เคยเกิดข้อถกเถียงกันมากมายว่าจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองที่ความเจริญเข้ามาอย่างครบครันแต่ราคาสูง หรือจะไปดักเก็งกำไรเอาตรงโซนชานเมืองที่ราคายังไม่แรงแล้วรอวันที่จะบูมขึ้นมา อ่าน: ซื้อบ้านแถบ “ชานเมือง” มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร?  ซึ่งหลายคนที่มีงบอย่างจำกัด ย่อมมองหาทำเลชานเมืองที่ราคาเอื้อมถึง แต่ในใจก็ยังคงกังวลว่า “ทำเลนี้จะรุ่งหรือร่วง?” เพราะหลายครั้งที่บางทำเลก็มีทีท่าว่าจะรุ่ง แต่กลับแป้กไม่เป็นท่า บางทำเลก็เป็นม้ามืด พีคแบบฉุดไม่อยู่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลาที่เหมาะสม ซึ่งในแต่ละครั้งย่อมมีสัญญาณบ่งบอกแล้วล่ะว่า โซนนี้มีทีท่าว่าจะไปได้สวย TerraBKK Research จึงยกมา 5 ประเด็น ดังนี้

1. Supply หมดอย่างรวดเร็ว

คอยสังเกตุการณ์เวลามีโครงการบ้านหรือคอนโดฯใหม่มาเปิดตัว ว่าโครงการพวกนี้ขายดีแค่ไหน การที่ Supply หมดอย่างรวดเร็วไม่ได้หมายความว่าต้องมีโครงการมาเปิดเยอะๆ แต่ต้องเป็นในลักษณะที่เปิดแล้วขายได้เร็ว มีคนจองเยอะ รู้สึกหาซื้อได้ยาก หรือหากเป็นบ้าน/คอนโดมือสองก็เช่นกัน ให้ลองสังเกตุระยะเวลาที่เจ้าของประกาศขาย เช่น คอนโดห้องนี้เพิ่งประกาศขายเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว แต่เมื่อโทรไปสอบถามก็ขายออกไปแล้ว หากเจอแบบนี้หลายๆห้อง หลายๆโครงการ ก็มั่นใจได้แล้วล่ะว่าคอนโดโซนนี้เป็นที่ต้องการมากแค่ไหน

2. ไร้วี่แววการจัดโปรโมชัน

จะซื้อคอนโดหรือบ้านทั้งที ใครๆก็หวังอยากได้โปรโมชันดีๆกันทั้งนั้น แต่รู้ไหมว่าทำเลดีๆแทบไม่มีใครเขาจัดโปรโมชันกันเท่าไหร่หรอก เพราะมันขายออกได้ด้วยทำเลที่ดีอยู่แล้ว ดังนั้นหากขับรถไปเจอแถวไหนที่เหล่าโครงการต่างอัดโปรโมชันกระจาย ให้ระวังให้ดีว่านั่นเป็นเพราะขายไม่ออกหรือเปล่า เลยต้องใช้โปรโมชันเข้าช่วย ดังนั้นหากอยากได้ของดีก็อย่าหวังโปรโมชัน

3. ห้องเช่าที่ไม่เคยว่าง

สิ่งที่สะท้อนการลงทุนได้ดีที่สุดคือ อัตราการเช่า (Occupancy Rate) ว่ามีว่างมากน้อยแค่ไหน โดยลองสำรวจจากการประกาศเช่าอสังหาฯในย่านนั้น ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโด จะพบว่าแต่ละห้องใช้เวลาประกาศนานแค่ไหน อาจจะลองโทรสอบถามว่าห้องยังว่างอยู่หรือเปล่า? หากพบว่าห้องว่างน้อย ปล่อยเช่ากันไม่เยอะ นั่นก็เป็นสัญญาณที่ดีที่จะเห็นได้ว่ามี Demand ในโซนนี้มากพอสมควร กลับกันหากเห็นว่าใครๆต่างก็ซื้อไว้ปล่อยเช่า แถมยังปล่อยเช่าไม่ได้อีก ประกาศให้เช่าเต็มไปหมด แบบนี้ถือว่ามีแต่ supply แถม demand ส่วนใหญ่ก็เป็นนักลงทุน ไม่ได้มี real demand หรือผู้อยู่อาศัยจริง เสี่ยงต่อการเกิด over supply มากๆ

4. คนขายไม่แคร์คนซื้อ

เคยไหมที่เราติดต่อเข้าไปซื้อบ้าน/คอนโด แต่ดูเหมือนว่าเซลล์ก็ไม่ค่อยง้อเราเท่าไหร่ หรือแม้กระทั่งบ้านมือสองเอง เจ้าของบ้านก็ไม่ได้ง้อเมื่อเราต่อราคา กรณีนี้เราถือว่าผู้ขายมีอำนาจสูงกว่า เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าไม่ต้องลดราคาก็ขายได้ เพราะมีคนมาติดต่อขอซื้อจนเลือกไม่ทัน หากเจอเหตุการณ์แบบนี้ให้อุ่นใจได้ว่า ทำเลนี้ต้องมีคนมาติดต่อขอซื้อเยอะพอสมควร (คนขายจึงได้เล่นตัวขนาดนี้) แต่หากเจอคนขายที่ยอมลดแล้วลดอีก ตามง้อให้เรากลับไปซื้อ อันนี้ก็ต้องดูดีๆว่าเพราะขายยากหรือเปล่าเลยต้องมาง้อเรา

5. เจ้าใหญ่เล็งพัฒนา

นี่น่าจะเป็นสมมติฐานที่สังเกตุได้ง่ายที่สุด ว่าหากยักษ์ใหญ่หันไปหาทำเลไหน ทำเลนั้นมักจะบูมเสมอ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเซ็นทรัล ที่สังเกตุได้ว่าพวกศูนย์การค้าเซ็นทรัลไปเปิดตรงไหนไม่เคยมีเงียบเหงาซักที่ หรือยักษ์ใหญ่อย่าง Land&Houses, แสนสิริ, อนันดา ที่ไม่ได้ใช้กลยุทธ์เปิดโครงการแบบหว่านแห แต่จะเฟ้นหาทำเลที่มีศักยภาพและมี real demand ซึ่งได้เล็งเห็นแล้วว่าทำเลที่เข้าไปมันมีดีจริงๆนะ

หากใครที่จะหาลงทุนในทำเลชานเมือง คงต้องพิจารณากันมากหน่อย เพราะบางครั้งทำเลที่คิดว่าดี กลับไม่ได้ดีอย่างที่คิด ดังนั้น “ควรพิจารณาหลายๆอย่างประกอบกัน” อย่าตัดสินใจเพียงเพราะเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งเท่านั้น - เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้

TerraBkk ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก