หลายคนคงเคยดูหนังเกี่ยวกับไวรัสล้างโลกหรือมหันภัยล้างโลก จนทำให้มนุษย์ต้องล้มหายไปเกินครึ่ง!! แต่เมื่อเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงเรื่องในหนังเท่านั้น เพราะที่จริงแล้วมนุษย์เรานั้นได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน ประชากรโลก เรามีจำนวนประมาณ 7,500 ล้านคน และถ้า...ไม่เกิดเหตุการณ์ล้างโลกแบบในหนัง อีกประมาณ 50 ปีข้างหน้าหรือปี 2070 โลกเราจะมีจำนวน ประชากรโลก สูงถึง 10,500 ล้านคน!! และที่น่าตกใจไปกว่านั้น โครงสร้างประชากรของโลกจะเปลี่ยนโฉมไป เราจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น (ก็คือทุกท่านที่กำลังอ่านบทความนี้นั่นแหละ) ประชากรวัยทำงานจะลดลง โดยในปี 2070 เราจะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากถึง 24% ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด!!

 

จีนไม่ใช่ประเทศที่มีประชากรเยอะที่สุดอีกต่อไป

                ถ้าให้พูดถึงประเทศที่มีจำนวนประชาชนเยอะที่สุดในโลก คงหนีไม่พ้นยักษ์ใหญ่อย่าง “จีน” ที่มีจำนวนประชากรในปี 2017 สูงที่สุดถึง 1,388 ล้านคน แต่ในปี 2022 หรืออีกแค่ 5 ปีนี้จีนจะถูกอินเดียแซงหน้าด้วยจำนวนประชากรที่สูงกว่า เพราะในขณะที่จีนมี Population Growth ที่ลดลงเรื่อยๆ แต่อินเดียกลับมี Population Growth ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆแล้ว 2 ประเทศนี้ครองสัดส่วนประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของโลก! และจีนเองก็มีนโยบายลดจำนวนประชากรลงเรื่อยๆ ทำให้ในอนาคตความหนาแน่นของประชากรในอินเดียจะสูงถึง 533 คนต่อตารางกิโลเมตรเลยทีเดียว

 

ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว พร้อมๆกับวัยทำงานที่หายไป

                แม้ว่าประชากรที่ลดลงจะทำให้เราไม่แย่งทรัพยากรกัน แต่!... สัดส่วนของประชากรที่ลดลงไป กลับเป็นช่วงวัยที่สำคัญก็คือวัยแรงงาน ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมาคือวัยสูงอายุ ทั้งนี้เราคงเห็นแนวโน้มกันแล้วล่ะว่า ในอนาคตไทยเองจะมีแรงงานที่ลดลง จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ในอนาคตเราจะใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์มากกว่านี้ เมื่อเรานำเทคโนโลยีหรือ AI เข้ามาช่วยในทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น ประเด็นเรื่อง “แรงงานที่ขาดไป” ก็แทบจะไม่มีผลอะไรกับเศรษฐกิจไทย

 

ทรัพยากรมนุษย์สำคัญที่สุดจริงหรือ?

               

ทั้งนี้หากจะบอกว่าทรัพยากรมนุษย์นั้นสำคัญก็จริง แต่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ว่า ทรัพยากรมนุษย์นั้นมีประสิทธิภาพเพียงไร? ก็ต้องมองย้อนกลับไปว่าประเทศนั้นๆมีการส่งเสริมปัจจัยพื้นฐานได้ดีแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ที่อยู่อาศัย ทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีพนั้นเพียงพอหรือยัง? ยกตัวอย่างเช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี กลับมีอัตราการเติบโตของประชากรที่ต่ำ จนมีแนวโน้มที่ลดลงเสียด้วยซ้ำ ในทางกลับกันประเทศที่มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กลับเป็นประเทศที่ยากจนหรือเป็นประเทศกำลังพัฒนา ประชากรที่เกิดมานอกจากจะไม่ได้มีส่วนช่วยเหลือประเทศชาติแล้ว กลับยังมาช่วยใช้ทรัพยากรในประเทศให้หมดเร็วขึ้นไปอีก นี่จึงเป็นอีกภาพหนึ่งที่กำลังจะบอกว่า การเปลี่ยนโครงสร้างของประชากรจะดีหรือไม่ดีนั้น ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของประเทศนั้นๆด้วย

                World Economic Forum (WEF) ได้คาดการณ์เอาไว้ว่า “งาน 5 ล้านตำแหน่งจะหายไปในปี 2020” มนุษย์ทั้งหลายพึงระวังให้ดี เพราะตำแหน่งงานเหล่านี้จะถูกแทนที่ด้วย AI หลายคนกังวลการเข้ามาแทนที่ของ AI ซึ่งจริงๆแล้วมันคงไม่มีเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน อีกทั้งเจ้าของธุรกิจในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนรุ่น Baby Boomer คือค่อนข้างบริหารงานแบบสมัยก่อน การจะให้เทคโนโลยีเข้ามาแทนมนุษย์ซะทีเดียวคงไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น TerraBKK Research มองว่าการที่ AI จะสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้นั้นกลับเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ เพราะ AI ไม่ได้มาเพื่อเขี่ยมนุษย์ให้ตกงาน แต่ AI จะเข้ามาแทนมนุษย์วัยแรงงานที่หายไปเสียมากกว่า เช่นจากแต่ก่อนงานชิ้นหนึ่งอาจจะต้องใช้คน 5 คน แต่ในอนาคต 20-30 ปี อาจจะใช้แค่ 1-2 คนเท่านั้น ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ AI ที่อาจจะแม่นยำกว่าคนเสียด้วยซ้ำ

                ทั้งนี้คงต้องบอกว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรในอีก 50 ปีข้างหน้านี้ดูเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกันกับวัยแรงงานที่ขาดหายและประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือเราต้องเตรียมพร้อมกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอีก 40-50 ปีข้างหน้า มันก็ใช่ที่เราๆท่านๆที่กำลังอ่านบทความนี้คงอยู่ไม่ทันเห็นโลกอีก 50 ปีข้างหน้านี้ แต่อย่าลืมว่ามันก็คือโลกใบเดียวกับที่ลูกหลานท่านจะต้องใช้ชีวิตต่อไป - TERRABKK

บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้

TerraBkk ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก