ดูไบเผยแผนการก่อสร้างอาคารสำนักงานจากเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์แบบ 3 มิติที่ใช้งานได้จริงแห่งแรกของโลก นับเป็นความเคลื่อนไหวที่ทะเยอทะยานในการปูทางให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์รั้งตำแหน่งศูนย์กลางเทคโนโลยีของโลกในด้านสถาปัตยกรรมการก่อสร้างและออกแบบ

"อาคารดังกล่าวจะเป็นบทพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพและความคิดสร้างสรรค์จากเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ ซึ่งเราเชื่อว่าจะมีบทบาทที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงวงการก่อสร้างและการออกแบบ เราตั้งเป้าที่จะใช้ความได้เปรียบจากการเติบโตในด้านนี้ด้วยการเป็นศูนย์กลางระดับโลกด้านนวัตกรรมและการพิมพ์ 3 มิติ นี่เป็นก้าวแรกของก้าวต่อๆไป" ฯพณฯ โมฮัมเหม็ด อัล เจอร์กาวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการคณะรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กล่าวเนื่องในโอกาสดังกล่าว อาคารดังกล่าวจะตั้งอยู่ใกล้กับ "พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต" ซึ่งเปิดตัวไปก่อนหน้านี้ที่ดูไบ และจะทำหน้าที่เป็นสำนักงานใหญ่ชั่วคราวของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ ตัวอาคารจะมีขนาดประมาณ 2,000 ตารางฟุต แบบของตัวอาคารจะถูกพิมพ์ออกมาเป็นชั้นๆโดยใช้เครื่องพิมพ์แบบ 3 มิติ ความสูง 20 ฟุต และนำไปประกอบในสถานที่จริงโดยใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ ส่วนเฟอร์นิเจอร์ภายในทั้งหมด รายละเอียด และองค์ประกอบของโครงสร้างจะถูกพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์แบบ 3 มิติเช่นเดียวกัน ส่งผลให้อาคารดังกล่าวเป็นอาคารที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์แบบ 3 มิติทั้งอาคารที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน โครงการก่อสร้างอาคารจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติเป็นโครงการริเริ่มที่สำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตและเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างดูไบและ WinSun Global ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง WinSun บริษัทด้านเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติของจีนและนักลงทุนต่างประเทศ ตลอดทั้งบริษัทสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมชั้นนำระดับโลกอย่าง Gensler, Thornton Thomasetti และ Syska Hennessy
การออกแบบตัวอาคารอยู่บนพื้นฐานการวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับเงื่อนไขงานด้านการก่อสร้างในอนาคต และยังเป็นตัวแทนของแนวความคิดล่าสุดในด้านการออกแบบสถานที่ทำงาน พื้นที่อาคารแบบเปิดและยืดหยุ่นนี้ ช่วยให้สามารถใช้งานได้อย่างหลากหลาย รวมทั้งขนาดของทีมงานที่แตกต่างกัน และจะนำมาซึ่งมืออาชีพ สมาชิกในชุมชน และผู้เชี่ยวชาญผ่านทางการจัดงานของภาครัฐบาลและเอกชน นอกจากนี้ อาคารดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงการรังสรรค์แบบดิจิตอลที่มีขนาดเล็กและเป็นพื้นที่จัดแสดงการพิมพ์แบบ 3 มิติ โครงการดังกล่าวนับเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญของการเปลี่ยนโฉมวงการก่อสร้างและการออกแบบ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพิมพ์แบบ 3 มิติและการรังสรรค์แบบดิจิตอล ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีการทดสอบในห้องทดลองมาอย่างยาวนาน แต่เทคโนโลยีกำลังจะเข้าสู่ช่วงการเติบโตอย่างรวดเร็ว โครงการนี้จะเป็นโครงสร้างจากการพิมพ์แบบ 3 มิติที่ทันสมัยที่สุดในโลกในขนาดเดียวกัน และจะเป็นโครงการแรกที่ใช้งานได้จริง ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติสามารถร่นระยะเวลาการผลิตลงได้ 50-70% และลดต้นทุนแรงงานลงได้ 50-80% รวมทั้งสามารถลดปริมาณขยะจากการก่อสร้างลงได้ 30-60% การประหยัดดังกล่าวหมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น และความยั่งยืนเพิ่มขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.ryt9.com