เดือนธันวาคมปีนี้คงจะเป็นที่จดจำของขาหุ้น และแมลงเม่าทั้งหลายกันเป็นแน่ เพราะไม่ใช่เรื่องธรรมดานักที่ภายในครึ่งเดือน นักลงทุนได้สัมผัสดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยที่จุดสูงสุดของปี และเกือบแตะจุดต่ำสุดของปี เพราะในช่วงต้นเดือนธันวาคม บรรยากาศการลงทุนคึกคักมากเป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ดัชนีแตะจุดสูงสุดของปีที่ 1,603.89 จุด จากการที่มีการเข้าซื้อกิจการของหุ้นเล็กหุ้นใหญ่ ทั้งในรูปแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก และปลาเล็กกินปลาใหญ่ หรือธุรกิจขนาดเล็กเข้าซื้อธุรกิจขนาดใหญ่กว่าเท่าตัว นอกจากนี้ยังมีเทรนด์สร้างเรื่องราวที่ขาดไม่ได้คือ การขยายธุรกิจไปทำพลังงานทดแทน ผลักราคาหุ้นพุ่งสูงลิบ ขณะที่หุ้นใหญ่ บูลชิพ ราคาวิ่งแรง จากการเก็งกำไรผลประโยชน์โครงการรัฐและคาดหวังกำลังซื้อในประเทศฟื้นล่วงหน้าจนหลายคนไม่กล้าเข้าไปลงทุน ขณะที่กองทุนหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) และอาร์เอ็มเอฟ กลับหงอยเหงามากเป็นพิเศษ เพราะเกือบทั้งปีมีเม็ดเงินเข้าระบบแค่กว่า 4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ผิดกับทุกปีที่จะทยอยไหลเข้าซื้อกองทุน แต่ปีหนี้กลับไม่มาตามนัด เพราะดัชนีท้ายปีแรงเกินกว่าต้านทาน ถ้าฝืนเข้าไปก็จะต้องรับที่ราคาแพง เพราะอัตราส่วนราคาต่อกำไร หรือพีอีสูงลิบถึง 18 เท่า ผลตอบแทนที่ได้รับคงไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
แต่ดูเหมือนโชคชะตาเป็นใจให้กับคนที่ยังไม่มีหรือมีหุ้นในพอร์ตไม่มาก และดีมากเป็นพิเศษกับบรรดานักลงทุนกองทุน แต่เป็นโชคร้ายและโศกนาฏกรรมของนักลงทุนที่มีหุ้นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องน้ำมัน เพราะหลังโอเปคมีมติไม่ลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี มาอยู่ที่ 59-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาการลงทุน เพราะนักลงทุนประเมินว่า ผลประกอบการบริษัทน้ำมันจะไม่เป็นไปตามคาด ร้ายที่สุดคืออาจขาดทุนหนักจากสต๊อกน้ำมันที่มีอยู่ ส่งผลให้ราคาหุ้นบริษัทน้ำมันซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีน้ำหนักต่อการคำนวณดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยมากที่สุด ร่วงแรงต่อเนื่องนานนับสัปดาห์ ฉุดดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยจากที่เคยแตะระดับสูงสุดกว่า 1,600 จุด ค่อยๆ ถอยลงทีละก้าว และยิ่งเป็นอัตราเร่ง เมื่อมีข่าวลือหนาหูเกี่ยวกับการปฏิวัติซ้อน หลังจากที่ก่อนหน้ามีข่าวการจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตขนาดใหญ่ ซึ่งผู้ต้องหาหลักถือหุ้นอยู่ในหลายบริษัท และยังมีหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด ที่ผู้บริหารถูกหมายจับจากข้อหา 112 ก็ลดลงมากเช่นกัน เมื่อรวมกับข่าวลือ "ส่งเดช" ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้คำนิยาม เป็นส่วนสำคัญที่ฉุดให้ดัชนีระหว่างวันของหุ้นไทยในวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ร่วงลงไปขนาดหนักถึง 138.96 จุด หรือลดลง 9.17% ไปแตะระดับที่ 1,345.99 จุด ก่อนมีแรงซื้อดันให้ปิดการซื้อขาย 1,478.49 จุด ลดลง 36.46 จุดหรือ 2.41% สร้างปรากฏการณ์แบล๊กมันเดย์ให้กับตลาดหุ้นไทย เพราะเหตุการณ์ในวันนั้นส่งผลให้มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการมากว่า 39 ปี ด้วยมูลค่าซื้อขายที่ 102,662 ล้านบาท จากปกติที่จะมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ราว 4-5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2557 ดัชนีก็ยังลูกผีลูกคนเคลื่อนไหวในแนวลบตลอดทั้งวัน ลงแรงสุดของวันที่ 1,422.63 จุด ลดลง 55.86 จุด หรือ 3.77% ก่อนมีแรงซื้อเข้ามาจากทั้งสถาบัน และรายย่อย ทำให้ปิดวันที่ 1,461.74 จุด ลดลง 16.75 จุดหรือ 1.13% รวมสองวันทำการช่วงหุ้นร่วงแรงรายย่อยสวมบทฮีโร่ เข้าซื้อสุทธิทั้ง 2 วันที่ 12,995 ล้านบาท ขณะที่สถาบันซื้อสุทธิ 4,842.24 ล้านบาท ส่วนต่างประเทศและบริษัทหลักทรัพย์เทขาย 5,265.66 ล้านบาทและ 12,571.59 ล้านบาทตามลำดับ หากดูสถิติการเทขายและเข้าซื้อของนักลงทุนประเภทต่างๆ แล้ว ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่า ตลาดหุ้นไทยปั่นป่วน เป็นเพราะนักลงทุนรายย่อยตื่นตระหนกกับข่าวลือ จริงหรือ ? บ้างว่ามีแรงเทขายจากกองทุนบริษัทหลักทรัพย์ที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นตัวตัดสินใจ เมื่อดัชนีหลุดเป้าหมายโปรแกรมจึงเลือกเทขายชนิดไม่เห็นฝุ่น บ้างว่ามี "ไอ้โม่ง" มาทุบหุ้น แต่ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ออกมายืนยันว่า ไม่มีขบวนการที่มีพฤติกรรมไอ้โม่ง อย่างที่มีคนตั้งข้อสงสัยแน่นอน โดย ตลท.ชี้แจงว่า "จากการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นวันที่ 15 ธันวาคม ไม่พบพฤติกรรมการซื้อขายผิดปกติ หรือทุบหุ้น เพื่อแสวงหาประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยกลุ่มผู้ลงทุนที่ขายหุ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงราคาหุ้นที่ลดลงต่ำสุด คือ ผู้ลงทุนต่างประเทศที่มีการปรับสถานะการลงทุนภายหลังราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ไม่พบผู้ลงทุนรายใดรายหนึ่งที่มีน้ำหนัก หรืออิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีในช่วงเวลาดังกล่าว" ข้ามฟากมาดูความแม่นยำ และการคาดการณ์ของบรรดาโบรกในบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ที่มองดัชนีสิ้นปี 2557 ไว้กรอบกว้างตั้งแต่ 1,390 จุด ไปจนถึง 1,760 จุด! บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด มองว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยจะแกว่งตัวในกรอบ 1,575-1,620 จุด โดยคาดว่าจะมีแรงหนุนตามการปรับตัวขึ้นของหุ้นขนาดใหญ่และขนาดกลาง ซึ่งจากสถิติจะสามารถปรับตัวได้ดีในเดือนธันวาคมของทุกปี ซึ่งในเดือนตุลาคม 2557 สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ได้สำรวจความคิดเห็นบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ จำนวน 24 บริษัท โดยเฉลี่ยโบรกมีความเห็นว่าสิ้นปีดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยสิ้นปี 2557 จะอยู่ที่ 1, 574 จุด ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นการปรับเพิ่มจากความคาดหวังเรื่องการลงทุนจากภาครัฐมาช่วยหนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยประเมินค่าเฉลี่ยจุดต่ำสุดช่วงปี 2557 ที่ 1,258 จุด และจุดสูงสุดช่วงปี 2557 ที่ 1,643 จุด ส่วนการคาดการณ์ดัชนีปี 2558 โบรกทั้ง 24 บริษัทประเมินว่า ดัชนีเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1,706 จุด บริษัทหลักทรัพย์ที่ประเมินดัชนีสิ้นปี 2557 ต่ำที่สุดคือบริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) มองต่ำสุดที่ 1,390 จุด ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี ประเมินสูงสุดที่ 1,760 จุด ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีใครประเมินเรื่องการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบ และข่าวลือต่างๆ ที่เกิดขึ้นท้ายปี หากอัพเดตความคิดเห็นนักวิเคราะห์และผู้ที่อยู่ในวงการตลาดทุน หลังเจอปัญหามรสุมต่างๆ แล้ว หลายคนยังคงเป้าเดิมมองสถานการณ์เป็นบวกที่ 1,600 จุด ขณะที่บางสำนักเลือกปรับเปลี่ยนเป้าหมายไปตามสถานการณ์ นำโดยบริษัทหลักทรัพย์ เอเชียพลัส จำกัด (มหาชน) ปรับเป้าปิดปี 2557 เหลือ1,503 จุด จากเดิมประเมินอยู่ที่ 1,520 จุด นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส ชี้แจงว่า เพราะการคำนวณดัชนีตลาดของเอเชียพลัสจะอ้างอิงจากระดับราคาปิดกำไรต่อหุ้น (พี/อี) และประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ประเมินว่าตลาดจะมีระดับพีอีที่ 17 เท่า หลังจากราคาน้ำมันโลกลดลง บริษัทจดทะเบียนไทยจะขาดทุนสต๊อกน้ำมันประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ปรับเป้าเช่นกัน จากเดิมประเมินที่ 1,600 จุด ปรับเหลือ 1,550-1,560 จุด โดยนายรักพงศ์ ไชยศุภรากุล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ ให้เหตุผลว่า เพราะดัชนีร่วงแรงและราคาน้ำมันปรับลดลง จึงจำเป็นต้องปรับมุมมอง และมองว่าหลังจากนี้ตลาดจะลดความผันผวนเพราะต่างชาติเริ่มหยุดทำการ ตลาดจะมีแรงหนุนจากกองทุนแอลทีเอฟจนมาปิดดัชนีได้ตามเป้าหมาย ด้านนายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด (บลจ.วรรณ) ให้ความเห็นว่า หลังจากที่ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงค่อนข้างแรงและเร็ว จากหลายปัจจัยทั้งในด้านการขายทำกำไรก่อนเข้าช่วงวันหยุดยาวสิ้นปี หลังจากที่ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นมาค่อนข้างมากแล้วในปีนี้และความกังวลจากกระแสข่าวลือต่างๆ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยเองก็ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนอีกค่อนข้างมาก จึงมองว่าเป็นเพียงการปรับตัวลดลงระยะสั้นเท่านั้น และตลาดหุ้นยังมีโอกาสปรับตัวต่อไปได้ โดยมองว่าในช่วงปลายปี 2557 ดัชนีฯ น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,550-1,600 จุด ส่วนนายชัยพร น้อมพิทักษ์ ผู้ช่วยกรรมการอำนวยการ สายงานวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน) คาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นระหว่างวันแตะระดับสูงสุดที่ 1,600 จุด อีกครั้งได้ภายในปี 2557 เนื่องจากราคาหุ้นกลุ่มพลังงานในปัจจุบันได้สะท้อนราคาน้ำมันไปพอสมควรแล้ว ประกอบขณะนี้ยังไร้ปัจจัยกดดันโดยตรงต่อตลาดหุ้นไทย ซึ่งการปรับตัวลดลงแรงในช่วงที่ผ่านมาเป็นเพียงการเปลี่ยนมือของนักลงทุนเพื่อถือต้นทุนที่ต่ำลง และแนะนำนักลงทุนเน้นน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มที่อ้างอิงกับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ อาทิ สื่อสารอาหาร และปิโตรเคมีเป็นหลัก หากผู้ที่ลงทุนตามปัจจัยพื้นฐาน ดัชนีหุ้นในระดับ 1,400 ปลายๆ ถึง 1,500 ต้นๆ คงมีหุ้นหลายตัวที่ราคาถูกรอให้ช้อปปิ้ง ขณะที่บางตัวแม้ดัชนีจะลงฮวบฮาบ แต่ถ้าเข้าไม่ทันช่วงที่ดัชนีลงแรงในวันที่ 15 ธันวาคม ถือว่าคุณได้ตกขบวนแล้วเหมือนกัน ส่วนดัชนีปิดปี 2557 จะเห็นว่านักวิเคราะห์ประเมินว่าหุ้นไทยจะยังอยู่ในแดน 1,500 จุด เพราะยังมีปัจจัยพื้นฐาน และผลประกอบการที่ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และอีกบางส่วนมองว่าหุ้นไทยจะทะยานกลับไปสู่จุดสูงสุดที่ 1,600 จุดอีกครั้ง ส่วนใครจะคาดการณ์ และ "คาดเดา" เก่งแค่ไหนนั้น ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ที่มา : นสพ.มติชน โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ