ผลการศึกษาล่าสุดชี้ โลกในปี 2643 จะมีประชากร 8.8 พันล้านคน ต่ำกว่าที่สหประชาชาติคาดการณ์เอาไว้ 2 พันล้านคน ขณะที่ประชากรไทยจะหายไปอย่างน้อย "ครึ่งหนึ่ง" การที่จำนวนประชากรวัยทำงานลดลง ส่งผลให้หลายประเทศต้องเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจ

ผลการศึกษาจากคณะนักวิจัยนานาชาติตีพิมพ์ในวารสารแลนเซ็ต วานนี้ (15 ก.ค.) พบว่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้ 183 จาก 195 ประเทศ จะมีประชากรเกิดใหม่ต่ำกว่าเกณฑ์ประชากรทดแทนที่จำเป็นในการคงระดับประชากรไว้ กว่า 20 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สเปน อิตาลี ไทย โปรตุเกส เกาหลีใต้ และโปแลนด์ จะมีจำนวนประชากรหายไปอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ประชากรจีนจะลดลงมากจาก 1.4 พันล้านคนในวันนี้ เหลือ 730 ล้านคนใน 80 ปี ขณะที่ภูมิภาคซับซาฮารา ประชากรจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าอยู่ที่ราว 3 พันล้านคน เฉพาะไนจีเรียประเทศเดียวเพิ่มเป็นเกือบ 800 ล้านคนในปี 2643 เป็นรองเฉพาะอินเดียที่มีประชากร 1.1 พันล้านคนเท่านั้น

“การคาดการณ์นี้บ่งบอกข่าวดีต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อระบบผลิตอาหารตึงตัวน้อยลง การปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลง ทั้งยังเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับหลายพื้นที่ภูมิภาคซับซาฮาราของแอฟริกา อย่างไรก็ตาม ประเทศส่วนใหญ่นอกแอฟริกาจะมีกำลังแรงงานลดลง ปิรามิดประชากรกลับหัว ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจตามมา” คริสโตเฟอร์ เมอร์เรย์ ผู้อำนวยการสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ (ไอเอชเอ็มอี) มหาวิทยาลัยวอชิงตันกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี

สำหรับประเทศรายได้สูงที่เข้าข่ายนี้ ทางออกที่ดีที่สุดในการคงระดับประชากรและการเติบโตทางเศรษฐกิจเอาไว้ จะต้องมีนโยบายเข้าเมืองที่ยืดหยุ่น และมีนโยบายสังคมสนับสนุนครอบครัวที่อยากมีลูก

“อย่างไรก็ตาม ในการเผชิญกับปัญหาประชากรลดลง เป็นอันตรายอย่างยิ่งที่ว่า บางประเทศอาจพิจารณานโยบายที่เข้มงวดกับการเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเกิดผลเสียหายใหญ่หลวง” เมอร์เรย์เตือน ขณะที่รายงานย้ำ “จำเป็นอย่างยิ่งที่วาระการพัฒนาของทุกรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงเป็นอันดับ 1” 

นอกจากนี้การมีประชากรสูงวัยจำนวนมากจำต้องยกเครื่องบริการทางสังคมและระบบดูแลสุขภาพด้วย

เมื่อการเจริญพันธุ์ลดและอายุคาดหวังเพิ่มขึ้นทั่วโลก จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี คาดว่าจะลดลงกว่า 40% จาก 681 ล้านคนในปี 2560 มาอยู่ที่ 401 ล้านคนในปี 2563 แต่อีกด้านหนึ่ง ประชากร 2.37 พันล้านคน หรือกว่า 1 ใน 4 ของประชากรโลกจะมีอายุไม่น้อยกว่า 65 ปี

ส่วนคนอายุเกิน 80 ปี จะเพิ่มขึ้นมาจากราว 140 ล้านคนในวันนี้เป็น 866 ล้านคน

การที่จำนวนและสัดส่วนของประชากรวัยทำงานลดลงฮวบฮาบยังเป็นความท้าทายใหญ่ในหลายประเทศ

สทีน เอมิล วอลเซ็ต อาจารย์จากไอเอชเอ็มอี เผยว่า สังคมต้องเติบโตให้ได้ด้วยจำนวนผู้ใช้แรงงานและผู้เสียภาษีน้อยลง 

ตัวอย่างเช่น ประชากรวัยทำงานในจีนจะดิ่งลงจากราว 950 คนในวันนี้เหลือแค่ 350 ล้านคนเศษภายในสิ้นศตวรรษ หรือลดลง 62% ส่วนอินเดียคาดว่าลดลงน้อยกว่า จาก 762 ล้านคนเหลือ 578 ล้านคน ตรงข้ามกับไนจีเรียกำลังแรงงานที่ใช้การได้จะขยายตัวจาก 86 ล้านคนตอนนี้เป็นกว่า 450 ล้านคนในปี 2643

นักวิจัยคาดว่า การเปลี่ยนแปลงแบบสะเทือนโลกนี้จะส่งผลถึงระเบียบโลกในแง่อิทธิพลทางเศรษฐกิจ

รายงานคาดการณ์ว่า ภายในปี 2593 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จีนจะแซงหน้าสหรัฐ แต่จะกลับมาอยู่ในอันดับ 2 ภายในปี 2643 จีดีพีอินเดียเพิ่มขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ขณะที่ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักรจะยังคงอยู่ใน 10 เขตเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก

บราซิลจะตกจากอันดับ 8 ในปัจจุบันไปอยู่อันดับ 13 และรัสเซียตกจากอันดับ 10 ไปอยู่ที่ 14 ส่วนมหาอำนาจในประวัติศาสตร์อย่างอิตาลีกับสเปน จากที่เคยอยู่ในกลุ่มท็อป 15 ตกไปอยู่ที่ 25 และ 28 ตามลำดับ

อินโดนีเซียจ่อก้าวขึ้นเป็นเขตเศรษฐกิจอันดับ 12 ของโลก ขณะที่ไนจีเรียตอนนี้อยู่ที่ 28 มีแววเข้ากลุ่มท็อปเทน

ริชาร์ด ฮอร์ตัน เผยว่า ผลการศึกษาชิ้นนี้ชี้ให้เห็นถึงอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน “ภายในสิ้นศตวรรษนี้ โลกจะมีหลายขั้วอำนาจ อินเดีย ไนจีเรีย จีน และสหรัฐเป็นมหาอำนาจครอบงำโลก”

นับจนถึงขณะนี้ สหประชาชาติ (ยูเอ็น) แทบจะผูกขาดการคาดการณ์จำนวนประชากรโลกแต่เพียงองค์กรเดียว ประเมินว่า ในปี 2573 ประชากรโลกจะอยู่ที่ 8.5 พันล้านคน ปี 2593 เพิ่มเป็น 9.7 พันล้านคน และ 1.09 หมื่นล้านคนในปี 2643

ตัวเลขที่แตกต่างกันระหว่างยูเอ็นกับไอเอชเอ็มอีขึ้นอยู่กับอัตราการเจริญพันธุ์ที่สำคัญยิ่ง เรียกกันว่า “อัตราทดแทน” ที่จะรักษาจำนวนประชากรไว้ให้เสถียร ผู้หญิง 1 คนต้องให้กำเนิดบุตร 2.1 คน

การคำนวณของยูเอ็นอนุมานว่า ประเทศที่ทุกวันนี้มีการเจริญพันธุ์ต่ำอัตราการเจริญพันธุ์จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ราว เด็ก 1.8 คนต่อผู้หญิง 1 คน

“การวิเคราะห์ของเราชี้ว่าเมื่อผู้หญิงมีการศึกษามากขึ้น และเข้าถึงบริการสุขอนามัยเจริญพันธุ์ พวกเธอเลือกมีลูกน้อย เฉลี่ยแล้วไม่ถึง 1.5 คนการเติบโตของประชากรโลกอย่างต่อเนื่องตลอดศตวรรษ ไม่น่าจะใช้คาดการณ์แนวโน้มได้อีกต่อไป” เมอร์เรย์กล่าว

สำหรับไอเอชเอ็มอี ก่อตั้งขึ้นในปี 2550 โดยการสนับสนุนของมูลนิธิบิลล์และเมอลินดา เกตส์ จัดทำสถิติด้านสาธารณสุขที่ทั่วโลกนำไปใช้อ้างอิง โดยเฉพาะรายงานภาระโรคระดับโลก

SOURCE : www.bangkokbiznews.com