นายกรัฐมนตรี ร่วมพิธีเปิดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ย้ำ ประชาชน คือ หัวใจของประชาคมอาเซียน เสียใจดินไหวเนปาล - หารือฮ่องกง ผลักดันความร่วมมือการค้า

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมภริยา ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 ณ ห้องเพลนนารี ฮอลล์ กัวลาลัมเปอร์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย จากนั้นได้เข้าร่วมการประชุมเต็มคณะพร้อมกับผู้นำอาเซียน 9 ชาติ และ นายเล เลือง มินห์ เลขาธิการอาเซียน โดยมีวาระการประชุมเกี่ยวกับ การจัดตั้งประชาคมอาเซียน วิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนภายหลังปี 2015 และทิศทางในอนาคต

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่ให้การต้อนรับอยางอบอุ่น รวมทั้งแสดงความเสียใจที่ได้ทราบข่าวเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเนปาล พร้อมย้ำถึงวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ภายหลังปี 2558 ว่า สำหรับประเทศไทย ประชาชน คือ ศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน ดังนั้นจะต้องมุ่งสร้างประชาคมที่ประชาชนทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่และมีความสุข ป้องกันไม่ให้ถูกกระทบจากภัยคุกคามต่าง ๆ และการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม

นอกจากนี้ ในช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีกับผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนโดยทั้งสองฝ่าย เห็นพ้องพร้อมผลักดันความร่วมมือโดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยให้ไทยเป็นประตูสู่อาเซียนและฮ่องกงเป็นประตูสู่จีนของไทย

นายกฯเสนอผลิตสินค้าแบรนด์อาเซียนเพิ่มมั่นคง

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณการรายงานกิจกรรมและผลดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน และเห็นว่า การดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เพื่อไปสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยไทยสนับสนุนให้ภาคเอกชนใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มที่ หากมีเรื่องใดที่จะช่วยให้การค้าและการลงทุนมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ขอให้ภาคเอกชนเสนอมา โดยตั้งข้อสังเกตใน 3 ประเด็นที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบด้วย

  • การลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี
  • สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME
  • ให้ความสำคัญกับการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค

นอกจากนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจและส่งเสริมภาพลักษณ์ของอาเซียน นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน พิจารณาพัฒนาตราสินค้าอาเซียน (ASEAN Brand) ในสาขาผลิตภัณฑ์ที่อาเซียนมีความเข้มแข็ง ตลอดจนขอให้ภาคธุรกิจอาเซียนมั่นใจว่ารัฐบาลไทยจะยังคงยึดมั่นต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ และจะให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ตลอดจนการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ การค้า ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ทั้งพหุภาคีและทวิภาคีต่อไป ให้โอกาสทุกประเทศในอาเซียนในฐานะเปรียบเสมือนครอบครัวเดียวกัน

ขอบคุณข้อมูล จาก : innnews.co.th