ในปี 2557 ที่ผ่านมา คำว่า Digital Economy คือสิ่งที่รัฐบาลผลักดัน เพื่อหวังจะให้มีการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมา กลับให้ความสำคัญกับการแก้ไขกฎหมาย และชื่อกระทรวงไอซีที มากกว่าหรือไม่ และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายนี้ในปี 2558

นโยบายด้านเศรษฐกิจหนึ่งที่รัฐบาล คสช. ผลักดัน โดยหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี นั่นก็คือ Digital Economy หรือ นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล เศรษฐกิจที่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ โดยรัฐบาลได้มีการดำเนินการหลายอย่าง เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการเดินสายเสวนาของหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร และ นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ล่าสุดก็คือ การเปลี่ยนชื่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร หรือ ไอซีที เป็นกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เสนอให้ใช้ชื่อ กระทรวงเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอลแทน

ยังไม่รวมรายชื่อกฎหมายต่างๆ รวมทั้งการจัดทำพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่คาดว่าจะได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ในเดือนมีนาคม -เมษายน 2558และการจัดตั้งคณะกรรมการชั่วคราว เพื่อมาขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล ขณะที่ราชบัณฑิตยสถาน ไม่เห็นด้วยกับชื่อใหม่ของกระทรวงไอซีที เพราะเป็นการใช้คำทัพศัพท์ภาษาอังกฤษ จึงเสนอให้ใช้ชื่อ "กระทรวงนวเศรษฐการ" เพราะมีความหมายกว้าง และไม่เจาะจงเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศดิจิตอลเท่านั้น ดูเหมือนว่ารัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ กลับสนใจเรื่องของกฎหมาย ตั้งคณะกรรมการ หรือ การเปลี่ยนชื่อกระทรวง มากกว่าสนใจสิ่งที่จะสร้างการลงทุนเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศ มูลค่าทางเศรษฐกิจที่แท้จริง
ตัวอย่างหนึ่งคือ การที่ 3 ค่ายมือถือ เรียกร้องให้มีการจัดประมูลคลื่นความถี่ 4G ที่ คสช.ออกคำสั่งระงับการประมูล 1 ปี ว่าถึงเวลาที่ต้องลงทุนโทรคมนาคมของไทยเพิ่มเติมแล้ว รวมทั้งการปรับเปลี่ยนองค์กรของรัฐ เป็น E-goverment ทั้งระบบ และปรับความคิดของบุคลากรภาครัฐ เป็นสิ่งที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำมากนัก สถาบันอนาคตไทยศึกษา ตั้งข้อสังเกตถึงนโยบาย Digital Economy ที่จะต้องมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นหลัก ไม่ใช่แค่รับจ้างผลิตหรือประกอบสินค้า ไม่ใช่แค่การตั้งหน่วยงานใหม่ หรือ ปรับโครงสร้างองค์กร ไม่ใช่แค่จัดอบรมสัมมนาให้กับภาคเอกชน ที่ไม่แน่ใจว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ ความร่วมมือภาคเอกชนและวิชากรที่ให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจดิจิตอล บุคลากรด้าน IT ที่ไทยมีมากพอแล้ว แต่ต้องปรับปรุงคุณภาพ และการปรับปรุงกระบวนการของรัฐที่ให้เกิดผลจริง รวมทั้งต้องวัดผลได้ ขณะที่มุมมองภาคเอกชนด้านไอที มีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลและ คสช. จะผลักดัน Digital Economy ได้สำเร็จ เพราะนี่คือความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในรอบเกือบ 10 ปีของไทย สิ่งที่สำคัญกว่า นั่นคือ การทำให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบอินเตอร์เน็ต และสามารถที่จะใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งสามารถต่อยอดทางธุรกิจ เช่น E-Commerce หรือเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น และประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคมต่อประเทศ น่าจะเป็นหัวใจหลักของ Digital Economy ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ไม่ควรลืมจุดนี้ เพราะไม่อย่างนั้น Digital Economy ก็อาจเป็น "มโนอีโคโนมี" เหมือนที่หลายคนกำลังติดตามว่าปี 2558 จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

ขอบคุณข้อมูลจาก :

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มเติมได้ที่ : www.TerraBKK.com

Facebook : TerraBKK Facebook

Google+ : TerraBKK Google+

Twitter : TerraBKK Twitter