จากการประชุมร่วมหารือระหว่าง รองนายกรัฐมนตรี (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ได้ประชุมหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตามแนวตะวันออก-ตะวันตก นอกจากนั้นโครงการนี้ยังเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งของไทยในอนาคต TerraBKK Research เห็นว่ามีความน่าสนใจจึงรวบรวมมาให้ผู้อ่านได้ทราบโดยทั่วกัน สำหรับแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตามแนวตะวันออก ตะวันตก (E-W Corridor) TerraBKK Research ขอแบ่งออกเป็น 2 ตอน ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง ตามแนวตะวันออก-ตะวันตก 2.การพัฒนาโครงข่ายรถไฟตามแนวตะวันออก-ตะวันตก ทั้ง 2 ตอน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง ตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (E-W Corridor) แบ่งออกเป็น

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

1.1 ทางหลวงหมายเลข 12 เส้นทางแม่สอด (เขตเศรษฐกิจพิเศษ)-สุโขทัย-พิษณุโลก-หล่มสัก-น้ำหนาว-ขอนแก่น-กาฬสิทธุ์-นาไคร้-มุกดาหาร (เขตเศรษฐกิจพิเศษ) ระยะทางรวม 777 กิโลเมตร โดยการพัฒนาในแต่ละโซน มีดังนี้

  • ช่วงทางที่ได้ก่อสร้างเป็น 4 ช่องจราจรแล้ว มีระยะทางรวม 482 กิโลเมตร
  • ช่วงทางที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างเป็น 4 ช่องจราจรมีระยะทางรวม 178 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จในปี 2561
  • สำหรับช่วงที่เป็น 2 ช่องจราจร มีแผนจะขยายเป็น 4 ช่องจราจรในอนาคตมีระยะทางรวม 117 กิโลเมตร ได้แก่
    • ช่วงหล่มสัก-น้ำหนาว ตอน 2 ระยะทางรวม 81 กิโลเมตร มีแนวเส้นทางผ่านอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ปัจจุบันได้มีการออกแบบเป็น 4 ช่องจราจร เสร็จเรียบร้อยทั้งหมดแล้วและขณะนี้อยู่ระหว่างขอ EIA ถ้าหาก EIA ผ่านการพิจารณาภายในปี 2559 จะสามารถก่อสร้างได้ทันทีเนื่องจากของบประมาณแล้ว
    • ช่วงนาไคร้-คำชะอี (จังหวัดกาฬสินธ์-จังหวัดมุกดาหาร) มีระยะทางรวม 36 กิโลเมตร ปัจจุบันทางหลวงอยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA

1.2 ทางหลวงพิเศษเชื่อมต่อ Super Cluster บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง มีรายละเอียดเส้นทาง คือ ท่าเรือทวาย-บ้านพุน้ำร้อน-กาญจนบุรี (เขตเศรษฐกิจพิเศษ)-กรุงเทพมาหนคร (บางใหญ่)-วงแหวนด้านตะวันออก (ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9)-ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7-พัทยา-Super Cluster บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนช่วงบ้านพุน้ำร้อน-กาญจนบุรียังขาดการเชื่อมต่อโครงข่าย ปัจจุบันกรมทางหลวงอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) อยู่และคาดว่าออกแบบรายละเอียด (Detail Design) จะแล้วเสร็จในปี 2559 และขั้นตอนต่อไปเข้าสู่กระบวนการยื่นขออนุญาติสิ่งแวดล้อม EIA

1.3 ทางหลวงพิเศษเชื่อมต่อกับ Super Cluster นครราชสีมา แนวเส้นทางการพัฒนา คือ ทางท่าเรือทวาน-พุน้ำร้อน-กาญจนบุรี (เขตเศรษฐกิจพิเศษ)-กทม. (บางใหญ่)-บางปะอิน-นครราชสีมา ส่วนช่วงบ้านพุน้ำร้อน-กาญจนบุรียังขาดการเชื่อมต่อโครงข่าย เช่นเดียวปัญหาของทางหลวงพิเศษเชื่อมต่อ Super Cluster บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

1.4 ทางหลวงสายมุกดาหาร (เขตเศรษฐกิจพิเศษ)-เลิงนกทา-ยโสธร-บุรีรัมย์-ทางหลวงสาย 348-มาบตาพุด (Super Cluster บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง) ปัจจุบันมี 4 ช่องจราจร ตลอดสายทางยกเว้นช่วงเลิงนกทา-ยโสธรมีระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็น 2 ช่องจราจรอนาคตมีแผนจะขยายเป็น 4 ช่องจราจร

2. การพัฒนาโครงข่ายรถไฟตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (E-W)

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

2.1 รถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันออก-ตะวันตก ตอนบน (Upper East-West Economic Corridor) ช่วงแม่สอด-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร สำหรับรถไฟทางคู่สายนี้ถูกออกแบบให้มีขนาดความกว้าง 1 เมตร (Meter Gauge) เส้นทางช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม (เส้นทางตะวันออก) ระยะทาง 355 กิโลเมตร ล่าสุดอยู่ในการพิจารณาขอ EIA เป็นขั้นตอนถัดไป

ส่วนเส้นทางช่วงแม่สอด-ตาก-นครสวรรค์ (เส้นทางตะวันตก) อยู่ระหว่งการศึกษาความเป็นไปได้ของพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเลี่ยงพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ตามแนวเทือกเขา ขณะนี้อยู่ระหว่างคัดเลือกเส้นทางที่มีความเหมาะสมที่สุด ระหว่างเส้นทางจตุรัส-ชัยภูมิ-เลย-หนองบัวลำภู กับเส้นทางลำนารายณ์-เพชรบูรณ์-เลย-หนองบัวลำภู

2.2 รถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันออก-ตะวันตก ตอนล่าง (Lower East-West Economic Corridor) ช่วงกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ และช่วงกาญจนบุรี--กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง

เส้นทางกาญจนบุรี-แหลมฉบัง จากการศึกษาในเบื้องต้น พบว่า มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากพาดผ่านกลุ่ม Cluster ทางเศรษฐกิจ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยปัจจุบันทางรถไฟส่วนใหญ่เป็นทางเดี่ยว ยกเว้นช่วงนครปฐม-บางซื่อ และบางซื่อ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ที่ยังคงเป็นทางคู่

สำหรับเส้นทางเชื่อมท่าเรือทวาย-แหลมฉบัง ที่ได้กำหนดแนวทางการพัฒนา โดยรถไฟให้เข้าสู่สถานีบางซื่อเพื่อเชื่อมต่อไปยังท่าเรือแหลมฉบัง พบว่า สถานีกลางบางซื่อมีปริมาณผู้โดยสารหนาแน่นและปริมาณสินค้าค่อนข้างมากอยู่แล้ว ดังนั้น เพื่อให้เป็นการลงความแออัดของสถานีกลางบางซื่อจึงไม่ควรออกแบบให้เส้นทางรถไฟสำหรับขนส่งสินค้าผ่านเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ และนอกจากนั้นยังพบปัญหาการเวนคืนที่ดินที่ใช้ระยะเวลานาน อีกทั้งยังให้ผลตอบแทนต่ำ ทำให้โครงการนี้ชะลอไปก่อนแต่ยังอยู่ในแผนระยะยาว

นี่คือทั้งหมดของ Mega Project : เส้นทางการพัฒนาคมนาคมขนส่งตามแนวตะวันออก-และตะวันตก (E-W Corridor) ที่ทาง TerraBKK Research ได้เรียบเรียงเอาไว้ผู้ที่สนใจจะลงทุนตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจเหล่านี้สามารถนำข้อมูลข้อเท็จจริงที่ทาง TerraBKK Research นำมาฝากไปประยุกต์ใช้ได้ให้เหมาะสมกับการลงทุนของตนเองให้มากที่สุดได้ - เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้ ขอบคุณข้อมูลจาก : สนข. TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก