กลายเป็นกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์ขึ้นมาทันที เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการผลักดัน “ร่างพระราชบัญญัติการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. …” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ภาษีลาภลอย” แม้กระบวนการจากนี้ยังต้องรอการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ และไม่แน่ชัดว่าจะบังคับใช้เมื่อใด แต่ก็ทำเอาทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ล้วนเต็มไปด้วยคำถามมากมาย เพื่อไขทุกข้อข้องใจ สลายทุกคำถาม ลองไปทำความรู้จัก “ภาษีลาภลอย” ผ่าน 4 คำถามต่อไปนี้

ภาษีลาภลอยคืออะไร?

          ภาษีลาภลอย หรือ Windfall Tax เป็นภาษีที่เก็บจากผู้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ยกตัวอย่างเช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้น หรือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ทำให้ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น แต่รัฐบาลยังไม่สามารถจัดเก็บรายได้ดังกล่าวได้

          ความจริงแล้วก็ไม่ใช่ภาษีที่เกิดขึ้นใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นภาษีที่มีบังคับใช้ในต่างประเทศมานานแล้ว ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส โปแลนด์ ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ศึกษาและอาจตัดสินใจเก็บภาษีลาภลอยเพิ่มขึ้น เพื่อนำเงินส่วนนี้มาพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่ต้องใช้เงินในการลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยเงินภาษีที่จัดเก็บได้จากภาษีลาภลอยจะถูกส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ ซึ่งจะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ซึ่งจะนำไปใช้ในโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐอื่น ๆ ต่อไป

อสังหาริมทรัพย์ใดที่เข้าข่ายโดนจัดเก็บภาษีลาภลอย?

          หนึ่ง คือ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอจำหน่าย ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่รอบพื้นที่ที่มีการพัฒนาของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน พื้นที่จัดเก็บภาษีในรัศมี 2.5 กิโลเมตร รอบสถานี, โครงการท่าเรือ พื้นที่จัดเก็บภาษีในรัศมี 5 กิโลเมตร จากแนวเขตที่ดินของท่าเรือ, ทางด่วนพิเศษ พื้นที่จัดเก็บภาษีในรัศมี 2.5 กิโลเมตร รอบทางขึ้น-ลง และสนามบิน พื้นที่จัดเก็บภาษีในรัศมี 5 กิโลเมตร จากแนวเขตห้ามก่อสร้างของสนามบิน โดยเก็บจากการขายหรือเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือห้องชุดทุกครั้ง ส่วนนี้ให้กรมที่ดินเป็นผู้จัดเก็บ

          สอง คือ ที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท จะดำเนินการเก็บภาษีในปีถัดไปเมื่อโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ และจะจัดเก็บเพียงครั้งเดียว โดยเบื้องต้นกำหนดจะอัตราการจัดเก็บที่ 5% ของมูลค่าที่เพิ่มขึ้น โดยจัดเก็บจากมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังจากมีโครงการลงทุนของรัฐ โดยจัดเก็บครั้งเดียวสำหรับผลประโยชน์ที่ได้เพิ่มขึ้น และจัดเก็บต่อเมื่อมีการเปลี่ยนมือแล้วเท่านั้น

ใครคือผู้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีลาภลอย?

          เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนจำนวนมาก จึงยกเว้นการจัดเก็บภาษี กรณีที่ดินที่ใช้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย และที่ดินทำเกษตรกรรม และจะยกเว้นห้องชุดที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นผู้จำหน่าย หรือห้องชุดที่ยังไม่ได้จำหน่ายหลังโครงการพัฒนาของรัฐแล้วเสร็จ โดยให้คำนวณส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นของมูลค่าห้องชุด และจัดเก็บภาษีเพียง 20% ของส่วนต่างมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจริงหลังการพัฒนาโครงการของรัฐแล้วเสร็จ ซึ่งมูลค่าที่ดินและห้องชุดจะใช้ราคาประเมินแบบเดียวกับที่กรมที่ดินใช้อยู่

ทำไมต้องเก็บภาษีลาภลอย?

          ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการดำเนินการเข้าไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านคมนาคมขนส่ง ซึ่งมีมูลค่าค่อนข้างมาก ประกอบกับเมื่อโครงการรถไฟฟ้าแล้วเสร็จจะส่งผลให้ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์บริเวณรอบมีมูลค่าสูงขึ้น ดังนั้น จึงต้องออกกฎหมายเพื่อให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินหรือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับประโยชน์จากส่วนต่าง โดยนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีลาภลอยมาใช้ในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของทางภาครัฐต่อไป

          ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริกา มีวิธีการจัดเก็บภาษี ลาภลอย คือ หักรายได้ภาษีส่วนที่เพิ่มขึ้นจากโครงการพัฒนาของรัฐมาลงทุนโครงการ หรือที่เรียกว่า Tax Increment Financing (TIF) เป็นระยะเวลา 20-40 ปี ตามประเภทโครงการ ส่วนอังกฤษใช้วิธีเรียกเก็บภาษีเพิ่มในระยะเวลา 30-40 ปี ตามประเภทโครงการ ในอัตรา 2% ของค่ารายปีจากภาษีทรัพย์ที่ปกติเก็บ 48% ของค่ารายปี

          อย่างไรก็ตาม ภาษีลาภลอยฉบับนี้ยังคงมีบางประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป และยังมีรายละเอียดที่ต้องศึกษากันอีกมาก เพื่อไม่ให้สุดท้ายแล้วผลระทบมาตกอยู่กับผู้บริโภคที่ต้องซื้อบ้านในราคาที่แพงขึ้น