‘สมหมาย’ไม่ถอย!เข็นภาษีที่ดินหาเงินต่อซัดใช้งบแบบล้างผลาญมามากทำการคลังเสี่ยง “สมหมาย” เร่งสรุปภาษีที่ดินเพื่อชงเข้าที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปภาษีสัปดาห์นี้ ก่อนเปิดเวทีให้ภาคสังคม นักวิชาการซัก มั่นใจ เพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่นจาก 2 หมื่นล้านบาทเป็น 2 แสนล้านบาท ย้ำหากยังอยู่ในตำแหน่งรมว.คลัง ภาษีที่ดินต้องเกิดขึ้น เตือนถ้าไม่เร่งปฏิรูปภาษี ฐานะการคลังเสี่ยงเพราะใช้งบประมาณแบบล้างผลาญกันมามาก
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลังเปิดเผยว่าในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปภาษีหาข้อสรุปเพื่อให้มีความละเอียดและชัดเจนเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับสมบูรณ์ไม่มีการปรับแก้ไข จากนั้นจะส่งต่อให้ภาคสังคม นักวิชาการ ไปพิจารณาภาษีทั้ง 4 อัตรา คือ 1.ที่ดินเพื่อการเกษตร 2.ที่อยู่อาศัย 3.เพื่อการพาณิชย์ และ 4.ที่รกร้างว่างเปล่าว่าอัตราที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร “หากยังอยู่ในตำแหน่ง รมว.คลัง จะต้องมีการผลักดันให้ภาษีที่ดินเกิดขึ้นให้ได้ ที่ออกมาคัดค้านภาษีที่ดินทำให้เห็นว่าคนในสังคมสนใจแต่เรื่องส่วนตัว เป็นห่วงเฉพาะภาษีที่อยู่อาศัย ไม่ได้มองว่ารัฐบาลก็มีการจัดเก็บภาษีที่ใช้เชิงพาณิชย์ ที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งจัดเก็บในอัตราที่สูงเพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่มีที่ดินมากๆ นำออกมาใช้เพิ่มกระบวนการผลิต เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ก็ไม่มีใครพยายามทำความเข้าใจ จึงเป็นเรื่องน่าเศร้ามากที่คนส่วนใหญ่เห็นแก่ตัว คนชั้นกลางบางกลุ่มก็เห็นแก่ได้ และการชะลอภาษีที่ดินออกไปไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะไม่เอา และยังยืนยันว่ากฎหมายนี้จะจบก็ต่อเมื่อผมออกจากตำแหน่งแล้วเท่านั้น” นายสมหมาย กล่าว ทั้งนี้คาดว่าหลังใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยให้ศักยภาพการหารายได้ของประเทศดีขึ้น จากที่ขณะนี้ด้อยลงทุกวัน โดยหลังปรับโครงสร้างภาษีใหม่จะเริ่มใช้ปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรก คาดว่า จะสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นเพิ่มขึ้นจาก 2 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็น 2 แสนล้านบาทต่อปี โดยรายได้ส่วนนี้ไม่ได้เข้าส่วนกลาง ซึ่งหากไม่เดินหน้าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะทำให้รัฐบาลมีความเสี่ยงด้านการคลัง เนื่องจากที่ผ่านมามีการทำงบประมาณแบบขาดดุลมานาน และรัฐใช้งบประมาณแบบล้างผลาญมามาก “ถ้าไม่มีการปฏิรูปภาษี การคลังมีความเสี่ยงมานาน จะไปไม่รอด เพราะที่ผ่านมารัฐบาลต้องทำงบประมาณแบบขาดดุลมานานและล้างผลาญกันมามาก ในระยะต่อไปรัฐบาลก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีรายได้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ ก็ต้องมีการกู้เพิ่ม ทำงบขาดดุลต่อเนื่อง ดังนั้นไม่ควรชะล่าใจกับเพดานหนี้สาธารณะแม้ว่าวันนี้จะยังต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง” นายสมหมาย กล่าว รมว.คลังกล่าวว่า ภาษีที่ดินที่จะจัดเก็บสำหรับที่อยู่อาศัย ในหลักการต้องการให้ผู้ที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จากอัตราจัดเก็บจริงที่ 0.1% ของราคาประเมิน หรือเก็บล้านละ 1,000 บาท โดยในส่วนของ 0-2 ล้านบาทแรก ได้รับการลดหย่อน 75% หรือมีภาระเสียภาษี 25% ของภาษีที่คำนวณได้ จากอัตราเก็บจริง 0.1% หรือเสียภาษีล้านละ 250 บาทต่อปี หรือเท่ากับว่า 1 ล้านบาทแรกเสีย 250 บาทต่อปี และ 2 ล้านบาท เสีย 500 บาทต่อปี ส่วนมูลค่าเกิน 2-4 ล้านบาท มีภาระเสียภาษี 50% ของภาษีที่คำนวณได้ หรือเสียภาษีล้านละ 500 บาทต่อปี เท่ากับว่า 3 ล้านบาท เสีย 1,000 บาทต่อปี และ 4 ล้านบาท เสีย 1,500 บาทต่อปี ขณะที่มูลค่าสูงกว่า 4 ล้านบาท มีภาระเสีย 100% ของภาษีที่คำนวณได้ หรือเสียภาษีล้านละ 1,000 บาท เท่ากับว่า 5 ล้านบาท เสีย 2,500 บาทต่อปี 10 ล้านบาท เสีย 7,500 บาทต่อปี และ 20 ล้านบาท เสีย 17,500 บาทต่อปี

ขอบคุณข้อมูลจาก : naewna.com