ล้มละลายคืออะไร

การล้มละลายเป็นขั้นตอนทางกฎหมายซึ่งควรจะใช้ต่อเมื่อไม่มีวิธีการอื่นที่จะแก้ปัญหาทางการเงินและควรเป็นหนทางสุดท้ายจริงๆ

การตัดสินใจขอเป็นบุคคลล้มละลายบ่อยครั้งก็มิได้ทำให้หนี้สินหมดไป หรือทำให้เริ่มต้นใหม่ได้จริงๆ ประวัติการล้มละลายนี้จะปรากฏอยู่ในส่วนของข้อมูลเครดิตบูโร ขณะที่เป็นหนี้ข้อมูลจะถูกส่งเข้ามาที่เครดิตบูโร โดยระหว่างที่ถูกฟ้อง ข้อมูลเครดิตบูโรจะแสดงสถานะว่าอยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมาย และข้อมูลยังคงอยู่จนกระทั่งถึงวันปลดล้มละลาย นับจากวันปลดล้มละลาย 2 ปี สถาบันการเงินจะหยุดส่งข้อมูลไปที่เครดิตบูโร และข้อมูลจะถูกเก็บไว้ที่เครดิตบูโรต่อไปอีก 3 ปี

ดังนั้น นับแต่วันปลดล้มละลาย ข้อมูลจะอยู่ที่เครดิตบูโร 5 ปี หลัง

จากนั้นข้อมูลเครดิตบูโรจะถูกลบออกจากระบบโดยอัตโนมัติ

กรณีที่เกินกำหนด 5 ปีแล้ว ข้อมูลเครดิตบูโรยังแสดงสถานะดังกล่าวอยู่ ให้ติดต่อคอลเซ็นเตอร์เครดิตบูโร แจ้งรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่ว่าได้รับการปลดล้มละลายตั้งแต่เมื่อไร พร้อมส่งเอกสารประกอบ ภายหลังตรวจสอบหากข้อมูลเครดิตไม่ถูกต้อง จะดำเนินการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องทันที

นอกจากนี้ การล้มละลายอาจทำให้ไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินใดๆ หากยังมีเจ้าหนี้ที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้อยู่และเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ในคดีเรียบร้อยแล้ว

โดยปกติเมื่อศาลพิพากษาให้คุณล้มละลาย ศาลจะแต่งตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (Official Receiver) เพื่อจัดการกิจการของบุคคลผู้ล้มละลายซึ่งอาจรวมถึงการขายสินทรัพย์ การรวบรวมสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ต่างๆ และการแบ่งส่วนให้เจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถือเป็นข้าราชการและเป็นเจ้าพนักงานของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ของบุคคลล้มละลาย และจะจัดการจำหน่ายสินทรัพย์เหล่านั้นเพื่อแบ่งส่วนให้กับเจ้าหนี้ โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะประเมินว่าคุณต้องนำรายได้ของคุณมาชำระหนี้เป็นจำนวนเท่าไหร่ จะคำนึงถึงสิ่งที่บุคคลล้มละลายจำเป็นต้องใช้ในการยังชีพของตนเองและครอบครัวตามสมควร

เมื่อตกเป็นบุคคลล้มละลายจะถูกจำกัดสิทธิต่างๆ อาทิอาจไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศหากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และโดยปกติบุคคลล้มละลายจะไม่สามารถยื่นฟ้องศาลหรือต้องหยุดดำเนินคดีที่ฟ้องอยู่ถ้ามี และอาจตกเป็นบุคคลผู้ไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการแต่งตั้งหรือทำหน้าที่เป็นผู้จัดการดูแลทรัพย์สินหรือไม่อาจมีบทบาทโดยตรงหรือโดยอ้อมในการบริหารจัดการบริษัทหรือธุรกิจใดๆ หรือทำหน้าที่เป็นกรรมการของบริษัทโดยไม่ได้รับอนุมัติจากศาล

ใครอาจตกเป็นบุคคลล้มละลาย

บุคคลที่จะถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายได้ต้องเป็นลูกหนี้ที่มี “หนี้สินล้นพ้นตัว” ซึ่งหมายความว่าเจ้าหนี้ที่จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายนั้นต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าลูกหนี้นั้นมีหนี้สินล้นพ้นตัว

ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ได้กำหนดข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของลักษณะหรือพฤติกรรมของลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว เช่น ลูกหนี้โอนหรือส่งมอบทรัพย์สินของตนให้บุคคลอื่นโดยมีเจตนาลวงหรือฉ้อฉลเจ้าหนี้ หรือหลบหนีออกไปจากประเทศไทยและไม่ยอมกลับมาเพื่อถ่วงเวลาในการชำระหนี้ หรือว่าลูกหนี้ได้ไปแถลงในศาลในคดีอีกคดีหนึ่งว่าตนไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้ว 2 ครั้งโดยมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วันและลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ถ้าลูกหนี้มีพฤติกรรมประการใดประการหนึ่งดังที่กล่าวมานี้ ศาลก็อาจสันนิษฐานว่าลูกหนี้คนนั้นมีหนี้สินล้นพ้นตัว

ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น การพิสูจน์ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวคือต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าลูกหนี้ไม่อยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ที่มีอยู่ได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน

บุคคลธรรมดา มีหนี้สินล้นพ้นตัวให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อลูกหนี้เป็น หนี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท

นิติบุคคล เช่น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน ต้องเป็น หนี้ไม่น้อยกว่าสองล้านบาท (กรรมการไม่ล้มละลายตามนิติบุคคล ยกเว้นกรรมการได้ถือหุ้นของบริษัท และยังชำระค่าหุ้นไม่ครบก็จะรับผิดเพียงจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบเท่านั้น หรือนิติบุคคลนั้นเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด)

และต้องเป็นหนี้ที่สามารถกำหนดจำนวนแน่นอนได้ ซึ่งเจ้าหนี้จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นจึงจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้

การฟ้องลูกหนี้ที่ตายแล้วเป็นคดีล้มละลายย่อมทำได้เช่นกัน ถ้าตอนที่มีชีวิตอยู่ เขามีคุณสมบัติครบถ้วนตามรายละเอียดเบื้องต้น เจ้าหนี้ย่อมฟ้องให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ตามกฎหมายล้มละลายได้ โดยเรียกทายาทหรือผู้จัดการมรดกเข้ามาแก้คดีแทนลูกหนี้ที่ตาย แต่ต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกหนี้ตาย

ตัวอย่าง

ถ้าลูกหนี้เป็นบุคคลธรรมดามีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่รวมกันแล้วไม่ถึงหนึ่งล้านบาท เช่นนี้แม้ลูกหนี้อาจไม่อยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ แต่เจ้าหนี้ก็ฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายมิได้

ในทางกลับกัน แม้ลูกหนี้จะเป็นหนี้เกินหนึ่งล้านบาท เช่นเป็นหนี้รวมกันหนึ่งล้านสองแสนบาท แต่ลูกหนี้สามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าตนยังอยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ได้ เช่นนี้แม้ลูกหนี้จะมีหนี้เกินหนึ่งล้านบาท แต่ลูกหนี้ก็จะไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ส่วนในกรณีว่าลูกหนี้เป็นหนี้เกินหนึ่งล้านบาท แต่เจ้าหนี้ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าหนี้นั้นมีจำนวนแน่นอนเท่าไหร่กันแน่ เช่นนี้ศาลก็อาจจะไม่พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย

วิธีพ้นจากการเป็นบุคคลล้มลาย อาจมีได้โดย

  1. การประนอมหนี้ ได้รับความเห็นชอบและปฏิบัติตามข้อตกลงครบถ้วน
  2. ศาลยกเลิกการล้มละลาย เมื่อมีเหตุตามที่มาตรา 135 กำหนดไว้ เช่น หนี้สินได้รับการชำระเต็มจำนวนแล้ว หรือ หลังจากการแบ่งทรัพย์ครั้งสุดท้ายหรือไม่มีทรัพย์จะแบ่งแล้วต่อแต่นั้นมาภายในสิบปีก็ไม่อาจรวบรวมทรัพย์สินได้อีกและไม่มีเจ้าหนี้มาขอให้รวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายอีก หรือ เจ้าหนี้ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เป็นต้น
  3. ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย
  4. ลูกหนี้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อครบสามปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ใช้กับกรณีเป็นบุคคลธรรมดาและหนี้อันเป็นมูลเหตุที่ฟ้องล้มละลายไม่มีลักษณะเป็นการทุจริต
  5. ลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคล พระราชบัญญัติดังกล่าวเปิดช่องทางให้ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ ร้องขอต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการได้ เพื่อให้ลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลนั้นไม่ต้องล้มละลายหากมีช่องทางฟื้นฟูกิจการให้ดำเนินต่อไปซึ่งจะทำให้มีรายได้ที่จะนำมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ การฟื้นฟูกิจการนี้ ใช้ได้เฉพาะกับลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้น บุคคลธรรมดาร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการมิได้

อายุความคดีล้มละลาย

ถ้าเป็นลูกหนี้มีหนี้ กรณีบุคคลธรรมดา มีหนี้สินล้นพ้นตัวให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อลูกหนี้เป็นหนี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท กรณีนิติบุคคล เช่น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน ต้องเป็นหนี้ไม่น้อยกว่าสองล้านบาท และต้องเป็นหนี้ที่สามารถกำหนดจำนวนแน่นอนได้ ซึ่งเจ้าหนี้จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นจึงจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้

หนี้ดังกล่าวต้องไม่เป็นหนี้ที่ขาดอายุความตามกฎหมายแพ่ง เพราะถ้าหนี้ที่นำมาฟ้องนั้นขาดอายุความ ศาลจะพิพากษายกฟ้อง

แต่ถ้าหนี้ที่นำมาฟ้องเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่เคยฟ้องเป็นคดีแพ่งมาก่อนแล้ว เจ้าหนี้ยอมมีสิทธิบังคับคดีได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่หากเจ้าหนี้ไม่ได้บังคับคดี ก่อนที่คดีจะขาดอายุความเจ้าหนี้นำสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากคำพิพากษาถึงที่สุดมาฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายได้

8 บุคคล"ล้มแล้วลุก"จากอสังหาฯ ในวงการอสังหาริมทรัพย์เป็นเส้นทางที่หลายๆคนมองในเรื่องผลตอบแทนแล้วช่างหอมหวนยิ่งนัก แต่เส้นทางกว่าจะประสบความสำเร็จ ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่หลายๆคนวาดฝันเอาไว้ รวมทั้งมหาเศรษฐีหลายคนกว่าที่พวกเขาจะมาเป็นวันนี้อย่างที่หลายๆคนเห็นต้องผ่านอุปสรรค

บทความโดย TerraBKK