การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของภาครัฐ ถือเป็นปัจจัยด้านการลงทุนที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ส่งผลระยะยาวไปยังการเติบโตของรายได้ประชาชาติในอนาคต (GDP) ทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมถูกเลือกเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวในช่วงปี 2558 – 2559 นี้ โดยมาตรการของภาครัฐที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดในขณะนี้ คือ มาตรการเร่งรัดโครงการร่วมลงทุนระหว่างกิจการในรัฐกับเอกชน (PPP Fast Track)

PPP Fast Track หรือ มาตรการเร่งรัดโครงการร่วมลงทุนระหว่างกิจการในรัฐกับเอกชน เป็นมาตรการเพื่อลดระยะเวลาการดำเนินลดลงกว่า 1 ปี ทำให้เกิดความรวดเร็วในการอนุมัติโครงการ และมีการกระจายเม็ดเงินลงทุนได้รวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะ ในหัวเมืองเศรษฐกิจทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดสำหรับ PPP Fast Track มีโครงการอะไรบ้าง รายละเอียดโครงการเป็นอย่างไร TerraBKK Research รวบรวมข้อมูลไว้ดังต่อไปนี้

PPP Fast Track ได้อนุมัติโครงการเร่งด่วนแล้วจำนวน 5 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 334,207 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี มีมูลค่าโครงการ 56,725 ล้านบาท
  • โครงรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว – สำโรง มีมูลค่าโครงการ 54,768 ล้านบาท
  • โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแคและช่วงบางซื่อ – ท่าพระ มีมูลค่าโครงการ 82,600 ล้านบาท
  • โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางประอิน – นครราชสีมา มีมูลค่าโครงการ 84,600 ล้านบาท
  • โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี มีมูลค่าโครงการ 55,620 ล้านบาท

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี โครงรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแคและช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ในเดือนกุมภาพันธ์จะนำเข้าสู่ที่ประชุม PPP และจะเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนมีนาคม 2559 ส่วนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 โครงการ จะประกวดราคาให้ทันในช่วงไตรมาสที่ 3 - 4 ของปี 2559

รายละเอียด PPP Fast Track โครงการรถไฟฟ้าและทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองทั้ง 5 โครงการ

1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี แนวเส้นทางเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ บริเวณใกล้แยกแคราย วิ่งไปตามถนนติวานนท์จนถึงห้าแยกปากเกร็ด จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าถนนแจ้งวัฒนะผ่านเมืองทองธานี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่แยกหลักสี่บริเวณริมถนนวิภาวดีีรังสิต และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ บนถนนพหลโยธิน บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ จากนั้นวิ่งไปบนถนนรามอินทราจนถึงแยกมีนบุรี แล้ววิ่งเข้าสู่เมืองมีนบุรี ตามแนวถนนสีหบุรานุกิจ จนถึงสะพานข้ามคลองสามวา จึงเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบและข้ามถนนรามคำแหง หรือถนนสุขาภิบาล 3 สิ้นสุดสถานีปลายทางที่บริเวณใกล้แยกถนนรามคำแหง-ร่มเกล้า ซึ่งจะบรรจบกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางกะปิ-มีนบุรี รวม 30 สถานี ระยะทางทั้งสิ้น 34.5 กิโลเมตร

2. โครงรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว – สำโรง

โครงการขนส่งระบบรถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้แบ่งเส้นทางโครงการออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงรัชดา/ลาดพร้าว–พัฒนาการ และช่วงพัฒนาการ–สำโรง เส้นทางทั้ง 2 ช่วงได้รวมเป็นเส้นทางเดียวกันตลอดทั้งสายทางและระบบที่ใช้เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ช่วงรัชดา/ลาดพร้าว – พัฒนาการ จุดเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงินระยะแรก) ที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปตามแนวถนนลาดพร้าว จนถึงทางแยกบางกะปิ จากนั้นแนวเส้นทางจะเบนไปทางทิศใต้ตามถนนศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ที่ทางแยกลำสาลี สิ้นสุดเส้นทางที่บริเวณทางแยกต่างระดับพระราม 9 โดยเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้า เชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) ระยะทางรวม 12.6 กม. มีจำนวนสถานีประมาณ 11 สถานี โดยประมาณ

ช่วงพัฒนาการ – สำโรง จุดเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับ Airport Rail Link บริเวณทางแยกพระราม 9 ไปตามแนวถนนศรีนครินทร์ ผ่านแยกพัฒนาการแยกศรีนุช แยกศรีอุดมสุข แยกศรีเอี่ยม จนถึงแยกศรีเทพา จากนั้นแนวเส้นทางจะเบนไปทางทิศตะวันตก ตามแนวถนนเทพารักษ์ ผ่านจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง และสิ้นสุดเส้นทางบริเวณแนวถนนปู่เจ้าสมิงพราย ระยะทางรวม 17.8 กม. มีจำนวนสถานีประมาณ 11 สถานี โดยประมาณ

3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแคและช่วงบางซื่อ – ท่าพระ

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลําโพง-บางแค และ ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ นอกจากจะช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดและคับคั่งบนถนนที่มีพื้นที่จํากัด และไม่อาจขยายออกไปได้ในเขตเมืองชั้นในของกรุงเทพมหานครที่นับวันจะมีแต่ ความแออัดเพิ่มมากขึ้น และช่วยลดการใช้พลังงานน้ำมันจากการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแล้ว เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถลดปริมาณรถยนต์ทวงจากชานเมืองเข้ามา ในเขตกลางเมือง ช่วยปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ตามแนวสายทาง และพื้นที่ข้างเคียงโดยช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศ และเสียงจากการจราจรบนถนน รวมทังปรับปรุงคุณภาพชีวตของประชาชนให้ดีขึ้นด้วย

4. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางประอิน – นครราชสีมา

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 (สายบางประอิน-นครราชสีมา) เป็นทางหลวงพิเศษที่สามารถแบ่งเบาการจราจรทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) และทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ที่มีปริมาณการจราจรสูงและนับวันยิ่งประสบปัญหาการจราจรมากขึ้น และนอกจากนี้ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางประอิน-นครราชสีมายังช่วยนำความเจริญมาสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคให้ดีขึ้น เนื่องจากจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างฐานการผลิตและส่งออกของประเทศไทยเข้ากับสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดจีน โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ตอน คือ ตอน 1 จาก อำเภอบางประอิน-อำเภอปากช่อง ระยะทาง 103 กิโลเมตรและตอน 2 จากอำเภอปากช่อง - จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง 93 กิโลเมตร โดยแนวทางจะผ่านพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา 5 อำเภอ ได้แก่อำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน และอำเภอขามทะเลสอ แล้วไปสิ้นสุดโครงการโดยเชื่อมต่อเข้ากับทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมารวมระยะทาง 93 กิโลเมตร

5. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี เป็นการก่อสร้างทางแนวใหม่ตามมาตรฐานทางหลวงพิเศษ ควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ มีจุดเริ่มต้นที่ทางแยกต่างระดับบางใหญ่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ผ่านพื้นที่อำเภอพุทธมณฑล อำเภอนครชัยศรี และ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม และอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี อำเภอท่ามะกา อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี และมีจุดสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 324 อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี รวมระยะทางประมาณ 96 กิโลเมตร โดยช่วงบางใหญ่ – นครปฐม ออกแบบเป็นทางหลวงพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร และช่วงนครปฐม – กาญจนบุรี ออกแบบเป็นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร มีด่านเก็บค่าผ่านทางแบบคิดตามระยะทาง (ระบบปิด) จำนวน 8 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 8 แห่ง สถานีบริการทางหลวง (Service Area) 2 แห่ง และที่พักริมทางหลวง (Rest Area) 1 แห่ง โดยกำหนดไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสมตลอดแนวโครงการ

TerraBKK Research มองว่า 5 โครงการเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโครงการเร่งด่วนที่สำคัญ ที่จะคอยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจตามหัวเมืองสำคัญ แน่นอนว่าผลประโยชน์ย่อมกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของประเทศได้อย่างแน่นอน

บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้ TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก