ทำไมมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกาถึงไม่สามารถรับมือกับการระบาดของ 'โควิด-19' ได้อย่างที่ควรจะเป็น หนำซ้ำยังมีการประท้วงครั้งใหญ่จากประเด็นการเหยียดผิวที่ลุกลามบานปลายกลายเป็น 'จราจล' หรือ...ยุคแห่งการถดถอยของจักรวรรดิอเมริกาจะมาถึงแล้วจริงๆ

ความคิดเรื่องจักรวรรดิอเมริกาถึงยุคถดถอย (American empire decline) เกิดมานานพอสมควรแล้ว นับวันความเชื่อว่า อเมริกาผ่านจุดสูงสุดและกำลังตกต่ำลงยิ่งมากขึ้นๆ แค่เปิดกูเกิ้ลดู จะเห็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์วิจารณ์มากมายไปหมด

ปี 2011 นักคิดอย่าง Noam Chomsky เขียนบทความ American Decline: Causes and Consequences แม้บางเรื่องยังถูกครึ่งเดียว เช่นประเด็นที่เขียนว่า จีนกับอินเดียจะเป็นมหาอำนาจใหม่ ต่อให้อินเดียยังไม่ทันผงาดขึ้นแต่จีนก็แซงหน้าอเมริกาไปแล้วในหลายสิ่ง และก็ไม่ใช่แค่ Noam Chomsky เท่านั้นยังมีนักคิดนักวิเคราะห์รายอื่นที่มองเห็นอาการถดถอยของอเมริกาด้วยสายตาเดียวกัน อย่างเช่น Robert Murray เขียนหนังสือ The Decline and Fall of the American Empire เอาไว้ตั้งแต่ 2002 โน่น และก็ไม่ต้องพูดถึงบทความในหนังสือพิมพ์แมกกาซีนอื่นๆ ที่สามารถเสิร์ชกูเกิ้ลแล้วเห็นได้ทันที

สังเกตดู ผู้คนที่สนใจเรื่องว่าด้วยอเมริกาถดถอยแทบทั้งหมด ก็คือชาวอเมริกันนั่นล่ะ..มากที่สุด 

ทุกคนรู้ดีว่าประวัติศาสตร์โลกตั้งแต่ยุคบาบิโลน จักรวรรดิโรมัน จักรวรรดิมองโกล ต่อให้มีอำนาจและยิ่งใหญ่มากขนาดไหนก็มีวันถึงจุดจบ มันเป็นสัจธรรม แต่ที่เขาพยายามคิดเขียนและมองก็แค่อยากรู้ว่า ขณะนี้อาการถดถอยแค่เริ่มผ่านพ้นจุดสูงสุด หรือกำลังดิ่งลงต่างหาก

และชาวอเมริกาส่วนใหญ่ก็รู้ซึ้งดีว่า ยุคแห่งความยิ่งใหญ่บนจุดสูงสุดของปิรามิดนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้วจริงๆ มิฉะนั้นจะเกิดแคมเปญหาเสียง ผลการค้นหา Make America Great Again จนโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งได้อย่างไร คนที่เลือกทรัมป์รู้สึกว่า “ที่เป็นอยู่ไม่ใช่” พวกเขาจึงเลือกเพื่อหวังจะให้ทรัมป์นำ “ยุคสมัยแห่งความรุ่งโรจน์” หวนคืนกลับมา

 

ดังนั้น ประเด็นที่ว่าอเมริกากำลังถดถอยจริงหรือไม่นั้น...มันก็มีคำตอบอยู่แล้ว

คำถามที่ควรจะถามมากกว่าก็คือ หลังจากถดถอยแล้วจะเกิดอะไรขึ้น-แบบไหน? ถดถอยแล้วจะเสื่อมไหม จะค่อยๆ เสื่อม หรือปุบปับฉับพลัน? ประเด็นเหล่านี้วิวาทะมุมมองมากมายค้นได้ในอินเตอร์เน็ต เพราะกลุ่มที่เห็นว่าอเมริกายังสามารถกลับมายิ่งใหญ่ต่อไปได้ก็มีเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยุคนี้เป็นยุคที่เสียงส่วนใหญ่คิดว่า ยังเป็นช่วงที่ America พยายามจะ Great Again! พยายามกลับไปสู่ยุคทอง  ซึ่งอันที่จริงแล้วยุคทองของอเมริกานั้นสั้นนิดเดียว!

สหรัฐอเมริกาเริ่มตั้งประเทศราวๆ ต้นรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1 ไต่ขึ้นเป็นประเทศชั้นนำในราวๆ สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเริ่มพัฒนาทุนอุตสาหกรรมและการค้นคว้าวิจัยใหม่ๆ จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่ง แทนจักรวรรดินิยมอังกฤษที่ถอยลง ช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ราวๆ 100 ปี ซึ่งสั้นมากเมื่อเทียบกับจักรวรรดิโรมัน หรือแม้แต่จักรวรรดิอังกฤษดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่ตกดิน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกาสะสมความมั่งคั่งถึงราว 1 ใน 4 ของโลก เป็นช่วงเวลาที่ยุโรปพังทลายจากสงคราม อันว่าความยิ่งใหญ่ของประเทศ/จักรวรรดินั้นไม่ใช่แค่กำลังทหารดอกครับ ต้องถึงพร้อมองค์ประกอบความมั่งคั่งซึ่งขณะนั้นอเมริกามีอยู่แล้วซ้ำ ประธานาธิบดีรูสเวลท์ ยังวางแผนให้กุมความมั่งคั่งยิ่งๆ ขึ้นไปอีกจากน้ำมันในตะวันออกกลางและโลกการเงินที่มีระบบดอลลาร์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งนั่นก็ยังไม่เพียงพอ เพราะมหาอำนาจที่แท้จริงต้องเป็นเจ้าของ 'อำนาจละมุน' ความรู้ ระบบการศึกษา วัฒนธรรมพร้อมกันไป

และอเมริกาก็ได้สถาปนาอำนาจวัฒนธรรมความรู้ soft power ขึ้นมาในจังหวะนั้น ท่านๆ ทราบไหมครับว่าชนชั้นนำของสยาม/ไทยเราก่อนสงคราม ไม่มองอเมริกาอยู่ในสายตาที่จะส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือเลย ในยุคโน้นต้องยุโรปเท่านั้นถึงจะเป็นครีม แต่หลังจากสงครามโลกมหาวิทยาลัยอเมริกันผงาดขึ้นเป็นเบอร์ต้นของโลก โดยเฉพาะกลุ่มไอวี่ลีก ถ้าย้อนดูประวัติของมหาวิทยาลัยกลุ่มนี้จะยิ่งเห็นลำดับเวลา time line ของมหาอำนาจใหม่ชัดเจนขึ้น เพราะไอวี่ลีกรวมกลุ่มกันเมื่อปี 2478 ก่อนสงครามโลกไม่นาน ภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ยาตราตีตลาดโลกเกิดหลังจากสงครามเช่นกัน

ข่าวสารการประท้วงใหญ่ของผู้คนในอเมริกาหลายเมืองใหญ่ รุนแรงขนาดมีการปล้นสะดมร้านค้าเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจไม่น้อยสำหรับดินแดนเสรี ประเทศมหาอำนาจซึ่งเป็นที่ใฝ่ฝันของผู้คนมากมาย เหตุการณ์ที่เกิดไม่ใช่เป็นเหตุแรก แต่มันเกิดสะสมต่อเนื่องยาวนานหลายปี สะท้อนถึงความเสื่อมทรุดของระบบสังคม ก่อนหน้านี้มีเหตุกราดยิงในโรงเรียน ในออฟฟิศ ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเป็นข่าวปกติ ฯลฯ เหล่านี้เป็นอาการของสังคมภายใน

เมื่อปี 2011 บทความของ Noam Chomsky พยายามตั้งคำถามถึงบัลลังก์มหาอำนาจโดยผ่านบริบทการต่างประเทศ อิทธิพลของอเมริกาในภูมิภาคต่างๆ ที่เริ่มถอยลง รวมถึงความไม่แน่นอนของระบอบประชาธิปไตยในหลายๆ ประเทศที่เคยเป็นพันธมิตร โดยที่ Noam Chomsky ไม่ได้แตะหรือกล่าวถึงปัญหาสังคมภายในมากนัก ไปๆ มาๆ จุดที่เกิดเป็นปัญหารูปธรรมเร่งด่วนกลับไม่ใช่การต่างประเทศ หากแต่เป็นปัญหาภายใน...

มันเป็นไปได้อย่างไรประเทศที่ผู้คนทั่วโลกยอมรับในความปลอดภัย มีระบบสังคมแถวหน้าของโลก แต่กลับย่ำแย่สุดเมื่อเจอโรคระบาดใหญ่ ผู้คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง เมืองใหญ่อย่างนิวยอร์คขาดแคลนโลงศพขนาดต้องใช้โลงกระดาษและเช่ารถบรรทุกเก็บศพ เนื่องจากที่เก็บศพไม่เพียงพอ จากนั้นก็เกิดเหตุประท้วงจากระบบยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมกลายเป็นจลาจล เกิดอะไรขึ้นกับประเทศที่ผู้คนเคยอยากเดินทางไปสัมผัสสักครั้งในชีวิต อยากรู้จริงๆ ว่าหากมีใครยื่นตั๋วเครื่องบินฟรีให้ไปอเมริกาบอกให้ไปพรุ่งนี้มะรืนนี้ จะมีใครกล้าเดินทางไปสักกี่รายหนอ  

เราท่านเป็นคนรุ่นที่เกิดมาเป็นประจักษ์พยานเห็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ของโลก ...เมื่อปี 2536 ผู้เขียนได้ไปรู้จักประเทศจีนตั้งแต่ยังมีห้องส้วมไม่มีประตู ได้บินเครื่องบินในประเทศที่ผู้โดยสารอุ้มไก่หอบเข่งชะลอมไปออกันที่บันไดเครื่องบิน รอให้แอร์โฮสเตสกวาดขยะใส่ถุงหิ้วลงมา จากนั้นผู้โดยสารก็กรูขึ้นไปนั่ง บ้านเมืองไม่เรียบร้อย ไม่ร่ำรวย มีเงินหยวนต้องแลกทิ้งไม่กล้าเก็บ สินค้าจีนสู้ใครไม่ได้ มีแต่ของก๊อปของปลอม... ชั่วเวลาไม่กี่อึดใจจีนกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของยี่ห้อโทรศัพท์มือถือจากจีน

ยิ่งย้อนไปดูเรื่องราวในประวัติศาสตร์โลก เวลา 100-200 ปีไม่ยาวเลย...สังคมหนึ่งๆ สามารถขึ้นลง โชติช่วง หรือสูญหาย ต่ำเตี้ยลงในชั่วพริบตา

 

SOURCE : www.bangkokbiznews.com