เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลคลายล็อกจนทำให้ประชาชน ธุรกิจหรือองค์กรต่างๆ กลับไปดำเนินได้ตามปกติ จึงเกิดประเด็นคำถามว่า การกลับมาทำงานที่ทำงาน กับการปรับให้พนักงานสามารถ Work from home ได้ แบบไหนจะเหมาะกว่ากัน?

ในช่วงที่สถานการณ์โควิดในไทยดูเหมือนจะดีขึ้น องค์กรรวมถึงสถาบันการศึกษาจำนวนมากก็ให้บุคลากรได้กลับมาทำงานและเรียนหนังสือกันแบบเดิมตามปกติ

แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีบางองค์กรและสถาบันการศึกษาที่ยังคงเน้นให้บุคลากร Work from home/anywhere รวมถึงการเรียนแบบออนไลน์อยู่ คำถามที่เกิดขึ้นคือถ้าตัดประเด็นโอกาสในการติดโควิดออกไปก่อน ระหว่างการกลับมาทำงานที่ทำงานแบบเดิมๆ กับการปรับให้พนักงานได้มีความยืดหยุ่นและสามารถ Work from home/anywhere ได้มากขึ้น แบบไหนจะเหมาะกว่ากัน?

ล่าสุดบริษัท Facebook ก็ได้ประกาศออกมาแล้วว่าจะให้พนักงานของตนเองสามารถเลือกที่จะ Work from home ได้จนถึงเดือน ก.ค.ปีหน้า ซึ่งก็เป็นนโยบายเดียวกันกับที่ Google ได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ แต่ของ Facebook มีความเด็ดกว่า ก็คือมีงบประมาณให้พนักงานคนละ 1,000 ดอลลาร์สำหรับการปรับปรุงบ้านของตนเองให้เหมาะสมกับความเป็น Home office

การให้พนักงานมีทางเลือกในสถานที่ทำงาน ดูเหมือนจะกลายเป็นแนวโน้มที่จะอยู่ไปอีกนานแม้กระทั่งเมื่อโควิดผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งประโยชน์ที่องค์กรได้รับนั้นไม่ใช่เพียงแค่การดูแลสุขภาพของพนักงาน หรือลดต้นทุนในการดำเนินงานเท่านั้น แต่เริ่มมีตัวเลขและสถิติที่ชี้ออกมาให้เห็นถึงประโยชน์ของ Work from home/anywhere ต่อความสุขและผลิตภาพของบุคลากร

มีเว็บแห่งหนึ่งที่รวบรวมสถิติและผลวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ Work from home/anywhere (WfH) ไว้ ซึ่งพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของพนักงานตามองค์กรต่างๆ มีความต้องการที่จะมีความยืดหยุ่นในการเลือกที่จะทำงานแบบ WfH

 

ขณะเดียวกันองค์กรที่มีนโยบายเกี่ยวกับ WfH ก็จะสามารถดึงดูดและรักษาพนักงานรุ่นใหม่ไว้ได้ มากกว่าร้อยละ 70 ของกลุ่มพนักงานที่ได้มีการสำรวจ ระบุถึงประโยชน์ต่างๆ ของการมีโอกาสเลือกในการทำงานแบบ WfH ไว้ ทั้งการมีความสุขในการทำงานเพิ่มขึ้น หรือจะทำให้กล้าที่จะแนะนำองค์กรของตนเองไปยังคนรุ่นใหม่ให้มาสมัครงานมากขึ้น รวมทั้งจะเป็นปัจจัยที่คนที่จะมาสมัครงานเลือกพิจารณาด้วย และทำให้ไม่อยากจะลาออกจากองค์กรที่ทำงานอยู่

นอกจากความสุขในการทำงานที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว การมีทางเลือกในการทำงานแบบ WfH ยังช่วยเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในการทำงานเพิ่มขึ้นด้วย โดยกว่าร้อยละ 70 ของพนักงานต่างระบุว่าตนเองมีผลิตภาพและสมาธิในการทำงานมากขึ้นเมื่อ WfH ขณะเดียวกันเกินกว่าร้อยละ 50 ระบุว่าเมื่อ WfH นั้นจะอู้หรือหยุดพักน้อยกว่าการทำงานในที่ทำงานแบบเดิม

ที่น่าสนใจคือถึงแม้หลายองค์กรจะมีนโยบายให้ Work from anywhere ได้ แต่กว่าร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสอบถามก็ยังต้องการที่จะทำงานที่บ้านมากกว่า

อย่างไรก็ดี เริ่มมีอีกมุมมองอีกด้านหนึ่งที่เริ่มวิจารณ์กันว่าการ WfH นั้นไม่ดีอย่างที่คิด โดยจุดอ่อนต่างๆ ของ WfH เริ่มปรากฏให้เห็นกันมากขึ้น โดยผู้ที่สนับสนุนมุมมองนี้มองว่าสาเหตุที่มีงานวิจัยที่พบว่าเมื่อ WfH แล้วผลิตภาพของพนักงานนั้นดีขึ้น ก็เนื่องมาจากในช่วงแรกๆ ที่สถานการณ์โควิดยังรุนแรงและอึมครึมอยู่ พนักงานต่างขยันขันแข็งและทำงานโดยทุ่มเทมากกว่าปกติ เนื่องจากความเกรงกลัวที่จะถูกปลดออกจากงาน

 

นอกจากนี้เริ่มมีเสียงบ่นมาจากผู้บริหารหลายๆ องค์กรว่าการ WfH นั้น ไม่เหมาะกับงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างบุคคลหรือหน่วยงาน รวมทั้งไม่เหมาะสำหรับงานที่ต้องอาศัยการสะท้อนไอเดียไปมาเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อีกทั้งบางองค์กรยังพบว่าเมื่อพนักงานกระจัดกระจายไปตามที่ต่างๆ นั้น ปัญหาที่ปกติอาจจะใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงในการแก้ไข (กรณีอยู่ในที่ทำงานร่วมกัน) ก็ใช้เวลามากขึ้น เนื่องจากขาดโอกาสที่จะมีปฏิสัมพันธ์ที่สามารถตอบโต้กันได้ตลอดเวลา

สรุปคือไม่ว่าหนทางใดก็มีข้อดีข้อเสีย ดังนั้นการใช้ WfH ตลอดไปหรือไม่นั้น ควรจะขึ้นอยู่กับธรรมชาติและวัฒนธรรมของแต่ละองค์กร และที่สำคัญคือจะต้องสามารถที่จะปรับให้เหมาะสมด้วย

 

SOURCE : www.bangkokbiznews.com