ทำความรู้จัก "รับจ้างทวงถามหนี้" กับบทลงโทษประเด็นต่างๆ ผ่านตัวบทกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีหากเจ้าหนี้จ้างให้ผู้ติดตามทวงถามหนี้ไปดำเนินการและเกิดการล่วงละเมิดต่อลูกหนี้ อาจทำให้ผู้จ้างและรับจ้างทวงหนี้ต้องรับผิดทั้งคู่

เจ้าหนี้ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา ที่เป็นเจ้าหนี้จากการให้กู้ยืมเงิน หรือเป็นเจ้าหนี้การค้าจากการประกอบกิจการ เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ก็อาจมีการดำเนินการทวงถามหนี้ โดยเจ้าหนี้ดำเนินการเองหรือจ้างให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลหรือนิติบุคคลผู้ประกอบอาชีพรับจ้างทวงถามหนี้ดำเนินการให้ก็ได้

ซึ่งเจ้าหนี้อาจจ้างให้ดำเนินการเพียงสืบหาที่อยู่หรือหลักแหล่งของลูกหนี้ว่าอยู่ที่ใด หรือสืบหาว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินอะไรบ้าง ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ที่ใด หรือจ้างให้เป็นผู้ติดตามทวงถามหนี้ก็ได้ การทวงถามหนี้ก็มีวิธีการที่นุ่มนวลไปจนถึงวิธีการที่แข็งกร้าวข่มขู่ด้วยวาจา จนถึงใช้กำลังประทุษร้ายก็มี

การทวงถามหนี้ของผู้รับจ้าง ถ้ามีการดำเนินการที่เป็นการล่วงละเมิดต่อลูกหนี้ ซึ่งนอกจากผู้รับจ้างทวงหนี้ต้องรับผิดโดยตรงแล้ว ผู้ว่าจ้างไม่ว่าเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เป็นสถาบันทางการเงินก็ต้องร่วมรับผิดด้วยในฐานะเป็นนายจ้าง ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ถือเป็นบรรทัดฐานได้ คือคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6543/2561 ที่วินิจฉัยไว้ คือ

จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของจำเลยที่ 3 ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากจำเลยที่ 4 (เป็นสถาบันการเงิน) ในการติดตามทวงถามหนี้กับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ได้โทรศัพท์มาทวงหนี้โจทก์และแจ้งเรื่องดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นในโรงเรียนทราบ อันไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 420

การที่จำเลยที่ 3 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ติดตามทวงถามหนี้จากโจทก์ อันเป็นกิจการที่จำเลยที่ 3 นายจ้างมอบให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างไปกระทำในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 3 จะอ้างว่าเหตุละเมิดเกิดเพราะจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคู่มือปฏิบัติงานของจำเลยที่ 3 อันเป็นเรื่องภายในของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่

เมื่อจำเลยที่ 1 ทวงหนี้โจทก์โดยจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำไปในทางการที่จ้างตาม ป.พ.พ.มาตรา 425 ส่วนจำเลยที่ 4 แม้สัญญาบริการเป็นสัญญาจ้างทำของ แต่สัญญาบริการดังกล่าวมีข้อตกลงในลักษณะจำเลยที่ 4 มอบหมายให้จำเลยที่ 3 ไปติดตามทวงถามหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ 4 แทนจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 3 ได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ 4 เป็นการตอบแทน จำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 จึงมีนิติสัมพันธ์กันในลักษณะจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 โดยปริยาย โดยมีบำเหน็จในส่วนที่เกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ 4 อยู่ด้วย

เมื่อจำเลยที่ 3 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ไปติดตามทวงถามหนี้จากโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 4 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 โดยปริยายในส่วนที่เกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ 4 เช่นกัน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 797 วรรคสอง และแม้สัญญาระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 มีข้อตกลงห้ามมิให้ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ทวงถามหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ 4 โดยวิธีการที่ผิดกฎหมายประการใดก็ตาม ก็ไม่อาจนำมาใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วยตามมาตรา 427 ประกอบ มาตรา 425

ในปี 2558 ได้มีการตราพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ออกใช้บังคับ มีจุดประสงค์เพื่อคุ้มครองลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา จากการทวงถามหนี้ด้วยถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิของบุคคล การคุกคามขู่เข็ญ การใช้กำลังประทุษร้าย การทำให้เสียชื่อเสียง และเพื่อให้มีกฎหมายการทวงควบคุมหนี้เป็นการเฉพาะ สาระสำคัญของกฎหายฉบับนี้คือ

ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้จะต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กำหนดข้อห้ามในการทวงหนี้ และกำหนดข้อปฏิบัติในการทวงหนี้ ผู้ฝ่าฝืนมี โทษทั้งทางปกครองและโทษทางอาญา

SOURCE : www.bangkokbiznews.com