ดูเหมือน ‘เทคโนโลยี’ ทุกวันนี้เข้ามามีอิทธิพลต่อมวลมนุษยชาติแทบทุกย่างก้าว ไม่ได้เป็นเพียงเส้นขนานเฉกเช่นที่เราเห็นแค่ในทีวีหรือภาพยนตร์อีกต่อไปแล้ว และนวัตกรรมอัจฉริยะเหล่านี้กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงแทบทุกอุตสาหกรรมของโลกเท่าที่มนุษย์จะรู้จัก รวมถึงวงการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ด้วย

ปัจจุบันนี้เมืองธรรมดาพัฒนากลายเป็น Smart City มากขึ้น ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะของเมืองได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ใช่แค่ชีวิตคนเมืองที่เปลี่ยนไป แต่ยังรวมถึงการเดินทาง คนรับสร้างบ้าน คนขายวัสดุก่อสร้าง เทศบาล รัฐบาล และอีกมากมาย

เหล่านี้คือการให้ภาพรวม URBAN TECH ที่จะเชื่อมโยงให้ทุกอย่างเข้ามามีส่วนร่วมกันมากขึ้น ทำให้มนุษย์มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขอย่างยั่งยืน อย่างที่ “โบ๊ท” ไผท ผดุงถิ่น ผู้พลิกโฉมประวัติศาสตร์วงการธุรกิจก่อสร้างออนไลน์ เป็นรายแรกของเอเชีย จากการก่อตั้ง Builk Asia ซอฟท์แวร์คำนวนต้นทุนฟรีสำหรับธุรกิจก่อสร้าง ได้เกริ่นไว้บนเวทีสัมมนา TREA TALKS REAL ESTATE 2017 ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ร่วมกับ TERRA BKK คลังความรู้และให้คำปรึกษาเชิงลึกเพื่อการลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์ โดยการสนับสนุนจากพันธมิตรทางธุรกิจมากมาย

terraadsต้องยอมรับว่าเทรนด์โลกปัจจุบัน นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามีส่วนในการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมออกแบบสิ่งก่อสร้างทุกรูปแบบ ที่พร้อมจะขึ้นรูปโมเดลได้เป็นร้อยในคืนเดียว โดยสามารถคำนวณปริมาณวัสดุที่ต้องใช้ไดอย่างรวดเร็ว แอพพลิเคชั่นที่ช่วยคำนวณต้นทุน ปริมาณคนที่จำเป็นต้องใช้ในพื้นที่การก่อสร้างรับเหมาได้อย่างแม่นยำ 

          

แต่คำถามชวนให้ฉุกคิดจากงานสัมมนาครั้งนั้น คือ นวัตกรรมเหล่านี้จะทำให้ชีวิตของคนทำงานก่อสร้างและมนุษย์อสังหาน ไป จบที่ตรงไหนกัน?

ในฐานะบุคคลพลิกปรากฏการณ์ใหม่ให้เกิดขึ้นแล้วในวงการนี้ คุณโบ๊ทได้ฉายให้เห็นการทำงานของคนทำงานก่อสร้างใน อีก 8 ปีข้างหน้า (Imagine 2020) ที่บอกได้เลยว่าเป็นการยกตัวอย่างได้เห็นภาพราวกับภาพยนตร์เลยทีเดียว

9.00 : มองโทรศัพท์ที่มีรายงานเข้ามาว่า ชิ้นส่วน Precast (ระบบชิ้นส่วนอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อสำเร็จ) ที่คุณต้องการมาถึงหน้าไซต์งานแล้ว และมีพนักงานเซ็นรับทางโทรศัพท์มือถือเรียบร้อย

10.00 : เริ่ม Video Conference กับสถาปนิก-ดีไซเนอร์และที่ปรึกษา ซึ่งไม่ต้องกลางแบบแปลนอย่างที่เคยอีกต่อไป แต่กำลังคุยกันบน BIM (Building Information Modeling) เพราะเมื่อถึงเวลานั้นการใช้ BIM จะกลายเป็นภาษาพื้นฐานของการทำงานก่อสร้าง สามารถแก้ปัญหางานออกแบบสถาปัตย์ที่จะไปชนกับงานระบบให้จบได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นมีใบสั่งซื้อมาให้อนุมัติ ซึ่งสามารถตรวจทานได้ทุกอย่างผ่านโทรศัพท์ ไม่ต้องขับรถไปเซ็นใบสั่งซื้อที่ออฟฟิศอีกแล้ว

11.30 : เซ็นสัญญาเป็น Smart Contact บนเทคโนโลยีที่เรียกว่า Blockchain (เทคโนโลยีเก็บข้อมูลแบบหนึ่งของระบบที่ไม่มีศูนย์กลาง แต่เชื่อถือได้ ป้องกันการโกง โดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง) ซึ่งสามารถทำสัญญาจ้างให้เกิดความปลอดภัยได้มากขึ้น ลืมการเซ็นเอกสารหนาปึกไปเลย

12.00 : พาลูกค้าไปดูไซต์งานที่สร้างเสร็จแล้วระหว่างทานกลางวัน ด้วยเทคโนโลยี VR

13.30 : ใช้เทคโนโลยีโดรนตรวจไซต์งาน โดยเราไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของโดรนตัวนั่น เพราะในอนาคตจะมีบริการให้เช่าโดรน ซึ่งเราสามารถเรียกใช้บริการโดรนเหล่านั้นทำไซต์รีพอร์ตเพื่อรายงานให้เจ้าของโครงการทราบ ขณะเดียวกันก็สามารถ VDO Call กับไซต์งานอื่นๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องวิ่งไปหน้างาน ซึ่งการให้บริการโดรนลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้ว ณ เวลานี้ที่อเมริกา

15.30 : เกิดปัญหาลูกค้าต้องการให้คุณไปซ่อมบ้าน จากการการันตีเซอร์วิส คุณก็แค่เลือกว่าจะส่งทีมงานไหนไปเก็บหน้างาน จากนั้นถ้ามีเวลาเหลือกลับมาสำรวจเครื่องจักรที่ไม่ค่อยใช้งาน นำออกมมาปล่อยให้เช่า เพราะในอนาคตเซอร์วิสแบบ Uber Heavy จะเป็นตัวกลางในการหา-ปล่อยเช่าเครื่องจักรหนักที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งในอดีตผู้รับเหมาอาจกังวลเรื่องการซ่อมบำรุงจากการนำเครื่องจักรมาปล่อยเช่า แต่ถึงวันนี้เครื่องจักรฉลาดขึ้น เซ็นเซอร์บนเครื่องจักรสามารถแจ้งด้วยตัวมันเองว่า เมื่อไรถึงเวลาซ่อมได้แล้ว เป็นสมาร์ทเช็คอัพ ที่จะกลายเป็นเซอร์วิสมาตรฐานในอนาคต

17.00 : ดูผลการเงินของวันนี้ผ่านสมาร์ทโฟน ตรวจสอบเอกสารชำระเงิน เพราะนี่คือเวลาที่ไม่ต้องเซ็นเช็ค ไปต้องไปธนาคาร

18.00 : หมดวันแล้ว คงไม่ใช่เรื่องยากถ้าจะนั่งรถไฟความเร็วสูงไปดูคอนเสิร์ตที่เขาใหญ่ เพราะเมื่อถึงเวลานั้นเชื่อว่าระบบขนส่งสาธารณะจะเชื่อมโยงถึงกันทั้งประเทศแล้ว

จากที่เอ่ยมาทั้งหมดนี้ เชื่อว่าจะเป็น ‘ความฝัน’ ที่พอเป็นไปได้ไม่ได้ไกลเกินเอื้อมนัก แต่สิ่งที่จะทำให้ภาพเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น คงไม่ใช่ใครที่ไหน นอกจาก “ตัวเรา” ที่จะอุปสรรคขวางทางตัวเราเอง โดยคุณโบ๊ทได้ชี้ให้เห็นอุปสรรคนั้นเป็นข้อๆ ดังนี้

1.Mind Set ของพวกเรา ที่มักคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีทางเกิดขึ้น

2.Traditional Silos ยังยึดติดอยู่กับการทำงานแบบเดิมๆ ที่ไม่เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลกัน ทำให้เกิดความล่าช้าระหว่างระบบ

3.Legal มาตรฐานและกฎหมายหลายๆ อย่างกลายเป็นข้อจำกัด ทำให้วงการก่อสร้างไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร

สุดท้ายแล้ววงการก่อสร้างและอสังหาฯ ไทย จะเดินไปอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่? สำคัญอยู่ที่การเริ่มเปลี่ยนแปลงจาก ตัวเราก่อน ตลอดจนเปิดรับความคิดคนรุ่นใหม่ เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างยั่งยืน

ข้อมูลจากงาน TREA TALKS REAL ESTATE 2017 วันที่ 29 มิถุนายน 2560 โดย คุณไผท ผดุงถิ่น หนึ่งในสปีกเกอร์ ของงานนี้

บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้

TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก