สภาวะที่ตลาดการเงินมีความผันผวนสูง จากนโยบายการเงินแบบพิเศษของธนาคารกลางทั่วโลก ที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำไปอย่างน้อย 3-4 ปี รวมถึงความไม่แน่นอนสถานการณ์โควิด-19 หากเป็นไปในลักษณะนี้ นักลงทุนควรจะวางแผนลงทุนอย่างไร?

เศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญกับภาวะหดตัวจากผลกระทบการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกดำเนินมาตรการด้านการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยจนเข้าใกล้ศูนย์และดำเนินมาตรการ QE เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพทางการเงิน

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์โดยส่วนใหญ่ คาดว่ากว่าที่เศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตเท่ากับระดับก่อนเกิดโควิด-19 จะใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี นำไปสู่การคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะยังคงอยู่ในระดับต่ำไปอีก 2 ปีเช่นเดียวกัน

แต่หลังจากการประชุมสัมมนาวิชาการประจำปี 2563 ของธนาคารกลางสหรัฐ ที่จัดขึ้นที่เมือง Jackson Hole ในหัวข้อ “New Economic Challenges and the Fed’s Monetary Policy Review” มีการทบทวนกรอบนโยบายการเงินจากกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) เป็นกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ยแบบยืดหยุ่น (Average Inflation Targeting) ทำให้นักเศรษฐศาสตร์โดยส่วนใหญ่ปรับมุมมองใหม่ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำไปอย่างน้อย 3-4 ปี

อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะเวลาหนึ่ง ย่อมมีผลกระทบต่อสินทรัพย์ที่จะลงทุน ในฐานะนักลงทุนจึงต้องวางแผนการลงทุนและปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากสภาวะดอกเบี้ยต่ำ โดยการกระจายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets) หรือหลักทรัพย์ (Securities) หลายประเภทที่แตกต่างกัน เพื่อกระจายความเสี่ยงให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้ อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินหรือหลักทรัพย์ประเภทที่ให้ Yield Play ผลตอบแทนในรูปกระแสเงินสดสม่ำเสมอ และในอัตราที่สูงกว่า อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงพอสมควร ตัวอย่างของสินทรัพย์ประเภท Yield Play ได้แก่ หุ้นปันผลสูง ตราสารหนี้ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์

หุ้นปันผลสูง เป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอ แต่ต้องระมัดระวังสำหรับการลงทุนระยะสั้นเพราะในภาวะที่ตลาดมีความผันผวนราคาหุ้นอาจจะปรับลดลงและเกิดผลขาดทุนจากส่วนต่างราคาได้ โดยเฉพาะในสภาวะที่มีความไม่แน่นอนจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทางเศรษฐกิจและการเมือง เช่น การระบาดโควิด-19 รอบที่ 2 การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และปัญหาการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์

ตราสารหนี้ แบ่งเป็นภาครัฐและภาคเอกชน โดยนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยรับที่สม่ำเสมอ ในภาวะดอกเบี้ยขาลงควรเลือกลงทุนตราสารหนี้ระยะยาวมากกว่าระยะสั้น เนื่องจากราคาตราสารหนี้ระยะยาวจะปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าทำให้มีกำไรจากส่วนต่างของราคา (Capital gain) มากกว่า ตราสารหนี้เอกชนมักจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ภาครัฐอย่างไรก็ตามการลงทุนในตราสารหนี้เอกชนมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้สูงกว่า โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน ที่นักลงทุนจะได้ประโยชน์จากรายได้ของค่าเช่าหรือค่าบริการอย่างสม่ำเสมอ และสินทรัพย์ที่กองทุนรวมดังกล่าวลงทุนจะมีความทนทานต่อความผันผวนของเศรษฐกิจมากกว่าหุ้นสามัญ อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายในตลาดรอง ราคาจึงอาจผันผวนตามสภาวะตลาด และการลงทุนมีความเสี่ยงในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงซึ่งอาจจะกระทบต่อรายได้ของกองทุน

ทองคำ แม้ว่าจะไม่ใช่สินทรัพย์ประเภท Yield Play แต่อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน อาจจะนำไปสู่การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ดังนั้น ทองคำจึงเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ และในภาวะที่มีความไม่แน่นอน ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงและลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน

ในสภาวะที่ตลาดการเงินมีความผันผวนสูงจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษของธนาคารกลางทั่วโลก และยังมีความไม่แน่นอนจากโควิด-19 ดังนั้น นักลงทุนต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจและภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด ทำความเข้าใจสินทรัพย์ที่จะลงทุนเพื่อให้สอดคล้องความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยสามารถเลือกลงทุนผ่านบริษัทจัดการกองทุนที่มีความชำนาญและประสบการณ์ในการลงทุน โดยขอคำแนะนำผ่านผู้แนะนำการลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจลงทุน

SOURCE : www.bangkokbiznews.com