ดัชนี ตลาดหุ้น ทั้งของไทยและต่างประเทศต่างก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของแต่ละช่วงเวลาในหนึ่งปีนั้นส่งผลกระทบต่อดัชนีราคาในลักษณะที่แตกต่างกัน และประเด็นเหล่านี้ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงของนักลงทุนว่าเราจะสามารถรู้ทันหรือสร้างประโยชน์จากข้อมูลด้านเวลาหรือฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร

จากการวิจัยและการวิเคราะห์ข้อมูลของเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ทำให้เกิดการสรุปผลการวิเคราะห์เป็นทฤษฎีต่าง ๆ ซึ่งช่วยสามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นหรือดัชนีตลาดหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในแต่ละช่วงเวลาได้ในระดับหนึ่ง

ผลกระทบต่าง ๆ ในตลาดหุ้น

January Effect , December Effect และ Santa Claus Rallies

ทั้งสามปรากฏการณ์นี้ค่อนข้างจะมีความใกล้เคียงกัน โดยสิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือ December Effectซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ก่อนและหลังเทศกาลคริสต์มาสโดย ตลาดหุ้น จะปรับตัวลดลง จากเหตุผลที่นักลงทุนส่วนมากจะขายหุ้นออกมาในช่วงก่อนสิ้นปีเพื่อรับรู้ผลประกอบการการลงทุนสำหรับปีนั้น ๆ และยังเป็นการทำเพื่อลดภาษีที่ต้องจ่ายอีกด้วย ต่อมาคือ January Effect คือการฟื้นตัวของ ตลาดหุ้น ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม เกิดจากการซื้อคืนของนักลงทุนที่ขายหุ้นไปตอนช่วงปลายปี ซึ่งในบางครั้งนั้นลักษณะของผลกระทบนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงก่อนสิ้นปีจากการเก็งกำไรของนักเก็งกำไรใน ตลาดหุ้น ทำให้เกิดเป็นเหตุการณ์ Santa Claus Rally ในช่วงปลายเดือนธันวาคม แต่ผลกระทบนี้จะไม่รุนแรงเท่ากับ January Effect

September Effect

จากสถิติของ ตลาดหุ้น อเมริกานั้นเดือนกันยายนมักเป็นเดือนที่ดัชนีทำจุดต่ำสุดในรอบปี แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเสมอไปขึ้นอยู่กับแนวโน้มทิศทางของตลาดหุ้นในขณะนั้นด้วย คำอธิบายสำหรับ September Effectคือในช่วงปลายของฤดูร้อนจะตามมาด้วยวันแรงงานในวันจันทร์แรกของเดือนกันยายนซึ่งเป็นวันหยุด ส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลงในเดือนกันยายนและเดือนนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของไตรมาสที่สามซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจมักจะอ่อนแอที่สุดในรอบปี แต่หลังจากผ่านช่วงนี้ไปเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะเริ่มมากขึ้นเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วง High-Season ตอนปลายปี

Turn of the Month

จากข้อมูลในอดีตในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาของตลาดหุ้นทั่วโลก วัฏจักรของดัชนีตลาดหุ้นภายในหนึ่งเดือนนั้น ดัชนีมักจะสูงที่สุดในช่วง 2-3 วันแรกของเดือนและในช่วงปลายเดือน แต่จะปรับตัวลงต่ำที่สุดในช่วงกลางเดือน ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการการดำเนินงานของกองทุนรวมต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนประเภท LTF หรือ RMF โดยที่กระแสเงินของผู้ลงทุนนั้นมักถูกนำไปลงทุนผ่านกองทุนรวมภายในช่วง 6-8 วันจากช่วงท้ายของเดือนหนึ่งไปถึงช่วงต้นของอีกเดือนหนึ่ง ทำให้ในช่วงนั้นเกิดแรงซื้อหุ้นจากกองทุนค่อนข้างมาก แต่ผลจากการซื้อหุ้นของกองทุนรวมยังไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ Turn of the Month นักวิจัยบางคนได้สันนิษฐานว่าแรงซื้อของนักลงทุนส่วนหนึ่งเป็นผลทางจิตวิทยา จากการที่คนมักจะรู้สึกถึงความมั่งคั่งและมีการจับจ่ายใช้สอยในช่วงต้นและปลายเดือนมากกว่าช่วงกลางเดือน

Turn of the Quarter

เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ Turn of the month เหตุการณ์นี้มีความล้ายคลึงกันด้านช่วงเวลา โดยตลาดหุ้นจะมีความคึกคักและปรับตัวขึ้นในช่วงปลายไตรมาส นอกจากนี้ยังมีผลจากการกระทำอีกอย่างของกองทุนที่เรียกว่า "Window Dressing" เข้ามาช่วยเสริม โดยผู้จัดการกองทุนแต่ละกองทุนซึ่งมีหน้าที่ต้องรายงานรายละเอียดกิจกรรมการดำเนินงานและผลประกอบการของกองทุนเป็นรายไตรมาส มักจะซื้อหุ้นที่มีผลประกอบการดีในช่วงไตรมาสนั้น ๆ เข้ามาในกองทุน เพื่อที่จะทำให้พอร์ตการลงทุนของตนมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยการกระทำเหล่านี้สามารถสร้างผลกระทบให้กับดัชนีตลาดหุ้นค่อนข้างมาก เพราะจำนวนเม็ดเงินลงทุนของกองทุนนั้นถือว่าสูงเมื่อเทียบกับผู้ลงทุนรูปแบบอื่น การทำ Window Dressing นั้นถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ค่อนข้างเข้าข่ายผิดจรรยาบรรณ ผู้จัดการกองทุนที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่จะไม่กระทำสิ่งเหล่านี้ แต่ก็มีความเชื่อว่ามีการกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นค่อนข้างแพร่หลายในตลาดทุน

Blue Monday

เป็นที่รู้กันว่าวันจันทร์หรือวันเริ่มต้นการทำงานของสัปดาห์นั้นเป็นวันที่คนขาดความกระตือรือร้นมากที่สุดทั้งในทางจิตวิทยาและทางสถิติของตลาดหุ้น จากการวิจัยข้อมูลย้อนหลังของตลาดหุ้นอเมริกาในช่วง 30 ปีย้อนหลัง อัตราผลตอบแทนรายวันเฉลี่ยของวันอังคารถึงวันศุกร์นั้นอยู่ระหว่าง 0.4% ถึง 0.8% ในขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อวันของวันจันทร์อยู่ที่ -1%

ปัจจัยอื่น ๆ ใน ตลาดหุ้น ไทย

ผลประกอบการและการจ่ายปันผล

            บริษัทจดทะเบียนใน ตลาดหุ้น นั้นจำเป็นต้องส่งข้อมูลชี้แจงสรุปผลประกอบการในทุกไตรมาส เพื่อแจ้งความเคลื่อนไหวของบริษัทให้ผู้ลงทุนและตลาดหลักทรัพย์ จึงทำให้เกิดการเก็งกำไรหรือมีแรงซื้อหุ้นจากความคาดหวังต่อผลประกอบการของบริษัทที่น่าจะดีเข้ามาในช่วงการประกาศผลประกอบการในแต่ละไตรมาสได้ นอกจากนี้ยังมีแรงซื้อจากนักลงทุนในลักษณะใกล้เคียงกันสำหรับการประกาศจ่ายเงินปันผลของบริษัท เพราะการประกาศจ่ายเงินปันผลของบริษัทนั้นจะช่วยสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัทและยังสร้างผลตอบแทนจากเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นอีกด้วย โดยการเก็งกำไรในลักษณะนี้มักจะเกิดในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จะประกาศจ่ายเงินปันผล

Commodity Price

            สินค้าโภคภัณฑ์โดยทั่วไปแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย สินค้าด้านพลังงาน, โลหะอุตสาหกรรม, โลหะมีค่า, สินค้าเกษตร และ สินค้าปศุสัตว์ ซึ่งราคาของสินค้าเหล่านี้มักจะมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าค่อนข้างเร็ว เช่น ราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวขึ้นทันทีที่มีข่าวว่ากลุ่มโอเปคลดกำลังการผลิต หรือมีข่าวว่าฤดูหนาวยาวนานทำให้มีความต้องการพลังงานมากขึ้น ในทำนองเดียวกัน ราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว จะปรับตัวขึ้นทันทีที่มีข่าวว่าประเทศผู้ผลิตข้าวประสบภาวะแห้งแล้ง ทำให้มีผลผลิตน้อยกว่าที่คาด เมื่อพูดถึงผลกระทบที่เกิดกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นนั้นราคาสินค้าโภคภัณฑ์แต่ละประเภทก็จะทำให้เกิดแรงซื้อขายระยะสั้นต่อบริษัทซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินค้านั้น ๆ ทั้งจากการเป็นสินค้าขายหรือใช้เป็นสินค้าต้นทุน

ตัวเลขทางเศรษฐกิจ

            การประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ตัวเลขการส่งออก การปรับขึ้นการคาดการณ์ตัวเลข GDP ของปี เป็นต้น จะส่งผลทางจิตวิทยาต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เกิดผลกระทบเป็นแรงซื้อหรือขายต่อดัชนีตลาดหุ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตัวเลขคาดการณ์ GDP ของประเทศไทยมีการปรับการคาดการณ์ลดลง อาจจะมีผลทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจปรับสัดส่วนพอร์ตการลงทุนในประเทศไทยให้น้อยลง เพราะโอกาสจากผลตอบแทนที่คาดหวังนั้นลดลง

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน

TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก