ทำอะไรก็ได้โตแล้ว! แต่แก่แล้วไม่ใช่ ถ้ายังไม่ได้เตรียมตัว

รู้หรือไม่? ว่าทุกๆ 5 วินาที จะมีทารกเกิดใหม่จำนวน 25 คน

เหตุการ์นี้เกิดขึ้นพร้อมๆกันกับที่มีคนเสียชีวิต 9 คนในทุกๆ 5 วินาทีเช่นกัน

 

ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นชัดถึงความไม่เที่ยงของชีวิตและการเคลื่อนไหวของเวลาที่ไม่เคยหยุดนิ่งเลยซักวัน แต่ตัวเลขเหล่านี้บอกอะไรเราได้บ้างในด้านประชากรศาสตร์? ถึงแม้จะมีคนที่เกิดมากกว่าคนที่เสียชีวิต แต่ในด้านประชากรศาสตร์นั้นกลับพบว่า หลายๆประเทศทั่วโลกจะประสบเหตุการณ์ของการเข้าสู่ สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด ไปเหมือนๆกัน

34 ปีที่ผ่านมา ประชากรไทยที่เกิดใหม่ลดลงกว่าปีละ 200,000 คน

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ สังคมสูงวัย (aging society) มาตั้งแต่ปี 2547 และมีท่าที่ที่จะเพิ่มจำนวนของผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งประเทศไทยจะเข้าสู่ สังคมสูงวัยระดับสุดยอด ในปี 2574 โดยประชากรสูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนถึง 20% ของประชากรทั้งหมดเลยทีเดียว หนึ่งในตัวบ่งชี้ด้านสังคมผู้สูงอายุคือ “ดัชนีการสูงวัย (Aging index)” ซึ่งเป็นการแสดงการเปรียบเทียบโครงสร้างประชากรระหว่างการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มประชากรวัยเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งจะเป็นกลุ่มประชากรที่มีอัตราการเติบโตทดแทนกัน หมายความว่าเมื่อประชากรวัยเด็กเติบโตจะไปทดแทนการสูญสิ้นของประชากรสูงอายุนั่นเอง ซึ่งการตีความค่าดัชนีคือ เมื่อค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 หมายความว่ามีประชากรสูงอายุน้อยกว่าวัยเด็ก และหากค่าดัชนีเกินกว่า 100 จะหมายความว่าจำนวนประชากรสูงอายุมากกว่าประชากรเด็กนั่นเอง โดยสามารถแบ่งระดับของสังคมสูงวัยได้ ดังนี้

  • สังคมเยาว์วัย (young society) ค่าดัชนีการสูงวัยต่ำกว่า 50
  • สังคมสูงวัย (aged society) ค่าดัชนีการสูงวัยระหว่าง 50-119.9
  • สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (completed aged society) ค่าดัชนีการสูงวัยระหว่าง 120-199.9
  • สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super aged society) ค่าดัชนีการสูงวัยตั้งแต่ 200 ขึ้นไป

ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มสังคมสูงวัย โดยจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทยช่วงปี 2553-2583 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า ของสำนักบริหารงานทะเบียน กรมการปกครอง จำแนกสถิติจำนวนการเกิด อัตราการเกิด และอัตราการเจริญพันธ์ โดยในอดีตช่วงปี พ.ศ.2506-2526 มีจำนวนการเกิดมากกว่า 1 ล้านคน แต่ในปี พ.ศ.2556 มีจำนวนการเกิดเพียงแค่ 800,000 คน และในอีก 20 ปีข้างหน้าจะลดเหลือเพียงแค่ 600,000 คน ซึ่งหมายความว่าจะมีคนวัยทำงานน้อยลงแต่จำนวนประชากรสูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น

13 ปีข้างหน้า 69 จังหวัดในประเทศไทย จะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์และระดับสุดยอด

จากปี 2556 จังหวัดในประเทศไทยส่วนใหญ่ได้เข้าสู่ยุคสังคมสูงวัยเรียบร้อยแล้ว มีเพียง 9 จังหวัดเท่านั้นที่ยังไม่ก้าวข้ามและยังอยู่ในกลุ่ม สังคมเยาว์วัย แต่ใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปี เหลือจังหวัดที่ยังเป็นสังคมเยาว์วัยเพียงแค่ 5 จังหวัด และมีจังหวัดที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เพิ่มอีก 6 จังหวัด เป็นจำนวนทั้งหมด 7 จังหวัด และจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆในทุกๆปี จนในปี พ.ศ.2573 หรืออีกเพียง 12 ปีข้างหน้่า จะมีจังหวัดที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์จำนวน 42 จังหวัด และเข้่าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดจำนวน 27 จังหวัด หรือจะพูดอย่างรวบรัดอย่างง่ายได้ว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์และระดับสุดยอดไปแล้วถึง 89%  

ตลาดที่อยู่อาศัยวัยเกษียณในอเมริกา เติบโตถึง 250,00-270,000 ล้านดอลลาร์

สำหรับที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัยในแง่ของอสังหาริมทรัพย์นั้น ยังไม่ได้เข้าสู่กระแสหลักไปซะทีเดียว แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงอายุนั้นเริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการเติบโตของประชากรสูงอายุนั้นมีทีท่าว่าจะเพิ่มจำนวยนมากขึ้นนั่นเอง ในขณะเดียวกันกลับพบว่า ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุนั้น จะมีความยืดหยุ่นและไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมากนัก โดย National Investment Center of the Senior Housing & Care Industry (NIC) หรือ ศูนย์การลงทุนสำหรับอุตสากรรมที่อยู่อาสัยและการดูแลผู้สูงอายุแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ระบุว่าตลาดของที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 250,000-270,000 ล้านเหรียญ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 22,000 แห่ง มีกว่า 2.9 ล้านคน โดยมีปัจจัยที่ขับเคลื่อนความต้องการตลาดที่อยู่อาศัยผู้สูงวัยอยู่ 3 ปัจจัยหลักๆ ได้เแก่

  • ประชากร - มีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 สหรัฐอเมริกาจะมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปถึง 21% หรือจำนวน 74 ล้านคน ซึ่งไม่แตกต่างกับการคาดการณ์ประชากรสูงอายุในประเทศไทยมากนัก
  • การดูแลด้านความจำ - กลุ่มประชากรที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุ จะให้ความสำคัญกับการดูแลสมองและความจำ อีกทั้งยังมีสถิติของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ถึง 4 ล้านคนในปัจจุบัน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มถึง 13.8 ล้านคนในปี 2050
  • ภูมิศาสตร์ด้านการอยู่อาศัย - โดยกลุ่มผู้สูงวัยมีแนวโน้มว่ามีความต้องการที่อยู่อาศัยกระจายไปจากเมืองใหญ่ๆ โดยจะเริ่มอยู่ห่างจากตัวเมืองมากขึ้น เนื่องจากหลีกหนีความวุ่นวายและต้องการอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ

ตลาดอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงวัยในประเทศไทย

จากการพิจารณาภาพรวมของตลาดอสังหาฯ ผู้สูงอายุ TerraBKK Reserch มองว่าสามารถจำแนกประเภทการพัฒนาอสังหาฯได้ 5 ประเภท ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตขึ้นอีกมากใน 5-10 ปีนี้ โดยจะขอนำเสนอในเชิงความแตกต่าง เพื่อให้สามารถพิจารณาความเหมาะสมของการอยู่อาศัยที่แตกต่างกันได้

1. บ้านเดี่ยว  - โครงการบ้านเดี่ยวสำหรับผู้สูงวัยนั้นยังเติบโตไม่มาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไปในรูปแบบของชุมชน (Community) เสียมากกว่า เนื่องจากการพัฒนาบ้านสำหรับผู้สูงวัยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นโครงการระดับพรีเมี่ยม เพราะว่าใช้เนื้อที่มากกว่าโครงการบ้านทั่วไป การออกแบบที่เฉพาะเจาะจงในด้านวัสดุ การจัดแปลนภายในและนอกบ้าน การวางระดับของเครื่องใช้ภายในบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้บ้านเดี่ยวสำหรับผู้สูงวัย จะเติบโตในรูปแบบของการปรับโครงสร้างบ้านเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เป็นบ้านสำหรับตัวเองในวัยเกษียณ หรือบ้านสำหรับครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกในบ้านเป็นผู้สูงวัย เป็นต้น เหมาะสำหรับครอบครัวใหญ่ที่มีบุคคลดูแลผู้สูงอายุในบ้าน

 ภาพจากโครงการ : http://nusasiri.com/Nusa-My-Ozone-Khao-Yai

2. อาคารชุดเพื่อผู้สูงวัย เป็นที่อยู่อาศัยที่น่าจะเติบโตที่สุดในอนาคต เห็นได้ชัดจากยอดจองอาคารชุดสำหรับผู้สูงวัยที่มีคนอายุ 55 ปีขึ้นไป แห่มาจองกันอย่างรวดเ็ร็ว เหตุผลที่ผู้สูงวัยควรอาศัยอยู่ในอาคารชุดนั้นมีด้วยกันหลายประการ เนื่องจากอาคารชุดเป็นที่พักอาศัยแบบ compact ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อมอยู่แล้ว ทั้งในด้านทำเล บริการ และความปลอดภัย เป็นต้น อาคารชุดส่วนใหญ่ถูกออกแบบให้พื้นอยู่ในระนาบเดียวกัน ทำให้ไม่เป็นอันตรายและตรงกับหลักการออกแบบที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ พื้นที่ส่วนกลางก็เป็นสวนหย่อมหน้าบ้านสำหรับหย่อนใจ และ มีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงวัยได้มากกว่าคอนโดมิเนียมทั่วไป เช่นกรณีที่อุปกรณ์ในห้องชำรุดก็มีช่างประจำโครงการหรือนิติบุคคลคอยดูแล อีกทั้งศักยภาพด้านทำเลที่ตั้งของอาคารชุดที่ไม่ไกลจากสถานที่สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงพยาบาล อาคารชุดจึงเป็นอีกหนึ่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสำหรับผู้สูงวัยที่ไม่มีครอบครัว ไม่ได้อยู่แบบครอบครัวใหญ่ ต้องการอยู่ใกล้กับลูกหลานในเมือง และสามารถดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้น สำหรับคอนโดเพื่อผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ควรพิจารณาเลือกอาคารชุดที่มีเจ้าหน้าที่การพยาบาลดูแลตลอดเวลา พร้อมให้การช่วยเหลือกรณีมีเหตุฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง และมีกิจกรรมต่างๆให้เข้าร่วมเพื่อสร้างสังคมให้ผู้สูงวัย ไม่ต้องเหงาอยู่แต่ในห้องพัก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคซึมเศร้า

ภาพจากโครงการ : http://www.jinwellbeing.com/

3. สถานรับดูแลผู้สูงอายุหรือสถานบริบาลผู้สูงอายุ (Nursing Home) อีกหนึ่งประเภทของที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยที่เติบโตขึ้นจนเห็นได้ชัดในยุคนี้ ในปัจจุบันเกิดขึ้นแล้วกว่า 60 แห่ง โดยจะอยู่บริเวณในเมืองใหญ่ที่ใกล้สถานพยาบาล โดยจะมีการให้บริการทางการแพทย์ สุขภาพ และการดูแล เพื่อผู้สูงวัยที่มีอาการป่วยไม่มากนัก แต่ไม่สามารถอาศัยลำพังอยู่ที่บ้านได้ มีเจ้าหน้าที่ที่มีทักษาทางการพยาบาลดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

4. เซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ (Service Apartment) โดยส่วนใหญ่มักดำเนินการโดยโรงพยาบาล โดยจะมีทำเลติดอยู่กับโรงพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงวัยที่ต้องพักอาศัยในระยะยาวและเข้ารับการรักษาจากโรงพยาลอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มลูกค้าหลักมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เช่นประเทศญี่ปุ่น ที่เข้าสู่ในยุคสังคมสูงวัยสุดยอดเต็มรูปแบบ และนิยมเข้ามาพักรักษาตัวในประเทศไทย

ภาพจาก : http://www.kluaynamthai2.com/

5. บ้านพักหรือสถานสงเคราะห์คนชรา (Residential Home) เกิดขึ้นมานานแล้ว และปัจจุบันมีทั้งหมด 44 แห่งทั่วประเทศ โดยดำเนินการภายใต้หน่วยงานทางราชการ ให้บริการที่พักสำหรับคนชราที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แต่ไม่มีคนดูแลและยากจน โดยไม่มีความต้องการการดูแลจากพยาบาลวิชาชีพมากนัก

ภาพจาก : http://www.camilliansocialcare.org/

Universal Design ทางออกที่สร้างโอกาสยุคสังคมสูงวัย 

เมื่อเกิดการเพิ่มจำนวนและการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประชากร ทำให้เกิด ข้อจำกัดและการปรับเปลี่ยน บางสิ่งบางอย่างในที่อยู่อาศัย เนื่องจากผู้สูงวัยนั้นมีข้อจำกัดด้านร่างกายและสุขภาพหลายอย่าง ทำให้ต้องระมัดระวังในเรื่องของการอยู่อาศัยเป็นพิเศษ โดยหลักการออกแบบสำหรับการอยู่ร่วมกันสำหรับคนทุกคนและคนทุกวัยที่ทั่วโลกต่างใ้ห้การยอมรับ นั่นคือ Universal Design

โดย Universal Design นั้นไม่ใด้มีการจำกัดความว่าเ็ป็นการออกแบบเพื่อผู้สูงอายุเท่านั้น แต่จริงๆแล้ว Universal Design คือการออกแบบสำหรับคนทุกคน รวมไปถึง คนที่มีภาวะทุพลภาพ, คนชรา หรือคนพิการอื่นๆด้วย ซึ่งในปัจจุบันเราจะเห็น Universal Design ซ่อนตัวอยู่ในที่สาธารณะที่มีคนพลุกพล่านอย่าง โรงพยาบาล สวนสาธารณะ หรือห้างสรรพสินค้าเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังไม่ค่อยมีการออกแบบลักษณะนี้ในที่อยู่อาศัยมากนัก

จากการสำรวจกลุ่มคนวัยเกษียณในด้านการอยู่อาศัยพบว่า ส่วนใหญ่ยังคงต้องการอยู่ในบ้านรวมกับครอบครัวมากกว่าการแยกตัว ซึ่งบ้านหลังเดิมนั้นไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนการใช้งานที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุเท่าไรนัก เช่น พื้นผิวภายในบ้านยังคงลื่นง่ายต่อการสะดุดล้มหรือประตูปิดเปิดยังคงหนักยากต่อการเปิด เป็นต้น โดยการปรับเปลี่ยนการใช้งานในบ้านเพื่อรองรับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ควรจะเป็นดังนี้

  • ภายนอก - ควรใช้วัสดุที่ไม่ต้องการการดูแลรักษามาก มีพื้นที่สีเขียวที่ไม่จำเป็นต้องตัดหรือคอยดูแลตลอดเวลา และพื้นของระเบียงหรือชาน ควรไม่ต่างระดับจากพื้นบ้าน
  • แปลน - พื้นที่ใช้สอยหลักไม่ควรอยู่ชั้นสอง หรือพื้นที่ที่เข้าถึงลำบาก พื้นห้องควรอยู่ระนาบเดียวกัน ไม่มีพื้นต่างระดับ และแต่ละห้อง ควรกว้างกว่าพื้นที่ปกติอย่างน้อย 4 ตารางเมตร เพื่อรองรับการใช้งานรถเข็น
  • ทางเชื่อมภายใน - ประตูควรกว้างกว่าปกติ มีช่องทางเดินไปในบ้านที่ง่ายและกว้าง สามารถเเชื่อมต่อกับส่วนอื่นๆของบ้านได้ หรือไม่ควรกั้นผนังหากเป็นพื้นที่ใช้สอยส่วนรวม มีแสงไฟส่องสว่างเพื่อให้เห็นชัดเจน
  • ธรณีประตู - ไม่ควรมี หรือหากมีไม่ควรสูงเกิน 0.5 นิ้ว มีขอบลาดเอียง และควรเป็นประตูบานเลื่อน
  • หน้าต่าง - หน้าต่างแบบสวิงหรือบ้านเลื่อนที่ใช้งานง่าย ไม่ควรเป็นบานเกล็ด และควรมีหน้าต่างมากเพื่อให้มีแสงสว่างจากธรรมชาติเข้าถึงตลอดเวลา
  • ที่จอดรถ - ควรมีหลังคา ขนาดของช่องจอดควรกว้างกว่าปกติ เพื่อรองรับการใช้งานรถเข็น
  • ก้อกน้ำ - ควรเป็นก็อกแบบโยกหรือสามารถควบคุมด้วยเท้า มีระบบควบคุมความร้อนของน้ำ และสามารถควบคุมความดันน้ำได้
  • ปลั๊กไฟ - ควรสูงกว่าปกติอย่างน้อย 90 ซม. เพื่อป้องกันการก้มตัวและสะดวกแก่ผู้ใช้งานรถเข็น
  • โต๊ะ เคาน์เตอร์ ชั้นวางของ ควรลดระดับจากความสูงปกติให้สูงประมาณ 75 เซ็นติเมตร พื้นที่ใต้โต๊ะควรสูงไม่ต่ำกว่า 60 เซ็นติเมตร ไม่ควรมีลิ้นชัก
  • ติดตั้งราวจับและระบบ Emergency - ราวจับทั้งในห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ห้องนอน ควรอยู่ในระดับ 80-90 เซ็นติเมตร สามารถรองรับน้ำหนักได้ และควรติดตั้งเครื่องส่งสัญญานขอความช่วยเหลือในพื้นที่ห้องนอน หัวเตียง ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น หรือห้องที่มีการใช้งานบ่อยครั้ง

บทความโดย : TerraBKK ข่าวอสังหาฯ

TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก