ติดตั้งอยู่ในสมองกันทั้งนั้น ซึ่งเจ้าโปรแกรมนี้จะทำให้เราคาดการณ์ความรู้สึกของเราต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่เป็นการคาดการณ์จากอคติปูมหลังของตัวเองล้วนๆ (และส่วนใหญ่มักจะเข้าข้างตัวเอง) ซึ่งการได้เฝ้าคิดว่าหากเราลดความอ้วนได้ หากเราร่างกายฟิตเฟิร์ม หากเรามีชีวิตดีงาม มันคงดีมากๆ เลยเนอะ กลายเป็นช่วงเวลาที่บรรจุความรู้สึกดีเติมเต็มใจ ในขณะที่เมื่อถึงคราวลงมือทำ การพยายามเปลี่ยนแปลงนิสัยและความเคยชินมันช่างเต็มไปด้วยความยากเย็น ไม่เห็นมีความสุขเหมือนตอนวาดหวังเลย เราจึงยอมล้มเหลวแต่ไม่เคยคิดที่จะหยุดฝันตามเหตุที่ว่ามานั่นเอง

แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง เราสามารถเอาชนะความเคยชินได้เหมือนกันถ้ารู้เท่าทันการทำงานของสมอง อธิบายอย่างง่าย นิสัยคือสิ่งที่เราทำไปโดยไม่ต้องคิดหรือชั่งใจ เซลล์ประสาททำงานเชื่อมต่ออัตโนมัติไม่ต้องผ่านการคิดวิเคราะห์ แต่พอตั้งใจจะลดความอ้วน เราต้องวิเคราะห์ว่ากินเฟรนช์ฟรายไม่ดีใช่ไหม ลดแป้งดีกว่า อย่ากินน้ำตาลเยอะ ฯลฯ ทุกอย่างใช้ระบบประสาทส่วนเหตุและผล ไม่ใช่ประสาทส่วนกำหนดความเคยชิน พฤติกรรมดีต่อสุขภาพทั้งหลายที่ตั้งปณิธานไว้จึงไม่เคยซึมเอาไปในเส้นประสาทเหล่านั้น และหากวันใดใจอยู่เหนือเหตุผล ทุกอย่างก็ล้มครืน!

คำแนะนำขวานผ่าซากก็คือ Don’t Think, Just Do กล่าวคือไม่ต้องคิด ไม่ต้องรู้สึก ไม่ต้องหาเหตุผล ทำๆ ไปเดี๋ยวสมองจะเซ็ตระบบใหม่รองรับเอง แต่เอาเข้าจริงมันก็นามธรรมซะจนชวนให้ล้มเหลวอีกครั้ง จึงขอแถมวิธีจาก B.J. Fogg ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีพฤติกรรมมนุษย์ และ Charles Duhigg นักเขียนรางวัลพูลิซเซอร์ผู้ถ่ายทอดวิธีเปลี่ยนนิสัยในรูปแบบหนังสือ ซึ่งเราว่า วิธีเหล่านี้น่าจะเป็นแนวทางที่ประนีประนอมระหว่างสมองกับหัวใจได้ดีเลยแหละ

3 สเต็ป สำหรับสตาร์ทนิสัยใหม่

สเต็ปที่ 1 : เล็ก ง่าย ทำได้จริง

เป้าหมายประเภทอยากลดความอ้วน อยากออกกำลังกาย อยากกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมันแอ๊บสแตรกต์เกินไปน่ะ เพราะมันกว้างจนชวนให้ต้องคิดเสมอว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่ถ้ากำหนดไว้เลยว่า ห้ามกินเฟรนช์ฟรายด์เด็ดขาด ไม่ใช้บันไดเลื่อน ยังไงก็ต้องกินมื้อเช้า วิ่งรอบสวนสองรอบ แล้วทำให้ได้ โอกาสสำเร็จจะง่ายดายขึ้น

สเต็ปที่ 2 : เพิ่มเติมอีกนิด

หลังจากเป้าหมายเล็กๆ เริ่มเข้าที่ ให้เพิ่มสารกระตุ้นด้วยโจทย์ข้อใหม่ๆ ที่ต่อคิวจากพฤติกรรมเดิม เช่น วิ่งรอบสวน 2 รอบได้แล้ว ให้ท้าทายตัวเองให้วิ่งต่ออีก 10 นาที วิ่งสองรอบได้แล้ว ลองเดินไปซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้สวนซื้อวัตถุดิบไปทำมื้อเช้าดีๆ สมองจะเสพติดสารกระตุ้นนี้และสั่งให้เราอยากทำมันต่อไป

สเต็ปที่ 3 : ต้องทำให้ได้ใน 3 วัน 7 วัน

รีบทำให้พฤติกรรมเหล่านี้ ‘ง่าย’ ภายในสัปดาห์แรกที่เริ่มต้น เพื่อให้สมองสนองตอบเงื่อนไขที่วางไว้และบรรจุเป็นพฤติกรรมใหม่ได้อย่างราบรื่นและไม่กลับมาล้มเหลวเหมือนที่ผ่านๆ มา

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th