ช่วงก่อนมีข่าวซึ่งสร้างความหนาวๆ ร้อนๆ ให้ชาวคอนโดฯ ขึ้นมาข่าวหนึ่ง นั่นคือผนังยัดไส้โฟม ซึ่งเจ้าของห้องไปเจอผนังร้าวแล้วเห็นถึงความ “ผิดปกติ” จนต้องลงทุนทุบพิสูจน์ และพบว่าผนังห้องถูกยัดไส้ด้วยโฟมและวัสดุอื่นๆ เล่นเอาคนซื้อคอนโดเกิดหวาดระแวงไปตามๆ กัน ว่าห้องของตัวเองจะโดนกับเค้าบ้างหรือเปล่า เพราะโฟมในความรู้สึกของคนส่วนใหย่คือวัสดุบางๆ เบาๆ เป็นตัวการทำให้โลกร้อน และที่สำคัญมันไม่ใช่วัสดุก่อสร้าง แต่เชื่อไหมว่า โฟมสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างได้จริงๆ
         ด้วยคุณสมบัติความเหนียว เบา และไม่ย่อยสลาย ทำให้มีการคิดค้นพัฒนาให้โฟมกลายเป็นวัสดุก่อสร้าง โดยโฟมประเภทที่นำมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างคือ Expandable Polystyrene (EPS) หรือ โปลิโฟม มีคุณสมบัติพิเศษ เหนียว และแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักได้มากกว่าโฟมประเภทอื่นๆ แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าโฟมอย่างไรก็คือโฟม เป็นเพียงพลาสติกพองตัวที่อัดกันแน่น ดังนั้นโครงสร้างที่สามารถนำโฟมมาใช้ได้ จึงจำกัดอยู่ในส่วนที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมากนัก เช่น ผนัง หลังคา ฝ้าเพดาน และส่วนตกแต่งอื่นๆ เท่านั้น
          ข้อดีในการใช้โฟมเป็นวัสดุก่อสร้างคือ สวยงามและง่ายต่อการตกแต่งให้เป็นรูปทรงต่างๆ เป็นฉนวนกันความร้อนได้ดี น้ำหนักเบากว่าวัสดุประเภทอื่นถึง 3 – 4 เท่า ช่วยประหยัดแรงงานทั้งขั้นตอนขนย้ายและก่อสร้าง มีคุณสมบัติในการเก็บเสียงได้ดี และเมื่อฉาบปูนทับจะมองไม่เห็นถึงความแตกต่างจากวัสดุประเภทอื่นๆ
          แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ แม้โปลิโฟมจะมีข้อดีมากมาย แต่ในขณะเดียวกันข้อเสียของวัสดุก่อสร้างประเภทนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นด้านความแข็งแรงที่เป็นรองวัสดุชนิดอื่น ความไม่มั่นใจของผู้ใช้ และราคาที่ไม่ได้ถูกลงกว่าวัสดุดั้งเดิมเช่น อิฐ บล็อค หรือไม้ แต่อย่างไร
โปลิโฟม ยังไม่เป็นที่รู้จักเป็นที่แพร่หลายนักในบ้านเรา ทำให้ช่องทางในการศึกษาเกี่ยวกับวัสดุประเภทนี้ยังมีไม่มาก อาคารสร้างด้วยโฟมขนาดใหญ่ที่สุดที่พอจะเข้าไปเยี่ยมชมได้จึงมีไม่กี่ที่ หนึ่งในนั้นคือ ลา ทอสคาน่า รีสอร์ทหรูที่ตั้งอยู่ใน อ.สวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ที่สามารถเข้าไปพักและเยี่ยมชมคุณสมบัติของโปลิโฟมได้ในตัว
          แม้การนำโฟมมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างไม่ใช่เรื่องใหม่ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา ต่างก็มีการนำโฟมมาพัฒนาเพื่อใช้ในการก่อสร้างมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายเทียบเท่ากับวัสดุอื่นๆ เช่น อิฐ บล็อก ฯลฯ และในประเทศไทย ที่เพิ่งรับเอาวัสดุประเภทนี้เข้ามาไม่เกิน 5 ปี ยังต้องมีการศึกษาถึงผลดีผลเสียต่อไปในระยะยาว