โควิด-19 ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าจีดีพีปีนี้จะติดลบถึง 8.1% มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ยิ่งกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง หลังเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเสียหายหนัก

โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวเนื่องจากพึ่งพารายได้จากต่างประเทศเป็นสำคัญ แต่เมื่อเกิดโรคระบาดจนรัฐบาลต้องตัดสินใจใช้ยาแรง ประกาศล็อกดาวน์ปิดประเทศ ส่งผลให้การค้าการขายระหว่างประเทศ การเดินทางท่องเที่ยวได้รับผลกระทบไปเต็มๆ

ขณะที่การบริโภคในประเทศซบเซาไปตามภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อก็หดหาย ประชาชนต้องรัดเข็มขัด ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เพราะมีไม่น้อยที่ถูกลดเงินเดือน ถูกตัดโอที ค่าเบี้ยเลี้ยงต่างๆ เลวร้ายสุดถึงขั้นถูกเลิกจ้าง ตกงานน่าจะหลายแสนคน

และแน่นอนว่าท่ามกลางภาวะวิกฤตแบบนี้ภาคเอกชนต้องยกการ์ดสูง เพราะสถานการณ์ยังไม่นิ่ง การลงทุนต่างๆ อาจจะต้องพับแผนชะลอออกไปก่อน ทำให้ตอนนี้คงได้แต่ฝากความหวังไว้ที่การใช้จ่ายภาครัฐว่าจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจคขนาดใหญ่ ที่จะนำมาซึ่งการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน

แม้ว่าหลายโครงการจะล่าช้าไปตามการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ที่ดีเดย์มาถึง 5 เดือน จากเดือน ต.ค. 2562 เลื่อนมาเป็นปลายเดือน ก.พ. 2563 แล้วยังมาเจอโควิดซ้ำเติมอีก ทำให้โครงการประมูลถูกเลื่อนออกไปไม่น้อย แต่มาเวลานี้เมื่อโรคระบาดเริ่มคลี่คลาย ทำให้เกิดความหวังว่าภาครัฐจะกลับมาใส่เกียร์เดินหน้า เร่งผลักดันโครงการลงทุนที่ค้างท่ออยู่ออกมาในช่วงครึ่งปีหลังเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ 

 

ซึ่งเริ่มต้นประเดิมไปแล้วกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี มูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท ที่เปิดขายซองประมูลไปเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก มีเอกชนถึง 10 บริษัท สนใจลงสนามพร้อมชิงชัย เพราะเป็นเส้นทางหลักที่วิ่งผ่านใจกลางเมือง เชื่อมโยงกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าทุกสายที่ให้บริการในปัจจุบัน โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเปิดให้ยื่นซองประมูลในวันที่ 23 ก.ย. นี้ และมั่นใจว่าจะประกาศผลและเซ็นสัญญาได้ภายในสิ้นปีนี้แน่นอน

ดูแล้วงานนี้น่าจะเป็นการดวลกันระหว่าง 2 กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่มาพร้อมบริษัทแม่บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ในฐานะผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงในปัจจุบัน

กับกลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ผู้รับสัมปทานเดินรถสายสีเขียว, สีชมพู และสีเหลือง ซึ่งคาดว่าจะจับมือพันธมิตรรับเหมาก่อสร้างคู่ใจ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH

ที่ผ่านมาทั้ง 2 กลุ่มประกาศชัดพร้อมสู้เต็มที่ รับรองงานนี้เดือด! แน่นอน อย่างล่าสุดวานนี้ (6 ส.ค.) มีการประชุมผู้ถือหุ้นของ CK ซึ่งแม่ทัพใหญ่ “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” ประธานกรรมการบริหาร ประกาศชัดเตรียมพร้อมทุกด้านเพื่อเดินหน้าประมูลงานใหม่ที่คาดว่าจะมีออกมามากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ซึ่งจะช่วยเติมงานในมือ (Backlog) ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งจากระดับ 3.85 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ก่อนหน้านี้ทางกลุ่ม BTS ประกาศพร้อมลุยเดินหน้าลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐานเต็มพิกัด ทั้งงานระบบราง บก อากาศ น้ำ (Air Sea Land) หลังพึ่งคว้าบิ๊กโปรเจคสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมาได้ โดยงานปีนี้มีทั้งรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกที่ซื้อซองไปแล้ว นอกจากนี้ ก็สนใจเข้าประมูลโครงการมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ มูลค่า 7.6 หมื่นล้านบาท หลังประเดิมได้งาน O&M มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช และ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ไปก่อนหน้านี้

สุดท้ายแล้ว คงต้องรอดูว่าภาครัฐจะทำคลอดโครงการประมูลใหม่ออกมาได้มากน้อยแค่ไหน แต่เมื่อฟังจากเสียงเอกชนก็ต่างมั่นใจว่าจะมีงานใหม่ออกมาอีกไม่น้อย เพราะเวลานี้การลงทุนภาครัฐดูจะเป็นความหวังเดียวที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจ

SOURCE : www.bangkokbiznews.com/news/detail/892599?utm_source=slide_recentnews&utm_medium=internal_referral