มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่เริ่มต้นในเมืองอู่ฮั่นของจีน ต้นตอของการอุบัติขึ้นของโรคเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา นับเป็นมาตรการที่ช่วยลดการติดเชื้อลงได้ และหลังจากที่ปิดเมือง 76 วัน อู่ฮั่นก็ได้กับเปิดเมืองอีกครั้งแบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ในวันที่ 8 เมษายน 2563

เมื่อมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก หลายประเทศได้นำมาตรการล็อกดาวน์มาใช้ในช่วงกว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทั้ง อิตาลี สเปน สองประเทศในยุโรปที่มีการระบาดหนักรวมไปถึงอังกฤษ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก นับเป็นมาตรการที่ช่วยลดการติดเชื้อลงในหลายพื้นที่ จนบางประเทศเริ่มทยอยผ่อนคลายการล็อกดาวน์ ด้วยการอนุญาตให้ร้านค้าเล็กๆ กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่ก็ยังมีบางประเทศ บางรัฐในสหรัฐฯ ขยายระยะเวลาการใช้มาตรการล็อกดาวน์ออกไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ส่วนที่อังกฤษ นายโดมินิก ราบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุขกล่าวว่า อาจจะใช้มาตรการล็อกดาวน์ไปจนถึงเดือนมิถุนายน ขณะที่มีแรงกดดันมากขึ้นให้คณะรัฐมนตรีเตรียมแผนผ่อนคลายมาตรการ

ประเทศไทยเองก็ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ด้วยการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 และจำนวนผู้ติดเชื้อก็เริ่มลดลง

มาตรการล็อกดาวน์ที่กินเวลานานนับเดือน ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งในบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ ได้ออกมาประท้วงให้เปิดเมือง ประกอบกับการปิดเมืองได้สร้างผลกระทบให้เศรษฐกิจหยุดชะงักอย่างฉับพลัน ทำให้ภาคธุรกิจออกเรียกร้องให้เปิดเมืองหรือผ่อนคลายมาตรการลง รวมทั้งประเทศไทยเองที่ภาคธุรกิจได้เตรียมการที่จะกลับมาเปิดให้บริการหลังจากวันที่ 30 เมษายนนี้

คำถามจึงอยู่ที่ว่า จะใช้อะไรมาพิจารณาในการตัดสินใจเปิดเมืองหรือผ่อนคลายมาตรการ

WHO เตือนต้องผ่อนคลายเป็นระยะ

ดร.เทดรอส อาดานอม เกรเบรเยซุส เลขาธิการองค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) กล่าวในที่ประชุมร่วมกับผู้นำกลุ่มประเทศ G20ผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ แม้ว่าบางประเทศสามารถเตรียมการที่จะผ่อนคลายการล็อกดาวน์ แต่ต้องดำเนินการผ่อนคลายเป็นระยะๆ

ดร.เทดรอสกล่าวว่า ทุกประเทศได้รับผลกระทบ และแต่ละประเทศอยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

บางประเทศ เช่น ออสเตรีย เยอรมนี และอิตาลี เริ่มประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลังจากข้อมูลผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากการรักษาลดลง ซึ่งดร.เทดรอสกล่าวว่า “การยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์นั้นไม่ได้หมายความว่าการระบาดจบลงแล้วในประเทศนั้นๆ แต่เป็นการเริ่มต้นของการระบาดระยะต่อไป”

“สิ่งสำคัญในระยะต่อไปคือ ประเทศต่างๆ จะให้ความรู้ มีส่วนร่วม และช่วยให้ประชาชนสามารถป้องกันและตอบสนองอย่างรวดเร็ว หากการระบาดกลับมาใหม่” ดร.เทดรอสกล่าวและว่า จึงจำเป็นที่จะต้องทำให้แน่ใจว่าประเทศต่างๆ มีความสามารถในการตรวจหา ทดสอบ กักกัน และรักษาในทุกรณี และสืบค้นโรคจากทุกคนที่มีการสัมผัส และต้องให้แน่ใจว่าระบบสาธารณสุขมีความสามารถที่จะรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น

ดร.เทดรอสกล่าวว่า ยังมีความวิตกอย่างมากว่า การระบาดของไวรัสเริ่มกระจายตัวมากขึ้นในประเทศที่ไม่มีความสามารถเท่าเทียมกับประเทศในกลุ่ม G-20 ในการตอบสนองกับการระบาด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการให้ความช่วยเหลือแบบฉุกเฉิน ไม่เฉพาะเพื่อช่วยประเทศในการต่อสู้กับการระบาดของไวรัส แต่เพื่อให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง

6 ข้อแนะนำก่อนเปิดเมือง

ทางด้าน ดร.มาเรีย แวน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ โครงการสาธารณสุขฉุกเฉินของ WHO (Technical Lead of the WHO Health Emergencies Programme) กล่าวในการแถลงข่าววันที่ 13 เมษายนว่า หลายฝ่ายได้เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อทรงตัวในบางประเทศ แต่เราก็ต้องอดทนและระมัดระวัง

“คนอาจจะต้องอยู่บ้านนานขึ้น” ดร.มาเรียกล่าว และต้องมียุทธศาสตร์ในการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ไม่ใช้ยกเลิกทั้งหมดพร้อมกัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการหยุดชะงักอีก “การไม่ยกเลิกทั้งหมดพร้อมกันจึงมีความสำคัญ เพื่อที่เราจะได้ให้คนกลับมาทำงาน ทำให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้อีกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ดร.มาเรียกล่าวว่า หลายประเทศสามารถเริ่มผ่อนคลายการล็อกดาวน์ได้แล้ว ในพื้นที่ที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่ต้องมียุทธศาสตร์ในการควบคุม รวมทั้งมีระบบที่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้หากจำเป็น

ดร.เทดรอสกล่าวว่า องค์การอนามัยโลกกำลังจัดทำคู่มือคำแนะนำ ให้กับประเทศที่กำลังพิจารณาการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ โดยประกอบด้วยหลักสำคัญ 6 ข้อ คือ

1) มีการควบคุมการระบาด การติดเชื้อ

2) ระบบสาธารณสุขมีความสามารถและพร้อมที่จะตรวจจับ ทดสอบ กักกัน และรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทุกคน และสืบค้นโรคได้ทุกกรณีที่มีการสัมผัส

3) มีการควบคุมความเสี่ยงของการระบาดให้ต่ำมาก ในพื้นที่พิเศษ เช่น สถานที่ให้บริการสาธารณสุข และเนิร์สซิงโฮม

4) มีมาตรการป้องกันเตรียมไว้ในสถานที่ทำงาน โรงเรียนและสถานที่อื่นที่ประชาชนจำเป็นต้องไป

5) สามารถจัดการกับการติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศได้

6) ชุมชนได้รับความรู้ความเข้าใจอย่างดี มีส่วนร่วม และมีการช่วยให้พวกเขาได้ปรับตัวเข้ากับโลกใหม่ หรือ new normal

ดร.ไมเคิล เจ. ไรอัน ผู้บริหารฝ่ายภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ (Health Emergencies Programme) ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ทรงตัว ไม่ได้หมายความว่าผ่านพ้นสถานการณ์ที่เลวร้ายสุดไปแล้ว “แต่เป็นเวลาที่ต้องระมัดระวัง”

ดร.ไมเคิลกล่าวว่า ยังต้องมีการใช้มาตรการระยะห่างทางกายภาพและการล้างมือต่อไป แม้หลังจากที่มีการยกเลิกการล็อกดาวน์ “เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราไปอีกระยะหนึ่ง”

นอกจากนี้ ต้องเพิ่มขีดความสามารถด้านสาธารณสุขไว้รองรับหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และโรงพยาบาลต้องมีอุปกรณ์ป้องกันไว้พร้อม รวมทั้งต้องมีห้องไอซียูไว้รองรับ “หลังยกเลิกการล็อกดาวน์ เราอาจจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และเราไม่ต้องการให้การล็อกดาวน์นั้นสูญเปล่า”

“ตอนนี้เราต้องทุ่มเทเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า” ดร.ไมเคิลกล่าว “ตอนนี้เป็นเวลาที่เราต้องระวังอย่างมาก”

เมื่อไรถึงยกเลิกล็อกดาวน์ได้

เมื่อเมืองอู่ฮั่นแหล่งต้นตอแห่งการระบาดของไวรัสยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ทั่วทั้งโลกต่างจับตามอง หลังจากที่ปิดเมือง 76 วัน เพราะมาตรการล็อกดาวน์ดูเหมือนว่ามีประสิทธิภาพ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงจากที่เคยสูงถึง 1,500-2,000 รายต่อวันลงมาเหลือเพียง 10 รายต่อวันเท่านั้น

ขณะเดียวกัน หลายประเทศกำลังเข้าสู่เดือนที่สองของการล็อกดาวน์ และตั้งคำถามว่า เมื่อไรจะถึงคราวยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ได้บ้าง ซึ่งประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและจำนวนผู้เสียชีวิตเริ่มมีสัญญานการชะลอตัว ก็อาจจะเข้าใกล้ความจริงได้มากขึ้น

การยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ของอู่ฮั่นเริ่มต้นด้วยการทะยอยผ่อนคลายข้อห้ามต่างๆ ด้วยการอนุญาตให้ชาวเมืองออกจากบ้านได้แต่ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด และที่สำคัญกว่านั้นคือ ได้มีการใช้โปรแกรมคัดกรองร่วมด้วย โดยได้ทดสอบคนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ รวมทั้งคนที่มีความใกล้ชิดกับผู้ป่วย ซึ่งทำให้ทางการสามารถควบคุมการติดเชื้อและลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ถึง 90%

การยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศอื่นก็เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมการระบาดของไวรัสและการปกป้องสาธารณชนหลังจากยกเลิกมาตรการ ดังนั้น เพื่อประเมินได้ว่าจะยกเลิกมาตรการได้หรือไม่ และตัดสินใจได้ว่าจะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์เมื่อไร ต้องตอบคำถาม 3 ข้อต่อไปนี้ให้ได้

ข้อแรก เราสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้มากพอที่จะไม่เกิดการระบาดมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรอบสองขึ้นอีกในอนาคตหรือไม่การที่จะตอบว่า ใช่ นั้นมีแรงกดดันพอสมควร เพราะต้องให้แน่ใจจริงว่าเราได้ผ่านจุดสูงสุดของการระบาดมาแล้ว การติดเชื้อลดลง และไม่ใช่การควบคุมการระบาดได้เพียงชั่วคราว

การใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ทำนายอัตราการแพร่กระจาย ทั้งนี้อัตราการแพร่กระจายวัดจากผู้ติดเชื้อ 1 รายที่จะแพร่จะกระจายเชื้อให้คนอื่นกี่ราย หรือเรียกว่าอัตรา R0 ซึ่งจะต้องลดลงมาต่ำกว่า 1 และหากไม่มีการใช้ข้อห้ามและข้อจำกัดต่างๆ อัตราการแพร่กระจายจะอยู่ระหว่าง 2-3 การที่จะดึงอัตราแพร่กระจายให้ลงมาที่ต่ำกว่า 1 หมายถึง มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่าผู้ที่รักษาหาย ดังนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลงและการแพร่ระบาดจะหายไป

ผลของการล็อกดาวน์
การใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์นี้เอง ที่แสดงให้เห็นว่ามาตรการล็อกดาวน์และมาตรการระยะห่างทางกายภาพได้ผล โดยการใช้แบบจำลองในการศึกษา การห้ามการเดินทางในอู่ฮั่นได้ดึงให้อัตรา R0 ลงจาก 2.35 เป็น 1.05 ภายในสองสัปดาห์ ขณะที่ในอังกฤษ การวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า อัตรา R0 ลดลง 73% ตั้งแต่เริ่มมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์

ในอีกงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ที่ใช้แบบจำลองทำนายการแพร่ระบาดนอกมณฑลหูเป่ย พบว่า การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่เร็วเกินไป อัตรา R0 จะมีค่าเกิน 1 หลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการและนำไปสู่การระบาดรอบสอง

แม้มีตัวชี้วัดว่าบางประเทศได้เข้าสู่จุดสูงสุดของการระบาดแล้ว แต่ความเป็นจริงอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งถึงจะมั่นใจได้ว่าไม่ใช่เป็นการควบคุมได้ชั่วคราว เพราะอาจมีความล่าช้าในการรายงานตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต

ที่สำคัญ การสกัดการระบาดของไวรัสด้วยการใช้มาตรการระยะห่างทางกายภาพนั้น ไม่ได้เป็นเพียงการป้องกันผู้คนไม่ให้เสียชีวิต แต่เป็นการซื้อเวลาให้กับนักวิทยาศาสตร์ในการศึกษาเกี่ยวกับไวรัสและรูปแบบการระบาดอีกด้วย และเพื่อคิดค้นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งหมดนี้นำไปสู่คำถามข้อที่สองว่า เราสามารถระบุตัวผู้ติดเชื้อและป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งการที่จะทำเช่นนั้นได้ เราต้องแน่ใจได้ว่าผู้ที่ติดเชื้อนั้นได้กักกันตัว จากนั้นเราต้องหาทางในการสืบค้นทุกคนที่มีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อเพื่อดูว่า จะต้องมีการกักกันกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยหรือไม่

อีกทั้งเราต้องรู้ว่ามีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือไม่ ผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้บ่งชี้ว่า อาจจะเป็นได้ว่ามีผู้ติดเชื้อและเป็นพาหะโดยไม่แสดงอาการ แต่เพื่อให้แน่ใจเราต้องมีการตรวจคนจำนวนมากอย่างเร่งด่วน

การตรวจหาภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับไวรัส จะบอกเราได้ว่าใครบ้างที่ติดเชื้อและทำให้เราได้ภาพที่แท้จริงของการระบาด อีกทั้งขณะนี้ก็มีชุดตรวจหาภูมิคุ้มกันแล้ว และยังมีการพัฒนาต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าถูกต้องมากพอที่จะขยายผลเป็นโครงการคัดกรองขนาดใหญ่ที่มีผลเชื่อถือได้ ซึ่งหากทำได้เราก็จะแน่ใจได้ว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้นจากรายที่ไม่มีการวินิจฉัย

การระบาดรอบสอง
ข้อสุดท้าย ยังมีคำถามอีกว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากมีการระบาดรอบสองหลังจากยกเลิกข้อห้ามแล้ว วิธีเดียวที่จะแน่ใจได้ว่าประชาชนจะได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่คือการใช้ยาหรือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับไวรัส ซึ่งขณะนี้การคิดค้นพัฒนายาและวัคซีนก็ได้มีความคืบหน้าแล้ว และคาดว่าจะมีวัคซีนที่ใช้ได้ในอีกหลายเดือนข้างหน้า

ในกรณีที่เราต้องการยกเลิกการล็อกดาวน์ก่อนที่จะมีวัคซีน เราต้องแน่ใจได้ว่ามียุทธศาสตร์ที่จะจำกัดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดรอบสองที่จะมีผลให้มีผู้เสียชีวิตมากขึ้น การระบาดรอบสองเกิดขึ้นมาแล้วในศตวรรษที่ผ่านมา เมื่อมีการระบาดใหญ่เกิดขึ้น 4 ครั้ง ซึ่งในบางกรณีมีผู้เสียชีวิตมากกว่าการระบาดรอบแรก

แนวทางหนึ่งที่ทำได้คือ ทำตามเมืองอู่ฮั่น ที่ยังใช้มาตรการระยะห่างทางกายภาพและปกป้องกลุ่มเปราะบาง หลังจากได้ยกเลิกข้อห้ามที่เข้มงวดที่สุดของมาตรการล็อกดาวน์ ในขณะเดียวกัน เรายังคงต้องติดตามสถานการณ์และคาดการณ์ด้วยการใช้แบบจำลอง เพื่อให้มั่นใจว่าจะตรวจจับการระบาดรอบสองได้เร็วที่สุดหากเกิดขึ้น และสามารถป้องกันการระบาดได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่ก่อนที่เราจะไปถึงจุดนั้น เราต้องแน่ใจได้ว่าเราได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดของการระบาดมาแล้ว และได้มีการตรวจทดสอบคนจำนวนมาก เพื่อแยกแยะและควบคุมผู้ติดเชื้อที่เหลือ และสำหรับหลายประเทศแล้ว อาจจะต้องใช้เวลาแม้ไม่ใช่หลายเดือนแต่ก็อีกหลายสัปดาห์

พื้นที่สีเขียวอาจจะเป็นคำตอบ

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะทางออกของการใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อเลี่ยงการกลับมาระบาดรอบสองและจำกัดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยหนึ่งในนั้นได้แก่รายงานการผลการศึกษา Exit strategy: from self-confinement to green zones ที่จัดทำโดย มิเกล โอลิว-บาร์ตอง ศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัย (Université Paris-Dauphine) แบรี ปราเดลสกี ศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จาก Oxford-Man Institute และลุก อัตเตีย นักคณิตศาสตร์จาก École Polytechnique ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มนักคณิตศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างแบบจำลองสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและจากการสุ่มตัวอย่าง

นักวิชาการกลุ่มนี้ได้นำเสนอผลการศึกษานี้ผ่านเว็บไซต์ The Conversation โดยระบุว่า ข้อเสนอแนะชิ้นนี้จัดทำขึ้นบนพื้นฐานสองปัจจัย ข้อแรกคือ การกำหนดพื้นที่สีเขียว ซึ่งหมายถึงพื้นที่นี้จะต้องมีระบบสุขอนามัย อัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อต่ำและสามารถจัดการกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ข้อสอง ค่อยขยายเพิ่มพื้นที่สีเขียวหลังจากมีปลอดภัยพอที่จะทำเช่นนั้นได้

โซนนิงแบ่งพื้นที่
รายงานระบุว่า เป้าหมายของมาตรการล็อกดาวน์คือ การแยกประชากรโลกออกเป็นเครือข่ายย่อยที่ไม่ได้เชื่อมต่อกัน เนื่องจากมีการจำกัดการเคลื่อนไหว แต่การแยกแบบนี้อาจจะไม่สมบูรณ์เสียทีเดียว

ในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นถิ่นที่พำนักของนักวิชาการทั้ง 3 รายได้มีการขอให้ประชาชนอยู่ภายในรัศมี 1 กิโลเมตรรอบบ้าน แม้มาตรการนี้ช่วยชะลอการระบาดอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไวรัสก็ยังเคลื่อนที่ไปได้ทั่วทั้งเครือข่าย ในตัวเมือง เช่น ปารีส คน 2 คนที่อยู่ห่างกัน 2 กิโลเมตร อาจจะไปร้านค้าเดียวกัน ดังนั้นทุกๆ คนที่อยู่ในเมืองที่มีรัศมี 10 กิโลเมตรนี้มีการเชื่อมต่อกันภายใน 5 ระดับของเครือข่ายย่อย

ดังนั้น แทนที่จะจำกัดการเคลื่อนที่สำหรับแต่ละบุคคลในรัศมีรอบตัวเหมือนในฝรั่งเศส นักวิชาการกลุ่มนี้ได้เสนอแนะว่า ถ้าคนได้รับอนุญาตให้เคลื่อนที่ได้ภายในพื้นที่ที่ไม่ได้เชื่อมต่อ เช่น เขตเทศบาล หรือเขตเมือง อาจจะได้ผลมากกว่า และจะเห็นได้ชัดว่า การแบ่งแบบนี้จะช่วยให้การจำกัดการเคลื่อนที่ระหว่างเมืองทำได้ง่ายกว่า การจำกัดการเคลื่อนที่ระหว่างเทศบาลในเมืองเดียว การแบ่งระหว่างบางโซนอาจจำเป็นต้องมีการบังคับใช้ตามกฎหมาย ขณะที่การแบ่งระหว่างพื้นที่อื่นๆ เป็นเพียงข้อเสนอแนะ ซึ่งแน่นอนว่านี่จะเป็นตัวอย่างของการควบคุมของรัฐในหลายประเทศ

การนำมาตรการแบ่งโซนหรือพื้นที่แบบนี้มาใช้ในหลายพื้นที่ในจีน ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะเมืองอู่ฮั่น ที่ลดการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่แต่ละแห่งและป้องกันไม่ให้ไวรัสเคลื่อนที่ไปทั่วเขตได้ อย่างไรก็ตาม ไม่มีความเป็นไปได้ที่จะตัดการเชื่อมต่อได้ร้อยเปอร์เซนต์ เนื่องจากแรงงานที่สำคัญยังต้องเดินทางไปทำงาน และประชาชนบางคนไม่สนใจที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ซึ่งการวิเคราะห์ของนักวิจัยกลุ่มนี้ได้นำปัจจัยเหล่านี้มารวมไว้ในการวิเคราะห์ด้วย

พื้นที่สีเขียว
การกำหนดพื้นที่สีเขียวจะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมตามปกติง่ายขึ้นหลังจากการควบคุมการระบาด และนักวิชาการได้เสนอแนวทางที่นักเศรษฐศาสตร์ชาวสเปน ฮวน มอนราส ได้เขียนบทความขึ้นเพื่อควบคุมกระบวนการและการระบาดรอบสองของไวรัสที่ส่วนหนึ่งอาจจะเลี่ยงไม่ได้ มอนราสเสนอว่า ขั้นแรกให้เปิดพื้นที่หนึ่ง ทำหน้าที่เป็นตลาดแรงงานท้องถิ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเดินทางภายในพื้นที่สูง แต่การเดินทางออกนอกพื้นที่น้อย

นักวิชาการกลุ่มนี้เสนอว่า แต่ละประเทศควรแบ่งพื้นที่ออกตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ หรือเป็นช่องๆ ที่มีคนอาศัยรวมกัน 5,000-100,000 คน และเพื่อจำกัดความเสียหายทางเศรษฐกิจ พื้นที่นี้ควรจัดเป็นพื้นที่ที่เดินทางได้ ดังนั้นพื้นที่นี้จะมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย

แต่ละช่องจะถูกกำหนดด้วยสีแดงหรือเขียว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดในขณะนั้น ในช่องสีแดงสถานการณ์อาจจะใกล้เคียงกับการล็อกดาวน์ ที่ต้องมีมาตรการด้านสุขอนามัย มีข้อจำกัดในการเปิดร้านค้า และมีข้อจำกัดในการออกนอกบ้าน นอกเหนือจากนี้ การที่จะออกจากพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้ ต้องมีใบอนุญาตหรือใบรับรอง แต่สงวนไว้กับคนที่ต้องออกไปทำงานสำคัญและสำหรับเหตุผลสำคัญอื่นๆ ในทางกลับกัน ในพื้นที่สีเขียว การกลับไปใช้ชีวิตตามปกติจะทำได้เร็วขึ้น

เมื่อลองพิจารณาเมืองเมืองหนึ่งที่มีคนอาศัยอยู่ราว 10,000 คนและคนส่วนใหญ่ทำงานกับโรงงานในพื้นที่ หรืองานอื่นภายในชุมชน เมื่อควบคุมการระบาดของไวรัสได้แล้ว ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกันหลายวัน (กำหนดจากการสุ่มตรวจตามที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล พอล โรเมอร์ เสนอแนะ) เมืองนี้ก็จะได้รับป้ายสีเขียว คนที่อยู่ในเมืองก็จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมและระบบเศรษฐกิจตามปกติภายในเมืองของตัวเองขณะที่ยังมีข้อจำกัดการเดินทางออกนอกเมือง

จากนั้นเมื่อผ่านพ้นราวหนึ่งสัปดาห์ การระบาดของไวรัสจะถูกจำกัดวงไว้ในพื้นที่สีเขียวหรือช่องเล็กๆ ที่ติดกัน และจะค่อยๆ เชื่อมต่อรวมเป็นพื้นที่สีเขียว ด้วยวิธีนี้พื้นที่สีเขียวที่ใหญ่ขึ้น ผู้คนสามารถไปร้านค้าแห่งเดียวกัน ไปทำงาน ไปสวนสาธารณะ และโรงเรียนได้

การกำหนดปัจจัยที่จะทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวและเวลาที่พื้นที่สีเขียวจะมารวมกันขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ และต้องหารือร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา และด้านเศรษฐกิจ ในบางกรณีอาจจะใช้สีเหลืองก็ได้ เพื่อที่จะย้ำให้เห็นว่ายังมีการบังคับใช้หลายข้อห้าม

การทดสอบและการแบ่งพื้นที่อาจจะไม่ใช่วิธีการที่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นพื้นที่สีเขียวบางแห่งอาจจะเกิดการติดเชื้อรอบใหม่ และต้องหยุดใช้สีเขียว เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น พื้นที่สีเขียวทั้งหมดอาจจะหายไป และต้องกลับไปอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ต้องล็อกดาวน์กันอีก

พื้นที่สีแดง เมื่อมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ก็จะทำให้มีการทดสอบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ และเมื่อพบการติดเชื้อในพื้นที่รอบๆ พื้นที่สีเขียวนี้จะมีการทบทวนเพื่อควบคุมไวรัส

พื้นที่สีเขียว หลังการสุ่มตรวจหลายวัน (14-28 วัน) ทุกพื้นที่กลายเป็นสีเขียว และ 7 วันหลังจากนั้นพื้นที่สีเขียวเล็กๆ จะรวมเป็นพื้นที่สีเขียวใหม่ และอีก 7 วันต่อมาพื้นที่สีเขียวจะขยายใหญ่ขึ้นอีก

ข้อดีของพื้นที่สีเขียว
กระบวนการรวมพื้นที่นี้อาจดูไม่น่าสนใจ เพราะแม้ขนาดของพื้นที่สีเขียวส่วนใหญ่จะขยายใหญ่ขึ้น แต่ก็อาจจะลดลงได้เป็นครั้งคราว แต่การศึกษาของนักวิชาการกลุ่มนี้บ่งชี้ว่า เมื่อความเป็นไปได้ของติดเชื้อรายใหม่ถูกควบคุม กระบวนการนี้จะช่วยให้การกลับไปใช้ชีวิตตามปกติเร็วขึ้นหลายเท่า และจากการทำแบบจำลองสถานการณ์ อังกฤษอาจจะรวมพื้นที่กันได้ภายใน 2-4 เดือน แต่นั่นหมายความว่ามาตรการด้านสาธารณสุข ความสะอาดความปลอดภัย ยังใช้บังคับและยังมีการทดสอบการติดเชื้อในวงกว้าง

การรวมตัวของพื้นที่สีเขียวต้องเป็นกระบวนการที่ต้องรอบคอบ แต่ก็มีประสิทธิภาพ ในบางกรณีแนวทางนี้อาจจะแบ่งแยกสังคมออกเป็นกลุ่มพื้นฐาน ก่อนที่จะกลับมารวมตัวกันเป็นสังคมกันอีกจากกลุ่มที่เหมือนกัน

การกำหนดพื้นที่สีเขียวจะช่วยให้การรวมพื้นที่เร็วขึ้น และมีผลเสียต่อสังคมและเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด เพราะสามารถเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ได้เร็วเท่าที่จะเป็นไปได้ และมีความเป็นไปได้ที่ประยุกต์ใช้พื้นที่สีเขียวให้สอดคล้องกับขีดความสามารถของแต่ละภูมิภาคในการบังคับใช้มาตรการอื่นๆ เช่น การทดสอบ การออกใบรับรองสุขภาพ หรือมีแนวปฏิบัติด้านสุขอนามัย

เพื่อให้การนำพื้นที่สีเขียวมาใช้ให้ได้ประโยชน์เต็มที่ จำเป็นที่จะต้องมีนโยบายสำคัญมารองรับ การกำหนดพื้นที่สีเขียวจะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ กฎเกณฑ์ที่ใช้กับแต่ละโซนต้องกำหนดให้ชัดเจน และที่สำคัญ ทุกมาตรการ รวมทั้งพื้นที่สีเขียว จะต้องได้รับการเห็นชอบจากประชาชน ซึ่งก็ไม่ง่ายนักที่จะได้รับการสนันสนุนจากประชาชน เพราะมีนโยบายสำคัญเข้ามาเกี่ยวข้อง

นักวิชาการกลุ่มนี้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องพิจารณาทางออก จากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นชี้ว่า พื้นที่สีเขียวจะเป็นทางออก และจากการที่พื้นที่สีเขียวรุดหน้าขยายใหญ่อย่างต่อเนื่อง เราก็จะสร้างสังคมและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจขึ้นใหม่ด้วยแนวทางที่มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเร็ว

SOURCE : www.thaipublica.org